นักวิจัย สวทช. เจ๋ง! คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย

          (24 พฤศจิกายน 2565) ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ: ดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าทีมวิจัย ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับรางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 34 หรือ The 34th Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference (TSB 2022) “Sustainable Bioeconomy: Challenges and Opportunities” จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาและจีโนไทป์สนิปประสิทธิภาพสูงเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรไทยและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยรางวัลดังกล่าวมอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนให้กับงานวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและมีผลงานโดดเด่น มีคุณภาพ ศักยภาพและสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

          ดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าทีมวิจัย ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม รวมถึงการเกษตร เช่น การใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลา ประหยัดแรงงานและทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจได้อย่างมาก โดยเดิมทีเครื่องหมายโมเลกุลที่ได้รับการพัฒนาและใช้งานเป็นหลักในประเทศไทย คือไมโครแซทเทลไลต์ (microsatellite) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ใช้กำลังคนสูง และใช้เวลานาน นอกจากนี้ความถี่ในการเกิดไมโครแซทเทลไลต์ในจีโนมพืชไม่สูงเท่าการเกิดเครื่องหมายโมเลกุลสนิป จึงเป็นที่มาของผลงานวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาและจีโนไทป์สนิปประสิทธิภาพสูงเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรไทยและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการที่สามารถค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลสนิปโดยไม่ขึ้นกับฐานข้อมูลลำดับเบสที่มีอยู่ (genotyping-by-sequencing, GBS) ส่งผลให้สามารถค้นหาสนิปได้จำนวนมาก ในระยะเวลารวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายไม่สูง เป็นเทคโนโลยีซึ่งทีมวิจัยจีโนมิกส์พัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย

          ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย เช่น การค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลสนิปที่สัมพันธ์กับความสูงของปาล์มน้ำมันเพื่อพัฒนาพันธุ์ปาล์มต้นเตี้ย การตรวจความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์อย่างรวดเร็วและแม่นยำในพืชตระกูลแตงซึ่งมีมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 193 ล้านบาทในระหว่างปี 2562-2564  นอกจากการใช้งานในเชิงพาณิชย์ยังมีการประยุกต์ใช้ในการศึกษาประชากรพันธุศาสตร์ เช่น การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนที่อยู่ในบัญชีแดง หรือการศึกษาประชากรพันธุศาสตร์ของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ละมั่ง เก้งหม้อ เหยี่ยว และพญาแร้งเพื่อการอนุรักษ์ รวมถึงการศึกษาในพืชสมุนไพรอย่างกระชายดำ บัวบก ขมิ้นชัน กัญชา กัญชงและกระท่อม ปัจจุบันนี้มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายแห่งหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้เทคโนโลยี GBS มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด และมีศักยภาพที่จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของสินค้าทางการเกษตรในระยะยาว รวมถึงการใช้งานในด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

 

 

About Author