สุเมธ กล่อมจิตเจริญ
ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (The United Nations General Assembly) ได้ประกาศให้วันที่ 4-10 ตุลาคมของทุกปี ให้เป็น “สัปดาห์เฉลิมฉลองอวกาศโลกหรือ World Space Week” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น โดยหน่วยงานด้านอวกาศ บริษัทด้านอวกาศ สถานศึกษา ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์ และชมรมดาราศาสตร์ทั่วโลก จะร่วมใจกันจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาด้านอวกาศในกรอบเวลาเดียวกัน ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจและเผยแพร่งานด้านอวกาศสู่สาธารณชนได้มากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ iNT มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับ
สำหรับการจัดงานสัปดาห์เฉลิมฉลองอวกาศโลกในปี พ.ศ. 2565 เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “อวกาศและความยั่งยืน” หรือ “Space & Sustainability” มุ่งเน้นการจัดการสู่ความยั่งยืนใน 2 มิติ คือการใช้ประโยชน์ของอวกาศต่อสังคมเพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนบนโลก และมิติของความท้าทายในการพัฒนากิจกรรมอวกาศและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลอดภัยและยั่งยืนในอนาคต โดยปีนี้มีหน่วยงานร่วมจัดงานสัปดาห์อวกาศโลกทั้งหมด 2,969 งานทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีการจัดงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ณ MaSHARES Co-Working Space MB มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) กลุ่มวิจัยชีววิทยาในอวกาศ ห้องปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เชี่ยวชาญองค์กรอวกาศระดับโลก ขานรับการวิจัยอวกาศเพื่อความยั่งยืน
ภายในงานมีบรรยายพิเศษโดย keynote speaker ที่มาจากองค์กรอวกาศระดับโลก 2 ท่าน คือ คุณทาเคฮิโระ นากามูระ (Takehiro Nakamura) ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) สำนักงานกรุงเทพฯ และ ศ. ดร.เบทานี เอลมันน์ (Prof. Dr. Bethany Ehlmann), Professor of Planetary Science, Associate Director of Keck Institute for Space Studies, California Institute of Technology
คุณนากามูระกล่าวว่า องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นมีเป้าหมายการทำงานในอนาคต โดยมุ่งเน้นงานวิจัย 2 หัวหลักที่สำคัญที่ คือ Space Exploration และการสำรวจปัญหาระดับโลก โดยใช้ Earth Observant Satellite ตัวอย่างเช่น การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และรวมไปถึง space debris removal ที่ตอบโจทย์การใช้พื้นที่อวกาศอย่างสันติ ซึ่งเป็นหัวข้องานวิจัยที่สอดรับต่อการพัฒนาโลกตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ (ดาวน์โหลดไฟล์ Presentation)
คุณทาเคฮิโระ นากามูระ ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ
ด้าน ศ. ดร.เอลมันน์ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการย้ายอารยธรรมมนุษย์ไปอยู่บนดาวอังคาร ซึ่งมนุษยชาติได้ทำการศึกษาธรณีวิทยาของดาวอังคารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงแผนภารกิจการสำรวจธรณีวิทยาของดาวอังคารที่กำลังทำอยู่ด้วยยาน Perseverance Rover โดยมีภารกิจหลักคือการหาร่องรอยของการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในอดีต, Biosignatures, สารประกอบคาร์บอน, หรือโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์ย้อนกลับไปถึงการวิวัฒนาการของดาวอังคารได้
ศ. ดร.เบทานี เอลมันน์ Professor of Planetary Science, California Institute of Technology
การบรรยายพิเศษของ keynote speaker ทั้งสองท่านได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านอวกาศระดับโลกที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทย และอาจเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นในการศึกษาวิจัยด้านอวกาศอีกด้วย
สำรวจกิจกรรมด้านอวกาศ สร้างโอกาสสานฝันเด็กและเยาวชนไทย
นอกจากนี้ในงานยังมีการพูดถึงกิจกรรมด้านอวกาศต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็มศึกษา และเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลรองรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยในอนาคต
กิจกรรมโครงการ Kibo-ABC โดย สวทช. กับ JAXA
คุณปริทัศน์ เทียนทอง นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น และหน่วยงานพันธมิตร จัดโครงการและกิจกรรมด้านอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้แนวคิดและสัมผัสการทำงานด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศ ซึ่งมีหลายโครงการที่น่าสนใจ ภายใต้โปรแกรมความร่วมมือ Kibo-ABC (Asian Beneficial Collaboration through “Kibo” Utilization) จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในสภาวะแรงโน้มต่ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ เช่น โครงการ Parabolic Flight รวมถึงโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) ซึ่งได้ร่วมกับ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดลองปลูกโหระพาเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตระหว่างบนพื้นโลกกับบนอวกาศ รวมถึงการเพาะต้นกล้าราชพฤกษ์โดยใช้เมล็ดที่ผ่านการเก็บรักษาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาตินานกว่า 6 เดือน (ดาวน์โหลดไฟล์ Presentation)
ANSYS โปรแกรมคอมพิวเตอร์ล้ำสมัย ช่วยจำลองสภาพแวดล้อมนอกโลก
ดร.ธนกร ศิริอักษร, Territory Manager จาก CADFEM SEA Thailand ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ multiphysics simulation solution โปรแกรมสร้างแบบจำลองทางดิจิทัลในคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้นักวิจัยใช้ประเมินงานวิจัยด้านอวกาศที่พัฒนาขึ้นว่ามีโอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก่อนนำไปสร้างเป็นต้นแบบจริง ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม ANSYS โดย NASA ในการสร้างแบบจำลองของโดรน Ingenuity สำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคาร ซึ่งตัวโปรแกรมสามารถจำลองสภาพแวดล้อมของดาวอังคารที่ไม่สามารถจำลองขึ้นได้บนโลกของเรา เพื่อจำลองว่าโดรนจะบินได้จริงในสภาพแวดล้อมที่ชั้นบรรยากาศมีความหนาแน่นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับโลก อีกทั้งยังได้กล่าวถึงการจำลองวงโคจรของดาวเทียมและความคงทนของโครงสร้างดาวเทียมด้วยโปรแกรม ANSYS แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างรูปแบบจำลองทางดิจิทัลในปัจจุบันที่ช่วยลดความเสี่ยงของงานวิจัยด้านอวกาศได้
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับทาง ANSYS สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานโปรแกรม สามารถเข้ามาใช้งานได้ที่ MaSHARES Co-Working Space MB มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
การใช้งานโปรแกรม ANSYS โดย NASA
ภาพจาก https://www.ansys.com/blog/first-flight-attempt-on-mars
ไม่เพียงแต่กิจกรรมอวกาศดี ๆ ที่มีมากมายแล้ว ภายในงานยังมีเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักวิจัยและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานวิจัยด้านอวกาศของประเทศไทย ที่มาร่วมนำเสนอทิศทางการพัฒนาการวิจัยด้านอวกาศของไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีการบรรยายพิเศษถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการพัฒนางานวิจัยด้านอวกาศ
Panel discussion
- รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล - ผศ. ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ผศ. ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - ผศ. ดร.น.ต. ปริญญา อนันตชัยศิลป์
กองวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและโยธา โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช - ศ. ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล - ดร. วิภู รุโจปการ
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
บรรยากาศเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
เปิดประสบการณ์เยาวชนไทยกับงานวิจัยและเทคโนโลยีอวกาศ
ในช่วงสุดท้ายของงานยังมีกิจกรรมดี ๆ คือ “Student Session” เป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์อวกาศรุ่นเยาว์ในประเทศไทย ได้มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวของจุดเริ่มต้นในการก้าวเข้ามาศึกษาในสายวิทยาศาสตร์อวกาศ รวมไปถึงมุมมองและประสบการณ์ในการทำงาน จนได้รับคัดเลือกหรือได้รับรางวัลจากการแข่งขันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการลงมือทำงานวิทยาศาสตร์อวกาศให้กับนักเรียนและนักศึกษา
ผลงานการออกแบบดาวเทียม MINERVA
กลุ่มนักศึกษากลุ่มแรกเป็นกลุ่มตัวแทนนักศึกษาปริญญาตรี จากกลุ่มวิจัยชีววิทยาอวกาศ ห้องปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีนางสาวธัญชนก ตั้งวัฒนศิริกุล นางสาวปีติมน อรุณวิริยะกิจ และนางสาวณพริน เสมอวงษ์ เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับผลงานการออกแบบดาวเทียม MINERVA ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการแข่งขันการประกวดดาวเทียม Mission Idea Contest ครั้งที่ 7 ณ ประเทศญี่ปุ่น และระบบผลิตพลาสติกชีวภาพจากคาร์บอนแบบอัตโนมัติ โดยทีม Gaia ซึ่งได้รับรางวัล Grand Prize จากการแข่งขันเดลตาคัป ครั้งที่ 8 ณ ประเทศจีน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีที่เพิ่มความเป็นไปได้ในการการตั้งถิ่นฐานที่ดาวอังคารของมนุษย์ในอนาคต
อุปกรณ์วัดรังสีคอสมิก ณ Mawson Station แอนตาร์กติกา
กลุ่มที่สอง นายประดิพัทธ์ เหมืองห้า ตัวแทนนักศึกษาปริญญาเอก จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “Measuring Cosmic Rays with Neutron Monitors” และเล่าประสบการณ์ในการร่วมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจปรับปรุงและดูแลอุปกรณ์วัดรังสีคอสมิก ที่ Mawson Station ณ แอนตาร์กติกา
แนวคิดการทดลองโครงการ Asian Try Zero-G 2022 เสนอโดยนางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ
กลุ่มที่สาม นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ ตัวแทนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้บรรยายถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ประสบการณ์ที่เข้าร่วมงานและการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์อวกาศต่าง ๆ รวมไปถึงผลงานข้อเสนอการทดลองที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดโครงการ Asian Try Zero-G 2022 ของ สวทช. ด้วยหัวข้อไอเดียการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อนำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติเรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Water Sphere Disturbance in Zero Gravity)”
การทดลองปลูกโหระพาเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตกับบนอวกาศ
กลุ่มที่สี่ประกอบไปด้วย นายปัณณทัต อรุณพัลลภ นายปฐวี จารุกิจขจร และนายธชย จารุวิศิษฏ์ ตัวแทนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้บรรยายเกี่ยวกับผลการทดลองปลูกโหระพาบนโลกเทียบผลกับการปลูกโหระพาบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งรายงานผลการทดลองได้รับการคัดเลือกจากการประกวด Asian Herb in Space ให้ได้รับรางวัลรายงานดีเด่น
การแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชีย
และกลุ่มสุดท้ายเป็นตัวแทนนักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ประกอบด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล และนายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ได้บรรยายเกี่ยวกับผลงานการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ซ่อมแซมสถานีอวกาศ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Achievement Onboard Award โดยยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายได้รับคะแนนสูงสุด ในการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชีย
อย่างไรก็ดี ในงานยังมีการจัดแสดงบูทนิทรรศการผลงานวิจัย นวัตกรรมด้านอวกาศ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA), สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี, โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา รวมไปถึงการนำเสนอผลงานวิจัยและโครงงานด้านอวกาศของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในรูปแบบโปสเตอร์อีกด้วย ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน และองค์กรผู้รับผิดชอบกิจกรรมด้านอวกาศในประเทศไทยที่สนับสนุนการจัดงานสัปดาห์อวกาศโลกขึ้นในปีนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในงานวิจัยด้านอวกาศของคนไทยที่สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ผ่านการจัดงาน World Space Week Thailand 2022
การรวมพลังของทุกหน่วยงานในการจัดงาน World Space Week Thailand 2022 นับเป็นเวทีที่ช่วยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลให้เยาวชนและประชาชนเห็นว่า “อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว” ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และคนไทยก็มีความสามารถในงานด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศในระดับโลกเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันการได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศทั้งในและต่างประเทศ จะมีส่วนช่วยในการสร้างเครือข่าย เชื่อมงานวิจัยและพัฒนาวงการอวกาศของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น