ชุดตรวจโรคกุ้ง XO-amp ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสี ตัวช่วยลดต้นทุนฟาร์มกุ้ง

เบญจา สุทธาโร
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


การระบาดของโรคขี้ขาว (Enterocytozoon hepatopenaei: EHP) โรคตายด่วน (early mortality syndrome: EMS) และโรคไวรัสตัวแดงดวงขาว (white spot syndrome virus: WSSV) ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งของประเทศไทย เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตของอุตสาหกรรมกุ้งไทยต่อเนื่องมาหลายปี การวินิจฉัยโรคดังกล่าวเพื่อป้องกันการระบาดต้องใช้เทคนิคการตรวจระดับดีเอ็นเอโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เครื่องมืออุปกรณ์ราคาสูง และระยะเวลาตรวจสอบนานพอสมควร ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทันท่วงที

ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด (IBST) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้นำเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบขั้นตอนเดียว colorimetric loop-mediated isothermal amplification พัฒนาเป็นชุดตรวจโรคกุ้ง XO-amp สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคขี้ขาว โรคตายด่วนในกุ้ง และโรคตัวแดงดวงขาว ซึ่งเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบขั้นตอนเดียวเป็นเทคนิคที่มีความไวและความจำเพาะสูงเทียบเท่าเทคนิคพีซีอาร์ (PCR) โดยเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมภายใต้สภาวะอุณหภูมิเดียวและตรวจสอบผลผ่านการดูสีของน้ำยาที่ปรากฏ ทำให้เกษตรกรใช้งานชุดตรวจโรคกุ้งนี้สะดวกและทราบผลได้รวดเร็วจากการอ่านสีน้ำยา

เอสพีเอ็น ฟาร์ม เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งในจังหวัดจันทบุรี ที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้งทั้ง 3 ชนิด และที่ผ่านมาอาศัยประสบการณ์การเลี้ยงแก้ปัญหาแต่ไม่สามารถจัดการได้ จนเมื่อปี พ.ศ.2565 ฟาร์มฯ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีชุดตรวจโรคกุ้ง XO-amp ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบขั้นตอนเดียว จากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับทีมวิจัย IBST และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เพื่อใช้ตรวจเฝ้าระวังและติดตามการเกิดโรค ฟาร์มฯ ได้ตัดสินใจลงทุนสร้างห้องทดสอบและอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยมีทีมวิจัย IBST ลงพื้นที่สาธิตและฝึกทักษะบุคลากรของฟาร์มฯ ตั้งแต่การเก็บตัวอย่างกุ้งเพื่อนำมาวิเคราะห์ทดสอบเชื้อก่อโรค การเตรียมตัวอย่างกุ้งเพื่อวิเคราะห์โรค การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ การอ่านและแปลผล การทำความสะอาดอุปกรณ์ การทำลายตัวอย่างกุ้งที่ติดโรคอย่างถูกวิธีเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อออกสู่บ่อเลี้ยง รวมถึงการออกแบบวางแผนการตรวจเพื่อเฝ้าระวัง ติดตามการระบาดของโรคกุ้ง

ฟาร์มฯ ใช้ชุดตรวจโรคกุ้ง XO-amp ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบขั้นตอนเดียวกับลูกกุ้งที่สั่งซื้อมา พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการฟาร์ม เช่น วิธีเลี้ยง การให้อาหาร พบว่า ผลการวิเคราะห์โรคถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้อัตราการรอดของกุ้งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้ผลผลิตกุ้ง 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมที่มีอัตรารอด 81 เปอร์เซ็นต์ ได้ผลผลิตเพียง 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้อมูลปี พ.ศ. 2565-2566) นอกจากนี้กรณีที่เกิดความเสียหาย ฟาร์มฯ ยังนำผลวิเคราะห์ไปขอรับชดเชยความเสียหายจากแหล่งเพาะพันธุ์ลูกกุ้งได้ทั้งหมด จากเดิมที่เคยได้รับชดเชยเพียง 50 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลที่ได้จากการใช้ชุดตรวจโรคกุ้ง XO-amp ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบขั้นตอนเดียว ช่วยให้ฟาร์มฯ บริหารจัดการบ่อเลี้ยงกุ้งได้ทันท่วงที โดยหากเกิดการระบาด ฟาร์มฯ ตัดสินใจล้างบ่อเลี้ยงทั้งหมดเพื่อลดความสูญเสียของต้นทุนการผลิตทั้งหมดได้

อย่างไรก็ดีการใช้ชุดตรวจโรคกุ้ง XO-amp ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบขั้นตอนเดียวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ผู้ประกอบการฟาร์มกุ้งต้องมีความพร้อมด้านสถานที่ใช้ทดสอบที่ปลอดโรค มีขอบเขตแยกจากพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง เจ้าหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ต้องผ่านการอบรมและฝึกปฏิบัติทางเทคนิคการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจากทีมวิจัย

เกษตรกรหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่สนใจเทคโนโลยีชุดตรวจโรคกุ้ง XO-amp ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบขั้นตอนเดียว ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ 0 2564 7000 อีเมล agritec@nstda.or.th หรือคุณลินดา อารีย์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. โทรศัพท์ 0 2564 6700 ต่อ 3301 หรืออีเมล linda.are@biotec.or.th

About Author