กว่าจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ “ยงยุทธ ยุทธวงศ์”

          เมื่อเอ่ยถึงชื่อของ “ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์” คงเปรียบได้กับ “แบรนด์เนม” ของสินค้าชั้นนำ ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย หรืออาจเปรียบในอีกทางหนึ่งที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์หน่อยได้ว่าเป็น “สัจนิรันดร์” ที่ไม่ต้องรับการพิสูจน์ใดๆ อีก เพราะเกียรติคุณของท่านต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย มีอยู่อย่างมากมายเกินจะกล่าวได้หมด จนมีผู้เปรียบไว้ว่า ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็น “เสาหลัก” ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติไทยก็ว่าได้

          อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักวิจัย และนักเทคโนโลยี ต่อสังคมไทย ยังเปรียบได้กับแดนสนธยาที่ขมุกขมัว เข้าถึงได้ยาก และไม่น่าพิสมัยนัก ทั้งนี้ อาจเป็นมายาคติที่ไม่ถูกต้อง และควรแก่การพิสูจน์ “สัจพจน์” นี้ว่าเป็นจริงหรือไม่!!?
      
          ดังนั้น เมื่อเวลาและโอกาสเป็นใจ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” จึงถือโอกาสนี้ พูดคุยกับ ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ในฐานะลูกศิษย์นอกห้องเรียน เพื่อเรียนถามถึงความเป็นมาของการมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่าน รวมถึงฉายมุมมองของ “นักวิทยาศาสตร์” ว่าจริงๆ แล้ว เขาเป็นอย่างไรกัน?

กว่าจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ “ยงยุทธ ยุทธวงศ์”
      
          ด้วยบุคลิกที่ดูใจดี เข้าถึงง่าย และมักจะเปลี่ยนเรื่องยากๆ ทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่ายในบัดดล ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาและนักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าที่มาที่ไปของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ให้ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” รับฟังอย่างเป็นกันเองว่า เป็นเพราะตัวเองมีความสนใจในด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยมีวิชาโปรดอย่างชีววิทยาเป็นตัวจุดประกาย แถมยังได้แรงหนุนสำคัญจาก ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ผันแปรชีวิตไปตลอดกาล
      
          ทั้งนี้ จะเป็นเรื่องที่ตอนเด็กๆ จะคล้ายกับเด็กทุกคน ที่ไม่แน่ใจว่ารู้สึกชอบอะไรหรือชอบทางไหน แต่ก็มีกระแสของสังคมที่คนเรียนเก่งจะไปเป็นหมอ เป็นวิศวกร เหมือนสมัยนี้ กระนั้น สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ ความหลงใหลในความจริงของธรรมชาติ ที่เชื่อว่า มนุษย์จะสามารถล้วงหาความจริงจากมันได้
      
          “ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะประกอบอาชีพอะไร แต่ชอบทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็เป็นห่วงว่าถ้าไปเรียนวิศวะฯ จะอดเรียนชีววิทยา จำได้ว่า ผมเขียนบันทึกไว้ว่าอยากเรียนวิศวะฯ เพราะเรียนคำนวณเก่ง ฟิสิกส์ก็ชอบ แต่กลัวอดเรียนชีววิทยาซึ่งเป็นวิชาที่ชอบ หรือถ้าไปเรียนแพทย์ ผมก็เป็นห่วงเพราะผมไม่ได้อยากรักษาพยาบาลผู้คนเท่าไรนัก แต่ในที่สุดก็ไปเรียนแพทย์ตามกระแส ตอนนั้นสามารถเลือกเข้าได้หลายมหาวิทยาลัย แต่ก็เลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะใหม่ มี ศ.ดร.สตางค์ เป็นคณบดี ซึ่งตอนนั้นถ้าเรียนจบแล้วก็เรียกว่าเป็นเตรียมแพทย์ ก็จะสามารถเรียนแพทย์ศิริราช หรือแพทย์จุฬาฯ ได้เลย เพราะมีโควต้าให้เข้าได้”
      
          แต่ในที่สุด ศ. ดร.ยงยุทธ ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตก็ได้รับคำแนะนำจาก ศ.ดร.สตางค์ ว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกสนาน โดย ศ.ดร.สตางค์ ได้สอนให้เห็นด้วยการทำงานของท่านเองที่มีความสุข ทำให้คิดได้และตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา
      
          “แต่ก็มีทุนให้ไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน เป็นครั้งแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีคุณลุงของผมคือ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น ก็คิดจะไปสอบ แต่มาคิดดูแล้ว คุณลุงของผมท่านเก่งเหลือเกิน ผมไม่มีทางจะไปทำอะไรทางนั้นที่มีน้ำหนักเท่าคุณลุงของผมได้ คุณลุงของผมเป็นมาตรฐานทองคำสำหรับผม ผมก็น่าจะหาทางของผมเอง แล้ววิทยาศาสตร์ก็สนุกเหลือเกิน” เจ้าของเสียงเครือๆ แต่ชัดเจน กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเมื่อเล่าย้อนความหลัง
      
          “มันเป็นแรงเล็กๆ หลายๆ อัน ซึ่งเมื่อ 40 ปีก่อน วิทยาศาสตร์กำลังพุ่งขึ้นแรง จอห์น เอฟ. เคนเนดี เพิ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วก็ประกาศว่าจะไปครองดวงจันทร์ให้ได้ และความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ก็มาแรงมาก เช่น ทีวีก็เพิ่งมีทีวีสี แข่งกันส่งดาวเทียมไปนอกโลก มีระบบปรับอากาศในรถยนต์ อะไรทำนองนี้ วิทยาศาสตร์ทำอะไรได้ทุกอย่าง เราก็อยากมีส่วนร่วม มันเป็นบรรยากาศของความคึกคักมาก แล้วเราก็เห็นว่า วิทยาศาสตร์เมืองไทยยังไม่ค่อยดี เราก็อยากมีโอกาสเข้าไปช่วย”
      
          เมื่อกล่าวถึงการสนับสนุนจากทางบ้าน ศ.ดร.ยงยุทธ นักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนที่มาลาเรียสร้างขึ้น ทำให้สามารถออกแบบและสังเคราะห์ยาใหม่ที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยา เล่าว่า เนื่องจาก พอ.สรรค์ ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก จึงไม่มีบทบาทต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านแต่อย่างใด ส่วนนางระเบียบ ยุทธวงศ์ ผู้เป็นมารดา ก็ให้อิสระในการเลือกเรียนได้เต็มที่ ดร.ป๋วย ผู้เป็นลุง จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อท่านมากที่สุด และให้การสนับสนุนมาโดยตลอด
      
          “แต่ที่เป็นหมัดเด็ดตรงนี้คือ ศ. ดร.สตางค์ !!! นี่ร้ายเลย (หัวเราะ) คือทราบว่า คุณลุงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตผมมาก จึงไปหาคุณลุงของผม แล้วก็บอกว่า คนนี้ให้เรียนวิทยาศาสตร์เถอะ คุณลุงเป็นคนที่ตามใจผมอยู่แล้ว ก็ได้ผ่านมาทางครอบครัวผมว่าให้ไปเรียนวิทยาศาสตร์เถอะ จะได้รับการสนับสนุนอย่างดี ก็กลายเป็นว่าผู้ใหญ่ให้โอกาส และตัวเองก็มีแนวโน้มอยู่แล้ว”
      
          ต่อมา เมื่อได้ทุนไปเรียนชีววิทยาเคมี ยังมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ศ.ดร.ยงยุทธ เล่าว่า ทีแรก รู้สึกตกใจ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้เรียนชีววิทยาเหมือนดังที่คาดไว้ จึงใช้วิธีเรียนด้วยตัวเอง และอ่านเอาเอง โดยเฉพาะสมัยนั้นเป็นยุคของการเกิดเทคโนโลยีชีวภาพปัจจุบัน แต่ยังเป็นวิทยาศาสตร์ที่ผสมระหว่างชีววิทยากับเคมีอยู่ ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อเรียนจบปริญญาตรีด้านนี้แล้ว จึงเลือกเรียนต่อปริญญาเอกด้านเอนไซม์ ณ มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด จนได้ปริญญามาฝากทางบ้านอีกใบ โดยเมื่อกลับมายังประเทศไทยแล้ว ได้เป็นอาจารย์เอก ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับโปรดเกล้าให้เป็นศาสตราจารย์ขณะอายุได้ 39 ปี
      
          ทั้งนี้ ศ. ดร. ยงยุทธ ยังเป็นแกนหลักในการก่อตั้งระบบการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จนมีการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ในปี 2522 และมีการจัดตั้งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เมื่อปี 2526 ฯลฯ อีกทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยสังเกตได้จากรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ อาทิ รางวัล ASEAN Science and Technology Meritorious Service Award จากองค์การอาเซียนในปี 2541 และรางวัล Nikkei Asia Prize for Science, Technology and Innovation จาก Nihon Keizai Shimbun ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2547 โดยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 109 เรื่อง เขียนหนังสือ-ตำรา 11 เรื่อง และสิทธิบัตร 3 เรื่อง
      
อยากพัฒนายาต้านมาลาเรียให้เป็นรูปเป็นร่าง ในฐานะ “เสนาธิการในกระโจม”
      
          ศ. ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงการใช้ชีวิตอย่าง “นักวิทยาศาสตร์” ว่า วิทยาศาสตร์ทำให้เป็นคนมีความคิดความอ่าน รวมทั้งปรัชญาชีวิต และเรื่องราวต่างๆ มากมาย ซึ่งแม้จะไม่ถึงกับเป็นศาสนา แต่ก็ทำให้มีจุดยืนในชีวิต เข้าใจว่าสิ่งต่างๆ มันมีความสลับซับซ้อนอย่างไร และที่มาของสิ่งต่างๆ เป็นอย่างไร
      
          “ที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรในการดำเนินชีวิต เราก็คิดหาทางแก้ได้ โดยเรามีความเชื่อมั่นว่า ปัญหาต่างๆ มันสามารถวิเคราะห์ แยกแยะ และสามารถแก้ไขได้ ในแง่นี้ จริงๆ แล้วคล้ายมากกับพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาไปไกลกว่าวิทยาศาสตร์มาก และไปถึงความเชื่อในโชคชะตาต่างๆ ของมนุษย์ด้วย แต่ในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน วิธีการที่เรามองโลก มองมนุษย์ มองสังคม เราเข้าใจอย่างไร วิทยาศาสตร์จะทำให้เรามีเหตุมีผล”
      
          “มันมีส่วนเหมือนๆ กัน ไม่เฉพาะไอสไตน์ที่พูด แต่มีหลายๆ คนที่พูด ที่เป็นคนไทยก็เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งท่านก็พูดเรื่องนี้เยอะ และพูดเกินกว่านี้หน่อยคือ มันมีส่วนเหมือนและก็มีส่วนต่าง พระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงความดีและความงามด้วย หรือเรื่องอะไรที่ไปไกลเกินกว่าจะสังเกตหรือทดลองได้ วิทยาศาสตร์ก็จะไม่ทำอะไร ให้ไปคิดกันเอง”
      
          สำหรับเป้าหมายในชีวิตที่อยากทำต่อไป ศ. ดร.ยงยุทธ เผยว่า เป้าหมายสำคัญในขณะนี้คือ การสานต่องานวิจัยการพัฒนายามาลาเรียที่ทำมานาน 20-30 ปีแล้ว โดยอยากเห็นการพัฒนายาต้านมาลาเรียออกมาได้จริงๆ “ยาเป็นเม็ดๆ คนเอาไปกินแล้วแก้มาลาเรีย หรือป้องกันมาลาเรียได้จริงๆ”
      
          ในส่วนนี้ อดีตผู้อำนวยการคนแรกของ สวทช. เผยด้วยว่า ปัจจุบัน งานวิจัยในเรื่องนี้มีส่วนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้มาก โดยได้รับการสนับสนุนในโครงการ Medicines for Malaria Venture (MMV) จากมูลนิธิบิลล์ เกตส์ (Bill Gates) ให้ทำวิจัยร่วมกับทีมนักวิจัยออสเตรเลียและเยอรมนี “ตอนนี้เราก็ไปได้ไกลมากๆ แล้ว มียาที่มีแวว ซึ่งต่อไปอาจจะเป็นจริงได้ ไม่ต้องรออีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้ลงแล็บฯ ด้วยตัวเองมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่โชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานเก่งๆ มากมาย ร่วม 20 กว่าคนที่ศูนย์ไบโอเทค ซึ่งมีอายุเพียงอายุ 20-30 กว่าเท่านั้น”
      
          “เพราะฉะนั้น เขาจะมีไฟแรงมาก แล้วก็เก่ง เก่งกว่าผม ผมบอกเขาว่า ผมอาจจะเป็นครูของคุณ แล้วก็สอนคุณได้ในเรื่องกว้างๆ ปัญหาใหญ่ๆ แต่ว่าเรื่องเทคนิค เรื่องใหม่ๆ พวกนี้เขาไปเร็วมาก เขาจะเป็นคนสอนผม ตอนนี้เราเป็นครูและศิษย์ซึ่งกันและกัน คนที่เคยเป็นศิษย์ก็กลับมาเป็นครู เหมือนกับสนามรบอยู่ตรงหน้า เขาเป็นผู้รบ ผมอยู่ในเต็นท์วางแผนเป็นเสนาธิการ ดังนั้น เมื่อมีข่าวอะไรในสนามรบ เขาต้องมาบอกผม ซึ่งตรงนี้เราทำงานเป็นทีม” ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจในตัวลูกศิษย์ก้นกุฏิ
      
นักวิทยาศาสตร์คือคนธรรมดาๆ ต้องซื่อตรงต่ออาชีพ และไม่ร่ำรวย
      
          จากนั้น เมื่อกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์ในนิยามของ ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ว่าเป็นอย่างไร ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า คนทั่วไปมักคิดภาพเป็นภาพการ์ตูนในนิยายวิทยาศาสตร์ว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องหัวฟูๆ วันๆ ไม่ทำอะไร ไม่ส่องกระจกเลย หนวดเคราไม่โกน ถือหลอดทดลองมีควันพุ่งออกมา แล้วตะโกน “ฮ่าๆๆ ทำสำเร็จแล้ว” อะไรทำนองนี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพไม่จริง ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จริงๆ แล้วก็คือคน “ธรรมด๊า…ธรรมดา” ทั่วไปที่อาจช่างคิดสักหน่อย บางทีอาจตกอยู่ในเรื่องของเขาเอง เพราะเรื่องที่เขาคิดต้องใช้สมาธิสูง แต่ก็เป็นคนธรรมดาที่มีรัก โลภ โกรธ หลง แต่ก็มีลักษณะพิเศษ คือ ช่างถาม ทำให้คนจะรู้สึกรำคาญ อีกทั้งเป็นคนที่ไม่ค่อยยอมรับอะไรง่ายๆ ต้องซัก ต้องตั้งคำถาม ปฏิเสธไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นเช่นนี้ได้จริงๆ ถึงจะยอมรับ แล้วก็พยายามหาทางทำให้มันดีขึ้นด้วย
      
          “โดยส่วนตัว ผมก็เป็นนักวิทยาศาสตร์คล้ายๆ กับที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นคนธรรมดามีรัก โลภ โกรธ หลง แต่พยายามเตือนสติตัวเอง พยายามทำอะไรอย่างดีที่สุด บางทีก็ต้องเตือนนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน เพราะผมคิดว่ามันสำคัญมากที่เราจะต้องซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่ออาชีพ ผมเห็นนักวิทยาศาสตร์หลายคน พอเรียนจบปริญญาเอก ก็คิดว่านี่คือสุดทางของวิทยาศาสตร์แล้ว ทำงานสักพักก็ไม่ซื่อตรงกับอาชีพ ไปทำอย่างอื่นหมดเลย แต่บางคนทำบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะถือเป็นฐานการประกอบอาชีพ แต่ถ้าทุกคนทำอย่างนั้นหมด วิทยาศาสตร์ก็อยู่ไม่ได้ จึงขอให้มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพตัวเองเท่าที่จะทำได้”
      
          “วิทยาศาสตร์มันไม่สามารถทำให้เรามีเงินมีทองมากนักหรอก ไม่ได้เป็นอาชีพที่ทำให้ร่ำรวย ไม่เหมือนนักธุรกิจ แต่มีสิ่งตอบแทนที่เหนือเกินสิ่งเหล่านั้น คือ ความพึงพอใจและความสนุกกับงาน ความตื่นเต้นกับผลงานที่ได้ หรือแม้แต่การตั้งคำถามที่ถูกต้อง ซึ่งหากเรารู้ว่ามันถูกต้อง ก็ถือเป็นรางวัลอย่างหนึ่ง” นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2527 กล่าวสำทับหนักแน่น
      
          พร้อมกันนี้ ศ. ดร.ยงยุทธ ยกตัวอย่างว่า ท่านเคยพูดคุยกับเพื่อนนักวิจัยคนหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่ารู้สึกแปลกใจมาก ที่มีคนมาให้เงินเดือน ทั้งที่เขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ แม้ไม่ให้เงิน เขาก็ทำอยู่แล้ว แต่ยังมีคนมาให้เงินเดือนอีก จึงรู้สึกขอบคุณสังคม และขอบคุณมหาวิทยาลัยมาก แต่ตัว ศ.ดร.ยงยุทธ เองจะอยู่ตรงกลางๆ คือบอกว่าเขาอุตส่าห์ให้ แต่ให้น้อยไปหน่อย (หัวเราะ)
      
          อนึ่ง กล่าวกันว่าในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ มักมีความล้มเหลวผิดหวังเป็นอาจิณ กลับกันกับความสำเร็จที่หาได้ยากยิ่ง หลายครั้งที่ได้มีโอกาสพานพบและพูดคุยกับ ศ.ดร.ยงยุทธ ก็จะได้พบกับบุคลิกที่ให้อิสระและไม่คาดหวังกับเรื่องต่างๆ จนเกินไป ซึ่งได้รับการเปิดเผยจากเจ้าตัวว่า ในการใช้ชีวิตต้องมีการคาดหวังบ้าง แต่คาดหวังเงียบๆ ไม่เอามาตรฐานตัวเองไปครอบคนอื่น อย่างในวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน ที่ต้องวางแผน ต้องคาดหวังว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ก็เตรียมพร้อมกับความผิดหวังไว้เสมอๆ
      
          “ส่วนใหญ่แล้ว ผมจะบอกกับลูกศิษย์ว่า การทดลอง 10 ครั้ง เราจะประสบความสำเร็จสักครั้ง หรือบางทีไม่ได้สักครั้ง แต่ก็เพียงพอกับความล้มเหลวอีก 9 ครั้งแล้ว ก็ไม่เป็นไร ครอบครัวก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ครอบครัวทำหรือเราทำก็มีผิดบ้าง มีถูกบ้าง เราก็ทำให้ดีที่สุด เมื่อมีความผิดหวังก็พยายามแก้ไข”
      
เทคโนโลยีชีวภาพคือจุดแข็งของคนไทย
      
          อย่างไรก็ตาม “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” อดไม่ได้ที่จะเรียนถามทิ้งท้ายว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านใดที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่อไป” ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธ หยุดคิดอึดใจหนึ่งก่อนตอบช้าๆ ว่า ในเบื้องต้น ต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยของเราเป็นส่วนเล็กๆ ของโลก บางทีเราอยู่ในเมืองไทย อาจคิดไปว่าเราสำคัญเหลือเกิน แต่เราเองเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แล้วคนไทยก็อยู่ในระดับพัฒนากลางๆ ไม่เจริญมากนัก ขณะเดียวกันก็ไม่ป่าเถื่อน แรกที่สุดก็คือต้องช่วยตัวเอง เพราะยังมีความยากจนในประเทศอีกมาก และมีเรื่องที่ยังต้องพัฒนา
      
          “เราก็ต้องมาดูว่า เรามีดีตรงไหน แล้วใช้วิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ ก็คงไม่พ้นเรื่องชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตรหรือการแพทย์ ซึ่งเรายังมีปัญหา ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า โลกเรานี้อาจทิ้งเราไป เช่นวิทยาการยุคใหม่อย่างนาโนเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่ต้องยอมรับว่าเราเป็นผู้ตาม แต่ว่าเราทิ้งไม่ได้”
      
          ศ. ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า เรามีโอกาสเป็นผู้นำด้านการเกษตร และด้านการแพทย์หลายๆ จุด แล้วก็เป็นผู้ตามในบางด้าน ตรงนี้เราต้องใช้ทั้ง 2 อย่าง แล้วเราก็ต้องมีวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้วย
      
          “แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องทำวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั้งหมด มันจะลงทุนมากไปโดยไม่มีคุณ แต่ว่าอย่างน้อยเราต้องมีพื้นฐานสัก 10-20 % ของที่เราจะทำ แล้วนอกจากนั้น เราก็เน้นในด้านที่เราไปไกล เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งไปได้ไกลแน่นอน เพราะเรามีความเหมาะสมทั้งวัตถุดิบ ถ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บในเขตร้อนก็มีโรคเขตร้อนจำนวนมากที่เราเข้าไปศึกษาได้ และประเทศอื่นไม่มี ประเทศที่เจริญแล้วก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีวัตถุดิบ เราจึงควรเร่งตรงนี้ โดยใช้วิทยาการที่เราต้องเอาให้ได้ คล้ายๆ ว่าเรามีความเด่นความพิเศษ เช่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมพิเศษของประเทศเขตร้อน และเรื่องท้องทะเล เป็นต้น”
      
          ทั้งนี้ นักวิจัยอาวุโส ไม่ลืมที่จะกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยกล่าวว่า ในเรื่องมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เราก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่มาทำแค่ปลายเหตุ แต่ต้องค่อยๆ ไปที่พื้นฐานของมันให้เห็นได้ชัด เช่นเดียวกับเรื่องพลังงาน ซึ่งเรามีวัตถุดิบทางชีวภาพมาก หรือแม้แต่เรื่องเซลล์แสงอาทิตย์ เนื่องจากเรามีแสงแดดมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตั้งต้นได้…
      
          เวลาประมาณ 30 นาทีที่ลูกศิษย์นอกห้องเรียนอย่าง “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะไม่ใช่เวลาที่มากมายนัก แต่ก็เป็นการสัมภาษณ์ที่คลายความอยากรู้ได้ทั้งหมด จึง “อิ่ม” และอุดมไปด้วยเนื้อหาสาระ เติมเต็ม “จิกซอว์” ภาพของท่านที่เรารู้จักได้จนเต็มภาพ ระคนไปกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี เป็นกันเอง ด้วยท่าทางสบายๆ เป็นธรรมชาติ ตามแบบฉบับส่วนตัว
      
          อย่างไรก็ตาม “ตำนานชีวิตของกูรูท่านนี้” ยังคงดำเนินต่อไป ดังเป้าหมายที่ ศ.ดร.ยงยุทธ ได้กล่าวถึงข้างต้น พร้อมๆ กับการเป็นแบบอย่าง “มีชีวิต” ที่คนในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนถึงคนทุกคนจะพึงยึดถือได้ต่อไป…

ข้อมูลจาก: ผู้จัดการออนไลน์

About Author