“เห็ด” เป็นพืชที่มีหมวกคล้ายส่วนบนของตะปูที่รับแรงฆ้อน กับคุณสมบัติที่เติบโตได้ในแทบทุกที่ และแม้จะไม่ได้จัดอยู่ในพืชชั้นสูง แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะ “ผู้ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ”
ด้วยคุณสมบัติชั้นเลิศของการเป็น “ผู้ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ” ของ “เห็ด” ที่ดูดกลืนเอาแร่ธาตุต่างๆ ของอินทรีย์วัตถุที่อิงอาศัยมาไว้ในตัวเอง
นอกจากการเป็นอาหารที่มากด้วยคุณค่าโปรตีน และเส้นใยที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ผ่านมาได้ทำให้มีการค้นพบคุณค่าจากเห็ดต่อไปอีกมากมายมหาศาล รวมถึงใน “เชิงวัสดุศาสตร์” ที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างอันน่าพิศวงของเส้นใยเห็ดไปต่อยอดในด้านต่างๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งนิตย์ วัฒนวิเชียร อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ค้นพบ “มหัศจรรย์วัสดุจากเห็ด” โดยการประยุกต์นำมาผสมกับ “วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรต่างๆ” ให้สามารถขึ้นรูปเป็นวัสดุชนิดใหม่ เช่น ใช้เป็น “หนังเทียม” ที่ปลอดสารเคมี 100% รวมทั้งมี “ความยืดหยุ่น” ต่างจากหนังธรรมชาติ
ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานตกแต่ง งานแฟชั่น หรือผลิตเป็น “เฟอร์นิเจอร์” ต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นรูปทำเป็น “บรรจุภัณฑ์” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ “อิฐบล็อก” ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ฯลฯ
ความท้าทายอยู่ที่ความหลากหลายของส่วนผสมของอินทรีย์วัตถุชนิดต่างๆ ที่นำมาใช้ผสมกับเส้นใยเห็ดเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามโจทย์ซึ่งไม่จำกัด โดยมั่นใจว่าส่วนผสมของเห็ดที่อยู่ในชิ้นงานจะไม่กลับกลายขยายพันธุ์เจริญเติบโตต่อไป หลังจากที่ได้ผ่าน “กระบวนการอบด้วยความร้อน” แล้วไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้ยกระดับสู่การเป็น “ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี” ทั้งต่อชุมชน และภาคเอกชน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ประยุกต์นำเอา “เส้นใยเห็ด” ผสมกับ “เส้นใยกัญชง” พัฒนาสู่ “กระถางย่อยสลายได้”
ก้าวต่อไปเตรียมสร้างสรรค์สู่มิติใหม่ในการกำจัดของเสียต่างๆ จากกระบวนการบริโภคอาหาร อาทิ “ถุงแกง” ซึ่งเป็นขยะน่าปวดใจของทุกครัวเรือน มาสร้างเป็นนวัตกรรมครั้งแรกผ่านกระบวนการปั่นรวมโดยไม่ต้องล้างให้เปลืองพลังงาน ก่อนนำไปใช้เลี้ยงเห็ดต่อไปได้ทันที
และได้มีผลงานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ได้แก่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ “แผ่นปิดแผลจากเส้นใยเห็ด” ซึ่งจะได้มีการสาธิต และเปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่จะมาเป็นชาวค่ายเยาวชนวัสดุศาสตร์ “Young Materials Innovator Camp” ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2566 ร่วมทำการทดลอง พร้อมรับชิ้นงาน และประกาศนียบัตรผ่านการอบรมกลับไปชื่นชม
รวมถึงได้มีโอกาสพบกับคณาจารย์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าของประเทศไทยรุ่นพี่ของกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ พร้อมร่วมทำการทดลองในกลุ่มวิจัยอื่นๆ ที่สนใจ โดยจัดการแสดงและทดลองในห้องปฏิบัติการวิศวกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาส ร่วมกับอีก 4 ผลงานนวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
มาร่วมเตรียมพร้อมสู่การเป็น “เยาวชนหัวเห็ด” สมัครลงทะเบียนตั้งแต่บัดนี้ – 11 พฤศจิกายน 2566 ที่ http://scme.sc@mahidol.ac.th Facebook : Materials Science & Nano Engineering, Faculty of Science Mahidol University
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210