ชีววิทยาของซอมบี

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับเชิญไปออกรายการ Sci & Tech Movies ของช่อง ThaiPBS และมูฟวีที่ทีมงานขอให้ผมช่วยไปเมาท์มอยวิจารณ์คือ “ผีชีวะ (Resident Evil)” ภาพยนตร์ซอมบีชื่อดังที่สร้างจากเกมยิงซอมบีที่ดังไม่แพ้กัน

เรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยกังวล แต่ที่สับสนที่สุดคือดีเทลและโครงเรื่องของหนัง (และเกม) เพราะตัวหนังเองก็เคยดูอยู่เมื่อนานมาแล้ว ภาคหลัง ๆ ก็ไม่ได้ดูเลย พอจะต้องไปคุยเรื่องหนังก็เลยกระอักเล็ก ๆ

แต่ที่มึนที่สุดคือเรื่องนี้มันไม่ได้มีแค่หนังแต่มีเกมด้วย ! และจากที่ไปขุดคุ้ยมา รายละเอียดในหนังและในเกมมันไม่เหมือนกัน เเละที่สำคัญ ไอเดียทางวิทยาศาสตร์ข้างในจริง ๆ ของทั้งหนังและเกมนั้นมีแค่แตะผิวขอบของข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเขียนขึ้นมาจากจินตนาการ นักวิทย์สร้างไวรัสเพื่อรักษาโรคร้ายของลูกสาว เรียกว่า ทีไวรัส (T virus)  แต่ในเวลาต่อมาเกิดผลไม่คาดฝัน ทีไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นมาแพร่กระจายและเปลี่ยนมนุษย์และสัตว์ให้กลายเป็นซอมบีที่ดุร้าย ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการต่อสู้ของอลิซ สาวสวยหุ่นแซ่บที่เป็นหนึ่งในการทดลองที่ได้ผลและกลุ่มคนที่ยังเหลือรอด กับฝั่งบริษัทที่ยังทดลองสร้างนักรบรุ่นใหม่ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น เกิดเป็นเรื่องราวบู๊ล้างผลาญโดยมีเมืองร้างและซอมบีอีกมากมายมหาศาลเป็นฉากหลัง

แม้ว่าข้อเท็จจริงจะแอบมึน ๆ งง ๆ ไปอยู่ แต่ถ้าดูให้ลึก ๆ ก็ยังพอมีอะไรให้เมาท์มอยอยู่พอประมาณ

ทั้งเรื่องโรค เรื่องไวรัส เรื่องพิษ และเรื่องซอมบี เรื่องโรคกับไวรัสนี่ไม่กังวลเพราะปกติก็ทำวิจัยเกี่ยวกับไวรัสอยู่แล้ว อันนี้เป็นอะไรที่เมาท์มอยได้เยอะ เรื่องพิษนี่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะก็เคยวิจัยอยู่ แถมเคยร่วมกับน้อง ๆ ในแล็บเปิดเพจพิษวิทยา “Toxicant เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นพิษ“ เพราะงั้นพวกนี้มีข้อมูลเยอะจึงไม่น่าเป็นปัญหา แต่ที่ไม่ค่อยชิลล์คือเรื่องซอมบี อันนี้นี่ต้องหา

ที่จริงจากที่เคยสอนเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องราวต่าง ๆ ก็เริ่มแว้บ ๆ ขึ้นมา !

ต้องเป็นเชื้อที่ส่งผลกระทบกับสมอง” ผมคิด ตัวแรกที่นึกถึงคือไวรัสพิษสุนัขบ้า เพราะติดแล้วกล้ามเนื้อใบหน้าและลำตัวจะแข็งเกร็ง ทำให้เหมือนแยกเขี้ยวพร้อมกัดตลอดเวลา กลัวแสง กระสับกระส่าย และในบางกรณีอาจมีอาการหลอนและคลุ้มคลั่งได้

ลักษณะแบบนี้เชื่อกันว่าอาจเป็นหนึ่งในจุดเริ่มแห่งจินตนาการที่อยู่เบื้องหลังการสร้างปีศาจร้ายในตำนานขึ้นมา ทั้ง “มนุษย์หมาป่า” และ “แวมไพร์” ซึ่งถือกำเนิดมาจากการโดนสัตว์ที่ติดโรคกัด ในกรณีของหมาป่าก็คือสุนัขบ้า ส่วนในกรณีของแวมไพร์ก็คือค้างคาว พอถูกกัดแล้วสักพักก็จะเปลี่ยนร่างกลายเป็นปีศาจที่ดุร้ายกระหายเลือด อาจมโนจากอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายคลุ้มคลั่ง และอาละวาดของคนไข้ ส่วนที่ว่าชอบไล่กัดคน ก็อาจมาจากอาการกล้ามเนื้อใบหน้า (และร่างกาย) แข็งเกร็ง กระตุกทำให้ดูเหมือนจะแยกเขี้ยวพร้อมขย้ำอยู่ตลอดเวลา

อีกทั้งยังมีอาการหนีแสง ชอบอยู่ในที่มืด และอีกหลายอาการที่น่าจะกระตุกต่อมจินตนาการสยองขวัญแห่งอดีตได้ดี

และถ้ามองในอีกมุม ซอมบีในเรื่องผีชีวะก็จำอะไรไม่ได้ ไม่รู้ตัว ดุร้าย อาละวาด ถ้ามองว่าใกล้เคียงไวรัสเรบีส์ (rabies) หรือไวรัสโรคพิษสุนัขบ้านี้ก็อาจมีเค้าอยู่พอประมาณ ยิ่งมีคลิปที่สุนัขเป็นซอมบีด้วยแล้วยิ่งเข้าเค้าเข้าไปใหญ่

แล้วมีเชื้อโรคอื่นอีกไหมที่คุมสมอง ความรู้สึกนึกคิด หรือพฤติกรรม ?

ที่จริงมีเยอะพอควรเลย ปรสิตบางชนิดอย่างทอกโซพลาสมา กอนดีไอ (Toxoplasma gondii) หรือปรสิตไข้ขี้แมว ที่จำเป็นต้องใช้แมวหรือสัตว์ตระกูลแมวเพื่อการสืบพันธุ์ แม้จะไม่ใช่ไวรัสแต่ก็อาจถือได้ว่าเป็นอีกเชื้อที่เข้าข่าย เพราะทอกโซฯ ไม่ใช่แค่ออกฤทธิ์กับระบบประสาท แต่ถึงขนาดส่งผลถึงความรู้สึกนึกคิดได้ด้วย เพื่อให้สามารถสืบทายาท ปรสิตทอกโซฯ ก็พยายามกระตุ้นให้สัตว์ (หรือคน) ที่ติดเชื้อเกิดพิศวาสแมวหรือสัตว์ในตระกูลแมวขึ้นมา ถึงขนาดที่กระตุ้นให้ลูกไฮยีนาเดินเยื้องย่างเข้าไปหาสิงโตและหนูไม่กลัวที่จะเดินเข้าหาแมว

ถ้าดูแค่ทอกโซฯ กับพิษสุนัขบ้า โรคซอมบีก็น่าจะเป็นโรคที่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ที่เรียกว่า zoonosis หรือจากคนสู่สัตว์ ที่เรียกว่า reverse zoonosis ได้ และการติดเชื้อก็น่าจะเกิดจากการสัมผัสกับของเหลวหรือสารคัดหลั่งของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำมูก น้ำเชื้อ น้ำลาย หรือแม้แต่ของเสียที่พวกมันขับถ่ายออกมา

เช่น ถ้าโดนกัดก็โดนน้ำลาย ก็น่าจะติดได้ ส่วนข่วน ถ้าเล็บเปื้อนเลือด น้ำลาย หรือน้ำหนอง ก็ติดได้เช่นกัน

แต่ในหนัง มีฉากโยนหลอดที่ทำให้เกิดการกระจายเชื้อ นั่นหมายความว่าเชื้อนี้น่าจะติดแพร่กระจายผ่านอากาศได้ ซึ่งเป็นอะไรที่น่ากลัวกว่าติดผ่านสารคัดหลั่ง เพราะถ้าเชื้อแพร่กระจายในอากาศได้ แค่ติดแหง็กอยู่ห้องเดียวกันนาน ๆ ไม่ต้องโดนกัดก็อาจติดเชื้อได้ !

แล้วเชื้ออะไรที่ควบคุมสมองและกระจายผ่านอากาศ ผมนึกไปถึงสปอร์ของราแมลงที่เรียกว่า คอร์ดีเซปส์ (Cordyceps) ซึ่งมีหลายชนิด แต่ละชนิดก็ติดเชื้อในแมลงแตกต่างกันออกไป ราพวกนี้ถือเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของแมลง เมื่อติดแล้วราจะดูดซึมอาหารจากตัวแมลงจนแมลงค่อย ๆ ซูบซีดตายไป หลังจากนั้นพวกมันจะงอกก้านอับสปอร์ราออกมา และปลดปล่อยสปอร์ให้ปลิวล่องลอยไปในอากาศไปติดแมลงตัวใหม่

และเพื่อให้สปอร์ของมันปลิวไปได้ไกลที่สุด ราพวกนี้จะบังคับให้แมลงที่ติดเชื้อพยายามป่ายปีนขึ้นไปยังที่สูง ลมโชย ซึ่งทำให้หลายคนขนานนามพวกมันว่า “ราซอมบี”

ฟังดูน่ากลัว หลายคนคงคิดว่าดีที่เราไม่ต้องผจญกับมัน แต่ที่จริงแล้วราพวกนี้อาจอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด บางคนอาจเคยบริโภคมันไปแล้วก็เป็นได้

 

ราถั่งเช่าที่มักเอามาผสมในตำรับยาจีนและซุปไก่ก็คือราในตระกูลคอร์ดีเซปส์นี้เช่นกัน ในธรรมชาติพวกมันมักขึ้นอยู่บนตัวหนอนซึ่งหายากและมีราคาแพงมาก แต่ตอนนี้นักวิจัยเอาราจำพวกเดียวกันมาเพาะเลี้ยงในขวด ได้แล้ว ซึ่งทำให้ราคาย่อมเยามากขึ้น แต่ปริมาณสารออกฤทธิ์คอร์ดีเซพินและสารอื่นๆ จะเท่ากันไหม อันนี้ก็ต้องไปลุ้นกันเอาเอง

ที่น่าตื่นเต้นก็คือในประเทศไทยมีทีมนักวิจัยที่มุ่งเน้นศึกษาทำสำมะโนประชากรเชื้อราตระกูลนี้จากป่าในเมืองไทยเช่นกัน เป็นทีมนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) อีกทั้งยังมีทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนใจศึกษาวิถีทางชีวเคมีที่เชื้อราใช้เพื่อสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย

ดีที่รานี้ไม่ติดเชื้อและก่อโรคในคน เพราะถ้าติดได้ขึ้นมา รานี้คงขึ้นทำเนียบหนึ่งในเชื้อโรคสุดสยองตัวท็อปของมวลมนุษยชาติ

และเพราะไม่ติดเชื้อ ดังนั้นสำหรับคนแล้ว ถั่งเช่าคืออาหาร บางคนมองเป็นยาโด๊ปชั้นดีราคาแพงด้วยซ้ำ

บางทีเราก็กินอะไรจิปาถะ แน่นอนว่าบางอย่างก็ดีต่อสุขภาพ บางอย่างก็ส่งผลร้าย อย่างในกรณีของราคอร์ดีเซปส์ สารออกฤทธิ์คอร์ดีเซพินอาจมีผลดี เลยกลายเป็นของมีราคา แต่วัตถุดิบชั้นเลิศ ไม่ว่าดีแค่ไหนก็ต้องเข้าใจถึงจะได้ผลถึงประสงค์ การตระเตรียม การปรุง ก็ต้องทำให้ดี ให้เหมาะ เพราะถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าเอาเข้าปากสวาปามแล้วเจอของแรงเข้าไปก็อาจซี้ได้เหมือนกัน

อย่างปลาปักเป้าอาหารชั้นเลิศที่เสิร์ฟกันในญี่ปุ่นก็มีพิษร้ายเทโทรโดทอกซินอยู่ในเครื่องใน ซึ่งถ้าปรุงไม่ดี ล้างไม่สะอาดก็ถึงกับหามส่งโรงพยาบาลหรือส่งวัดได้เลย บางเมืองต้องออกกฎเลยว่าเชฟที่ได้รับอนุญาตให้ทำเมนูปลาปักเป้าเสิร์ฟในร้านได้ ต้องผ่านการฝึกฝนการทำเมนูปลาปักเป้ามาแล้วอย่างน้อยสามปี

เพราะแม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็มีเคสคนโดนพิษปลาปักเป้าอยู่ทุกปี ปีละ 20 ถึง 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็โดนพิษมาจากเหตุสุดวิสัยจากการเตรียมและการปรุงที่ไม่เหมาะสมพอนี่แหละ

แต่ในบางประเทศ อย่างเช่นในเฮติ พิษของปลาปักเป้าอาจถูกเอามาใช้ด้วยจุดมุ่งหมายที่ไม่ดี คือเพื่อสร้าง “ซอมบี”

เคสที่ดังที่สุดเห็นจะเป็นเคสของแคลวิอัส นาร์ซิสเซ (Clairvius Narcisse) ชายชาวเฮติที่ได้รับการขนานนามเป็นซอมบีที่มีชีวิต (living zombie) เพราะเชื่อว่าถูกเอาไปทำเป็นซอมบีด้วยยาสั่งและคุณไสยของหมอผีวูดูอยู่หลายปีก่อนที่หมอผีจะตาย แคลวิอัสจึงได้ย้อนกลับมาหาครอบครัว ทำให้เรื่องราวแห่งซอมบีแห่งเฮติถูกเปิดเผยออกมา

เวด เดวิส (E. Wade Davis) นักวิจัยมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่สนใจพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (ethnobotany) เบื้องหลังการสร้างซอมบี เอากรณีของแคลวิอัสมาเขียนเป็นหนังสือ “อสรพิษและสายรุ้ง (The Serpent and the Rainbow)” เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1986 หนังสือเปิดโปงเรื่องราวของ “ผงยาสั่งสร้างซอมบี (zombie powder)” และกลไกการสร้างซอมบีแห่งเฮติ ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ แปลกประหลาด และพิลึกพิลั่นยิ่งกว่าละคร

สองปีหลังจากที่หนังสือเริ่มออกวางตลาด เวส คราเวน (Wes Craven) ผู้กำกับหนังแนวสยองขวัญ (horror) แถวหน้าของโลก ผู้ให้กำเนิดปีศาจร้ายโรคจิตสุดอัปลักษณ์ เฟรดดี ครูเกอร์ (Freddy Krueger) ซื้อ “อสรพิษและสายรุ้ง” ของเวด และนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญอิงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงภายใต้ชื่อเดิม ทำให้ซอมบีแห่งเฮติกลายเป็นที่โด่งดังขึ้นมา

ส่วนตัวผมว่าหนังสือของเวดเขียนได้ดีและน่าสนใจ แต่ในมุมของนักวิจัย ผมชอบอ่านเก็บข้อมูลรายละเอียดจากเปเปอร์มากกว่า เพราะไม่ว่าจะอย่างไร เปเปอร์ก็มีข้อมูลเบื้องลึกมากกว่าหนังสือ

ที่พีกที่สุดคือในเปเปอร์ The Ethnobotany of the Haitian Zombie ในปี ค.ศ. 1983 ของเวด มีตารางแสดงองค์ประกอบทั้งหมดในยาสั่งซอมบี แถมมีเปรียบเทียบตำรับยา (recipe) หลายขนานจากหลายหมอผีอีก

ชัดเจนว่านอกจากกระดูกกุมารและเศษซากมนุษย์ลงอาคม ยังมีพิษจากปลาปักเป้า รวมถึงพิษจากพืชและสัตว์อื่น ๆ ปนอยู่ด้วย ทั้งกบธนู ดอกลำโพง และคางคก

พิษหลายตัวขึ้นชื่อลือชาว่ามีฤทธิ์กับสมองและทำให้เกิดอาการหลอนประสาท มึน ๆ อึน ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ซอมบีของเฮตินั้นยอมเชื่อฟังคำสั่งหมอผีแต่โดยดี

เรื่องราวของภูมิปัญญาจากอดีตยังมีอะไรให้ค้นคว้าอีกมาก บางทีถ้าเรารู้จริงอาจมีประโยชน์กับมวลมนุษยชาติในอนาคต

ใครจะรู้ ถ้าศึกษาดี ๆ บางทีสมุนไพรบางตัวที่เป็นองค์ประกอบในยาสั่งวูดูอาจมีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งหรือโรคประสาทหลอนก็เป็นได้

About Author