TITLE NAME

2560
การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยใช้หยวกกล้วย
- ทิฆัมพร แดงเรือน
- พรปวีย์ เหมิกจันทึก
- ภัทรภรณ์ ภูวนา
- สมเกียรติ แก้ววิเวก
สีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา
โครงงาน เรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยใช้หยวกกล้วย” เป็นโครงงานที่เกิดจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ที่ต้องเข้าไปปลูกป่าในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมไม่สามารถใช้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ ประกอบกับเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าต้นไม้ที่ปลูกนั้นจะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะเนื่องจากช่วงเวลาที่หน่วยงานต่างๆ เข้าไปปลูกป่าเข้าไปดำเนินโครงการปลูกป่านั้นส่วนใหญ่เป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วงไม่มีฝนตกเลย บางปีก็มีฝนตกเพียงเล็กน้อย ซึ่งจากการสอบถามทราบว่าการที่ไม่เข้าไปปลูกป่าในหน้าฝนเนื่องจากการเดินทางลำบาก จนกระทั่งวันหนึ่งพบเห็นเกษตรกรสวนกล้วยได้ตัดต้นกล้วยทิ้งหลังจากที่ได้ตัดเครือกล้วยแล้ว โดยให้เหตุผลว่ากล้วยทุกต้นเมื่อออกเครือและตัดเอาเครือกล้วยออกแล้วจะต้องตัดต้นกล้วยทิ้ง เพื่อให้ต้นกล้วยนั้นย่อยสลายเป็นปุ๋ยต่อไป เพราะถึงอย่างไรต้นกล้วยต้นนั้นก็ต้องตายอยู่แล้ว จึงเกิดความคิดที่จะนำต้นกล้วยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกป่า และจากการศึกษาผลงานวิจัยและสิทธิบัตรทางปัญญางานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการศึกษาและจดสิทธิบัตรทางปัญญาเกี่ยวกับการใช้วัสดุอุปกรณ์บางอย่างมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกป่าร่วมด้วย เช่น ปุ๋ยมูลไส้เดือน ขุยมะพร้าว ฯลฯ แต่ทางคณะผู้จัดทำได้สนใจในการนำหยวกกล้วยมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกป่า เนื่องจากกล้วยเป็นวัสดุที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย สามารถนำมาทดลองและใช้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทยได้ จากการทดลอง ผู้ทดลองได้ทำการทดลองเพิ่มเพื่อประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยใช้หยวกกล้วยให้ได้ผลที่ดีที่สุด เช่นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการวางหยวกกล้วย พบว่าการวางหยวกกล้วยที่ใช้ปลูกต้นกล้ากฤษณาในแนวนอน ภายใน 8 สัปดาห์ จะให้ผลการเจริญเติบโตดีกว่าการวางหยวกกล้วยในแนวตั้ง โดยต้นกล้ากฤษณาจะสูงขึ้น 2.36 และ 1.64 เซนติเมตร ตามลำดับ สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์ของกล้วยที่ใช้ในการทดลอง เช่นกล้วยตานี กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และกล้วยหักมุกนั้น พบว่าเมื่อปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 8 สัปดาห์โดยไม่ต้องรดน้ำ พบว่าต้นกล้ากฤษณาที่ใช้ปลูกมีความสูงเพิ่มขึ้นเท่ากับ 1.84, 1.86, 1.80 และ 1.80 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งถือว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ เช่นเดียวกับการศึกษาความลึกของการเจาะรูในหยวกกล้วย ที่ความลึก 6, 9 และ 12 เซนติเมตร เมื่อครบ 8 สัปดาห์พบว่ากล้าไม้กฤษณาที่ใช้ปลูกมีความสูงเพิ่มขึ้น 2.04, 2.12 และ 2.00 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งถือว่าได้ผลการทดลองที่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ จากนั้นได้ทำการศึกษาขนาดความยาวของหยวกกล้วยที่ใช้ โดยตัดหยวกกล้วยให้มีความยาว 15, 20, 25 และ 30 เซนติเมตร เมื่อครบ 8 สัปดาห์พบว่ากล้าไม้กฤษณาที่ใช้ปลูกมีความสูงเพิ่มขึ้น 2.06, 2.14 และ 2.28 และ 2.12 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งถือว่าได้ผลการทดลองที่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ จากผลการทดลองดังที่ได้กล่าวมาแล้วพบว่าการใช้หยวกกล้วยช่วยในการปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะการปลูกป่าที่ตามหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำโครงการขึ้นมา จะสามารถช่วยให้ต้นไม้มีโอกาสอยู่รอดได้อย่างดี เนื่องจากการปลูกป่านั้นเมื่อหลังจากการปลูกต้นกล้าเสร็จก็จะขาดการดูแล ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้ดูแลต้นไม้เอง หากฝนไม่ตกเป็นเวลานานก็จะทำให้ต้นกล้านั้นตาย แต่การใช้หยวกกล้วยมารองที่ก้นหลุมจะทำให้ต้นกล้าได้รับน้ำและสารอาหารจากหยวกกล้วย จนกว่าหยวกกล้วยจะย่อยสลายหมดไป จะใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายหยวกกล้วยประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเพียงพอต่อการอยู่รอดของกล้าไม้ เนื่องจากข้อมูลสถิติปริมาณน้ำฝน 10 ปี ย้อนหลังของศูนย์วิจัยพืชไร่ จังหวัดนครราชสีมา ทราบว่าช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงที่ฝนไม่ตกหรือตกก็มีปริมาณน้อย นอกเหนือจากช่วงดังกล่าวฝนจะตกมีปริมาณมากพอที่จะให้ความชุ่มชื้นกับพื้นดิน ดังนั้นหากเราต้องเพิ่มประสิทธิภาพหรือเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของต้นไม้ที่เราต้องการปลูก ควรจะตัดหยวกกล้วยใส่ลงในก้นหลุมเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำและสารอาหารของต้นกล้าที่จะปลูกได้