TITLE NAME

2562
การเลี้ยงหนอนรถด่วน (Omphisa fuscidenttalis) ในท่อดินเผา เพื่อจำหน่ายตลอดปีและลดการสูญพันธุ์
- วรากร ธรรมวงค์
- รัชชานนท์ เมธีสิทธิกุล
- ณัฐณิชา ปัญญาอิ่นแก้ว
- กีรติ ทะเย็น
- วรางค์จนา เนตรธิยา
ห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก
หนอนรถด่วนหรือหนอนเยื่อไผ่ (Omphisa fuscidenttalis) เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และกำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา แต่ปัจจุบันหนอนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ และมีจำหน่ายเฉพาะตามฤดูกาลเท่านั้น ชาวบ้านจึงเลี้ยงหนอนรถด่วนในกระบอกไม้ไผ่ แต่วิธีนี้ไม่คุ้มค่า เพราะกระบอกไม้ไผ่มีราคาแพงและมีอายุการใช้งานสั้น ดังนั้น ทางทีมงานจึงทดลองเลี้ยงหนอนรถด่วนในท่อดินเผาเพื่อจำหน่ายตลอดปีและลดการสูญพันธุ์ การทดลองแบ่งออกเป็น 6 ตอน ตอนที่ 1 ศึกษาชนิดของท่อที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงหนอนรถด่วน ผลการทดลอง พบว่า ท่อดินเผาเหมาะสมสำหรับนำมาเลี้ยงหนอนรถด่วนมากกว่าท่อพลาสติกใส ท่อพีวีซี และท่อเหล็ก เพราะส่งผลให้หนอนรถด่วนมีอัตราการรอดตาย 100% ภายในเวลา 56 วัน อีกทั้งหนอนรถด่วนสามารถเคลื่อนที่และชักใยบนผนังท่อดินเผาได้ดีกว่าท่อชนิดอื่น ตอนที่ 2 ศึกษาผลของรูปร่างของท่อดินเผาที่มีต่อการเคลื่อนที่และการชักใยของหนอนรถด่วน ผลการทดลอง พบว่า หนอนรถด่วนสามารถเคลื่อนที่และชักใยในท่อดินเผาที่มีรูปร่างทรงกระบอกได้ดีกว่าท่อดินเผารูปทรงสามเหลี่ยมและทรงสี่เหลี่ยม ตอนที่ 3 ศึกษาผลของขนาดพื้นที่หน้าตัดของท่อดินเผาที่มีต่ออัตราการรอดตายและการชักใยของหนอนรถด่วน ผลการทดลอง พบว่า หนอนรถด่วนสามารถชักใยปิดด้านบน ได้สนิทในท่อดินเผาที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดไม่เกิน 78.50 ตารางเซนติเมตร ส่งผลให้หนอนรถด่วนมีอัตราการรอดตายสูง ตอนที่ 4 ศึกษาผลของอาหารที่มีต่อการเจริญเติบโต คุณค่าทางโภชนาการและรสชาติของหนอนรถด่วนที่เลี้ยงในท่อดินเผา ผลการทดลอง พบว่า ผงไม้ไผ่เหมาะสมในการนำมาเป็นอาหารแก่หนอนรถด่วน เพราะส่งผลให้หนอนรถด่วนมีการเจริญเติบโตมากกว่ากล้วยน้ำว้า มะละกอและฟักทอง โดยส่งผลให้หนอนรถด่วนมีน้ำหนักและความยาวเฉลี่ย เท่ากับ 0.44±0.02 กรัมต่อตัว และ 2.81±0.13 เซนติเมตรต่อตัว ตามลำดับ อีกทั้งส่งผลให้หนอนรถด่วนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ตลอดจนมีรสชาติหวานและมีกลิ่นหอมของไม้ไผ่ ตอนที่ 5 ศึกษาวงจรชีวิตของหนอนรถด่วนที่เลี้ยงในท่อดินเผา ผลการทดลองพบว่า หนอนรถด่วนที่เลี้ยงในท่อดินเผามีวงจรชีวิต ประมาณ 372 วัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ใช้เวลาประมาณ 6 วัน ระยะหนอน ใช้เวลาประมาณ 295 วัน ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 57 วัน และระยะผีเสื้อ ใช้เวลาประมาณ 14 วัน ตอนที่ 6 ศึกษาวิธีที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงหนอนรถด่วนในช่วงนอกฤดูกาล ผลการทดลอง พบว่า วิธีที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงหนอนรถด่วนช่วงนอกฤดูกาล คือ การนำไปเลี้ยงในตู้เย็นแล้วปรับสเกลความเย็นเบอร์ 1 เพราะวิธีการดังกล่าวส่งผลให้ภายในท่อดินเผามีอุณหภูมิเฉลี่ยเท่ากับ 19.3±0.2 องศาเซลเซียส จึงส่งผลให้หนอนรถด่วนมีอัตราการรอดตายมากกว่าวิธีอื่น โดยมีอัตราการรอดตาย 100% ภายในเวลา 180 วัน และส่งผลให้หนอนไม่เข้าสู่ระยะดักแด้ จึงมีผลผลิตหนอนรถด่วนจำหน่ายนอกฤดูกาลได้ การเลี้ยงหนอนรถด่วนในท่อดินเผาถือเป็นวิธีที่คุ้มทุน เพราะท่อดินเผามีราคาถูก โดยมีราคาต่อหน่วย เท่ากับ 20 บาท สามารถเลี้ยงหนอนรถด่วนได้ 450 ตัวต่อท่อ และมีอายุการใช้งานหลายปี