ค่ายจุดประกายนวัตกรอาหารรุ่นเยาว์สร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาสตร์ (ออนไลน์)

     เมื่อวันที่ 9 – 11 มิถุนายน 2564 งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท ฝ่ายพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดค่ายครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 “ค่ายจุดประกายนวัตกรอาหารรุ่นเยาว์สร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาสตร์” (ออนไลน์) ในโครงการบ่มเพาะเยาวชนในชนบทให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ด้านนวัตกรรมอาหาร  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์อาหาร สร้างแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมอาหาร กระบวนการผลิตและการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารเบื้องต้น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอโครงงานเพื่อเตรียมส่งประกวดในเวทีต่างๆ ได้ต่อไป กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 127 จาก 10 โรงเรียน (ครู 51 คน, นักเรียน 76 คน)

     ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 10 โรงเรียน ได้แก่ 1. โรงเรียนปายวิทยาคาร จ.แม่ฮ่องสอน 2. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 22 จ.แม่ฮ่องสอน 3. โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน 4. โรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ จ.แม่ฮ่องสอน 5. โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” จ.แม่ฮ่องสอน 6. โรงเรียนสบเมยวิทยาคม จ.แม่ฮ่องสอน 7. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จ.น่าน 8. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน จ.เชียงราย 9. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จ.บุรีรัมย์ 10. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 จ.สกลนคร
 
     โดยกิจกรรมเริ่มต้นจากการรายงานเกี่ยวกับแผนและเป้าหมายในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และผลการดำเนินงานที่น่าสนใจของกิจกรรมในรุ่นที่ 1 (ปีการศึกษา 2563) โดยคุณเสาวดี คล้ายโสม และได้รับเกียรติจาก ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม และกล่าวเปิดกิจกรรมโดย ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งทั้งสองท่านได้กล่าวให้โอวาท และชี้แนะให้นักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการอาหาร ได้เข้าร่วมและตั้งใจจริงในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นจุดเริ่มในการเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งโอกาสที่จะได้รับมหาวิทยาลัยในด้านโควต้าและทุนการศึกษา รวมถึงโครงการธนาคารเครดิต ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ความรู้ที่ได้ก่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมาใช้เทียบเป็นหน่วยกิตได้
 
     หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั้ง 10 โรงเรียน (11 ทีม โดยมีโรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ เข้าร่วม 2 ทีม) นำเสนอข้อเสนอโครงงานฯ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการอาหารที่ได้มาจากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากแต่ละชุมชนขึ้นมาประกอบกันเป็นแนวทางการทำโครงงานวิทยาศาสตร์
จากนั้นกิจกรรมได้เข้าสู่การบรรยายในหัวข้อต่างๆ  
  • การบรรยายเรื่อง “กระบวนการวางแผน ระเบียบวิธีการทดลอง” โดย ดร.วลีวรรณ แฉ่งประเสริฐ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การบรรยายเรื่อง “ไฮโดรคอลลอยด์ ผู้ช่วยในการกระบวนการผลิตอาหาร” โดย ดร.พีรพงศ์ งามนิคม คณะเทคโนโลยีเกษตร และ ดร.ศิริลักษณ์ สุรินทร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การบรรยายเรื่อง “การพัฒนาสูตรอาหารให้เป๊ะ…ชิมแล้วปัง” โดย ดร.กิตติคุณ วรรณณะสวาสดิ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดร. ปพนพัชร์ ภัทรฐิติวัสส์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
  • การบรรยายเรื่อง “ตัวการสำคัญที่ทำให้อาหารเปลี่ยนไป” โดย ผศ.ดร.อารณี โชติโก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การบรรยายเรื่อง “คุณหมออาหาร มาตรวจองค์ประกอบในอาหารกันเถอะ” โดย ดร.อัฏฐพล อิสสระ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การบรรยายเรื่อง “อายุของอาหารวัดได้นะ” โดย ผศ.ดร.จิราภรณ์ อนันต์ชัยพัทธนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การบรรยายเรื่อง “บรรจุภัณฑ์ เสื้อผ้าสำหรับอาหาร” โดย อ.ดร.พิมพ์สิรี สุวรรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • การบรรยายเรื่อง “ผลิตอาหารให้ปลอดภัยต้องทำอย่างไร” โดย ผศ.ดร.ปาลิดา ตั้งอนุรัตน์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร
  • การบรรยายเรื่อง “เทคนิคการนำเสนออย่างมืออาชีพ” โดย อ.ศศิประภา อัศวะวิบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากการบรรยายแล้วในกิจกรรมยังมีการเรียนรู้ภาคปฏิบัติการ “การตรวจวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร” โดยคณาจารย์วิทยากร ดังนี้

  • ปฏิบัติการเรื่องไฮโดรคอลลอยด์ โดย ดร. ดร.พีรพงศ์ งามนิคม
  • ปฏิบัติการเรื่อง “การทดลองหาค่ากรดในน้ำผลไม้” “วิธีคำนวณเปอร์เซ็นต์กรดซิตริกในน้ำผลไม้” “การตรวจสอบปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ” และ “การวัดค่าความเป็นกรดและด่างในอาหาร” โดย ดร.อัฏฐพล อิสสระ
  • ปฏิบัติการเรื่อง “การวัดปริมาณน้ำอิสระ (Aw) และ “การวัดปริมาณความชื้นด้วยตู้อบและเครื่องอินฟราเรด” โดย อ.ดร.พิมพ์สิรี สุวรรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • ปฏิบัติการเรื่อง “การตรวจสอบแบคทีเรียทั้งหมดในอาหาร” และ “การตรวจสอบราและยีสต์ในน้ำดื่ม” โดย ผศ.ดร.จิราภรณ์ อนันต์ชัยพัทธนา

และนอกจากนี้ภายในกิจกรรมยังมีห้องระดมสมอง เพื่อปรับระเบียบวิธีการวิจัย โดยคณาจารย์วิทยากรที่ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษดูแลการดำเนินงานจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ซึ่งหลังจากที่นักเรียนทุกทีมที่เข้าร่วมได้ร่วมฟังและทำปฏิบัติการต่างๆ ในหัวข้อที่เกี่ยวกับทางด้านการอาหาร

ผู้ที่สนใจสามารถชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ ชุดการเรียนรู้ เพื่อจุดประกายนวัตกรอาหารรุ่นเยาว์
 
ภาพบรรยากาศกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์จากทั้ง 10 โรงเรียน