คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคมอย่างกว้างขวาง (Big Rock Project) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ 150 แห่งทั่วประเทศ ผ่านความร่วมมือของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงในโครงการฯ ทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้คำปรึกษาในการพัฒนาความสามารถของครู/นักเรียนของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ และมีผลงาน/ชิ้นงาน/โครงงาน เป็นที่ประจักษ์
นอกจากการสนับสนุนการจัดพื้นที่การเรียนรู้ 150 แห่ง สวทช. ได้สร้างโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (FabLab@SSH) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมและหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีองค์ความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่ภายในโรงประลองสร้างชิ้นงานต้นแบบได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจในอาชีพวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคตอีกด้วย
FabLab@SSH มีความพร้อมในการเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เน้นการลงมือปฏิบัติ การทดลองและการสร้างชิ้นงาน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และฝึกทักษะ ในการเปลี่ยนความคิดออกมาเป็นชิ้นงาน หรือกระบวนการที่เป็นรูปธรรม สร้างเสริมประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมที่ประกอบด้วยการสร้างแบบตามความคิด การสร้างชิ้นงานต้นแบบ และการปรับปรุงต้นแบบไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง ผ่านการประยุกต์และบูรณาการศาสตร์ และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์
FabLab@SSH มีพื้นที่ใช้สอยรวม 347.2 ตารางเมตร มีการจัดแบ่งพื้นที่หลักดังนี้
• ห้องปฏิบัติการสำหรับทำกิจกรรมหลัก อยู่บริเวณชั้น 1 สามารถรองรับผู้ร่วมกิจกรรมได้ 30 คน เหมาะสำหรับการสร้างบรรยากาศของ Maker Space ทำให้การลงมือปฏิบัติการของผู้เข้าใช้งานรู้สึกเข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ได้สะดวก
• ห้องปฏิบัติการออกแบบ อยู่บริเวณชั้น 2 สามารถรองรับได้ 20 คน เหมาะสำหรับการประชุมระดมความคิด การทำงานออกแบบ การใช้โปรแกรมเขียนแบบ
• ห้อง 3D Printing รองรับการบริการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ในการสร้างชิ้นงานจากกิจกรรมฝึกทักษะของนักเรียน หรือการสร้างชิ้นงานต้นแบบสู่การใช้งานจริง
• ห้อง Engineering Shop มีความสามารถในการรองรับการทำงานทางวิศวกรรม โดยภายในมีเครื่องมือสำหรับการใช้งาน เช่น เครื่องกลึง เครื่องเจาะ เครื่องมิลลิ่งสำหรับขึ้นรูปวัสดุชิ้นงาน ชุดเครื่องมือบัดกรี เป็นต้น
FabLab@SSH มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความหลากหลายเพื่อรองรับการทดลอง การฝึกฝน และการสร้างชิ้นงานของเยาวชน ครู อาจารย์ได้อย่างเต็มที่ โดยจำแนกกลุ่มเครื่องมือเป็น 6 กลุ่มหลัก
1. กลุ่มเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างชิ้นงานต้นแบบอย่างรวดเร็ว (Rapid Prototyping)
เครื่องมือกลุ่มนี้ประกอบด้วย เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องจักร CNC เป็นต้น ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายๆ กัน คือ จะต้องออกแบบโมเดล 2 มิติ หรือ 3 มิติก่อน จากนั้นจึงนำโมเดลที่ได้ไปแปลงให้เป็นตำแหน่งการเคลื่อนที่ของมอเตอร์ หรือที่เรียกว่า G-code แล้วจึงนำไปสั่งให้เครื่องมือดังกล่าวสร้างชิ้นงานต้นแบบขึ้น ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถสร้างชิ้นงานที่มีความซับซ้อนได้ มีความถูกต้องแม่นยำสูงและยังสามารถสร้างชิ้นงานได้อย่างรวดเร็ว
2. กลุ่มเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
เป็นกลุ่มเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทางไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เครื่องมือในกลุ่มนี้ประกอบด้วย เครื่องมือเพื่อสนับสนุนการบัดกรี เช่น หัวแร้งพร้อมหัวเป่าลมร้อน เครื่องดูดซับควันตะกั่ว วัสดุเพื่อการบัดกรีอื่น ๆ เช่น ตะกั่ว แหนบ สายไฟ ที่พร้อมใช้งาน อีกทั้งยังมีเครื่องมือสนับสนุนในการพัฒนาอิเล็คทรอนิกส์ เช่น เครื่องมือวัดทางไฟฟ้า ต่าง ๆ ได้แก่ มัลติมิเตอร์ สเปกตรัม ออสซิโลสโคป เป็นต้น
3. กลุ่มเครื่องพื้นฐาน (Basic tools)
เครื่องมือในส่วนนี้เป็นเครื่องจักรกลและเครื่องมือช่างอเนกประสงค์ โดยเครื่องจักรกลหลักๆ ประกอบด้วย เครื่องกลึง เครื่องมิลลิ่ง เครื่องเชื่อม สว่านแท่น หินเจียร เลื่อยจิ๊กซอร์ ส่วนเครื่องมือช่างทั่วไป เช่น ชุดประแจขนาดต่างๆ ไขควง ตะไบเหล็ก คีม ค้อน เลื่อย เป็นต้น โดยเครื่องมือเหล่านี้ สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องมือในส่วน Rapid prototyping เพื่อสร้างชิ้นงานต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือสำหรับความปลอดภัยในการใช้งาน เช่น ถุงมือ หน้ากาก แว่นนิรภัย เป็นต้น
4. กลุ่มเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์
เป็นกลุ่มเครื่องมือที่ใช้ในการวัดค่าต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ ความชื้น กล้องถ่ายภาพความร้อน เครื่องวัดความเร็วลม เครื่องวัดความเข้มแสง เครื่องวัดความดังเสียง เวอร์เนียดิจิตอล เป็นต้น ซึ่งมีความแม่นยำสูง ทำให้สามารถนำค่าที่วัดได้ไปวิเคราะห์และสรุปผลการทดลองได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
5. กลุ่มเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้
เป็นกลุ่มเครื่องมือชุด Kit เพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบสมองกลฝังตัว และการต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ได้พัฒนาทักษะทั้งทางด้านการเขียนโปรแกรมและการต่อวงจรไฟฟ้า รวมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับเซนเซอร์และการสื่อสารต่าง ๆ
6. กลุ่มเครื่องมืออื่น ๆ
เครื่องมืออื่น ๆ ในห้องปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการพัฒนางาน และเพื่อความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ เช่น ถังดับเพลิง ซอฟแวร์ต่าง ๆ และกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น