การสนับสนุนพิเศษ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขอสงวนสิทธิงดให้การสนับสนุนทุนพิเศษ การสนับสนุนทุนไปทำวิจัยระยะสั้นต่างประเทศ และการนำเสนอผลงานวิชาการนานาชาติ

หลักเกณฑ์ใหม่ (เพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง
***โปรดติดต่อโครงการทุนหากมีข้อสงสัยหรือข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่อีเมล์ tgist@nstda.or.th

การขอรับการสนับสนุนทุนไปทำวิจัยระยะสั้นต่างประเทศ(เฉพาะนักศึกษาทุนของ สวทช. ระดับปริญญาเอก)

1. ผู้ขอรับการสนับสนุนฯ ควรวางแผนการเดินทางไปทำวิจัยระยะสั้น (ตามที่ได้รับอนุมัติ) ภายในระยะเวลารับทุน

2. ผลงานที่ขอไปทำวิจัยระยะสั้นต่างประเทศ ต้องเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยของนักวิจัย สวทช. และเป็นการสนับสนุนให้งานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้

3. ให้ผู้ขอรับการสนับสนุนฯ ส่งคำร้องทั่วไปขอรับการสนับสนุนฯ พร้อมเอกสารตาม checklist มาที่โครงการก่อนการเดินทางไม่น้อยกว่า 3 เดือน

4. ก่อนยื่นเอกสารทั้งหมดมาที่โครงการ ขอความร่วมมือให้ผู้ขอรับการสนับสนุนฯ ดำเนินการส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    4.1 ดำเนินการขอรับงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากสถาบันต้นสังกัด หรือจากภาคอุตสาหกรรมก่อนพร้อมแนบสำเนาหลักฐานแสดงผลตอบรับและให้การสนับสนุน มาพร้อมกับคำร้องฯ และเอกสารอื่นๆ ตาม checklist

    4.2 ประสานงานขอลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือขอรับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศ อาทิ การยกเว้น/หรือลดค่า bench fee การสนับสนุนค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าวัตถุดิบในการวิจัย เป็นต้น โดยขอให้ดำเนินการก่อนให้แล้วเสร็จ พร้อมแนบหลักฐานการตอบรับและให้การสนับสนุน จากต่างประเทศมาพร้อมกับคำร้องฯ และเอกสารอื่นๆ ตาม checklist

5. ขอให้ผู้ขอรับการสนับสนุนฯ ยื่นคำร้องฯ พร้อมแบบฟอร์มเอกสารตรวจสอบข้อกำหนด (checklist) และเอกสารประกอบทุกรายการที่เกี่ยวข้องตามแบบฟอร์มข้างต้น โดยขอความร่วมมือช่วยติด tag บ่งชี้รายการเอกสารให้เรียบร้อย พร้อมทั้งสำเนาไฟล์เอกสารทั้งหมดเป็น PDF มายังโครงการที่  อีเมล์ tgist@nstda.or.th โดยตั้งชื่อไฟล์ให้สัมพันธ์กับ tag เอกสารเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการยื่นเสนอเรื่องแก่คณะกรรมการฯ

6. สำหรับหลักเกณฑ์อื่นๆ รวมทั้งคำขยายความต่างๆ นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนี้ ให้ดูเพิ่มเติมจากข้อมูลเดิมบนหน้าเว็บไซต์ของโครงการ

คำแนะนำและคำอธิบายเพิ่มเติม
1. ใน checklist แต่ละข้อ นอกจากลงนามรับรองแล้ว ควรมีหลักฐานแนบมาด้วยทุกข้อ (บางข้อสามารถใช้หลักฐานร่วมกันได้ค่ะ) อาทิ หลักฐานการสอบผ่าน proposal เป็นหลักฐานใน checklist ข้อ 5 แต่ใช้ร่วมกับ checklist ข้อ 1 และ 2 ได้ด้วย เป็นต้น

2. การไปทำวิจัยระยะสั้นต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้งานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งและเป็นส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในประเทศไทย ให้สามารถดำเนินการได้จนสำเร็จตามเป้าหมาย อีกทางหนึ่ง เป็นการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้และประสบการณ์ให้แก่น้องๆ เพื่อที่จะได้นำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทย  และประเทศชาติในอนาคต จึงขอแนะนำให้น้องๆ หารือและวางแผนงานร่วมกับอาจารย์ นักวิจัย ภาคเอกชน และอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศแต่เนิ่นๆ เนื่องจากผู้ขอรับการสนับสนุนมีระยะเวลา ตามสัญญารับทุน 3 ปี เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดในการขอรับการสนับสนุนไปทำวิจัยระยะสั้นที่ต้องยื่นเรื่องก่อนเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน และต้องเดินทางภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี (ตามเวลาที่ระบุในสัญญารับทุน) ดังนั้น ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางควรอยู่ในช่วงที่ผู้ขอรับการสนับสนุนมีเวลารับทุน (ตามสัญญารับทุน) เหลือไม่น้อยกว่า 9 เดือนถึง 1 ปี จึงควรวางแผนแต่เนิ่นๆ

3. เหตุผลที่ต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติในฐาน ISI/SCOPUS หรือมีอนุสิทธิบัตร หรือสิทธิบัตรก่อน จึงจะขอรับการสนับสนุนฯ ได้ด้วยผลงานข้างต้นเป็นการประเมินความเป็นผู้มีศักยภาพสูงในด้านการทำวิจัยของผู้ขอรับการสนับสนุนฯและการมีผลงานตีพิมพ์แล้วอย่างน้อย 1 ฉบับ เป็นส่วนประกอบการการพิจารณาว่าผู้ขอรับการ สนับสนุนฯ สามารถทำผลงานวิชาการได้ตามที่สถาบันกำหนด และมีแนวโน้มที่จะสำเร็จการศึกษาได้ในเวลาที่กำหนด

การสนับสนุนพิเศษอื่นๆ

ทุน TGIST สนับสนุนให้ผู้รับทุนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยการนำเสนอผลงานในที่ประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงได้ให้การสนับสนุนพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากค่าใช้จ่าย ที่กล่าวถึงแล้วก่อนหน้านี้ (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าพัฒนาตนเอง) การสนับสนุนพิเศษอื่นๆ แบ่งเป็น

    การสนับสนุนเพื่อการนำเสนอผลงานวิชาการ

    1. การนำเสนอผลงานวิชาการระดับชาติ 

      เป็นการสนับสนุนให้ไปนำเสนอผลงานวิจัยแบบปากเปล่าและแบบโปสเตอร์ โดยใช้เงินทุนในหมวดค่าพัฒนาตนเอง ของนักศึกษา (50,000 บาท สำหรับปริญญาโท และ 75,000 บาท สำหรับปริญญาเอก) ทำเรื่องเบิกจ่ายจากคณะ โดยไม่ต้องเขียนคำร้องมาที่โครงการฯ

    หลักเกณฑ์การให้การสนับสนุน

  1. ผลงานวิจัยนั้นเป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง
  2. ได้รับการตอบรับให้นำเสนอผลงานจากงานประชุมวิชาการ
  3. เขียนขอบคุณสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ที่ให้การสนับสนุนทุนในบทคัดย่อหรือผลงานที่นำเสนอทุกครั้ง
  4. ผู้ได้รับทุนเป็นผู้มีชื่อแรกในบทคัดย่อ และเป็นผู้นำเสนอผลงานด้วยตนเอง

    ภายหลังจากการนำเสนอผลงาน ให้ผู้รับทุนแนบสำเนาผลงานแจ้งให้โครงการทราบรวมทั้งสรุปค่าใช้จ่ายลงในรายงานความก้าวหน้าที่จะเสนอโครงการในครั้งถัดไป

    2. การนำเสนอผลงานวิชาการนานาชาติ 

     เป็นการสนับสนุนให้ไปนำเสนอผลงานเฉพาะการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า
    
สำหรับผู้รับทุนทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่เรียนวิชาหลักครบตามหลักสูตรหรือใกล้สำเร็จการศึกษาโดยสามารถขอรับการสนับสนุนพิเศษได้เพียง 1 ครั้งในระดับที่ได้รับทุน โดยจะต้องเขียนคำร้องทั่วไป พร้อมแนบแบบฟอร์ม checklist ยื่นแก่ทางโครงการฯ ก่อนเดินทางอย่างน้อย 3 เดือน

    หลักเกณฑ์การให้การสนับสนุน

  1. ต้องเป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติชั้นนำระดับกลุ่มประเทศ ที่มี peer review ตรวจสอบคุณภาพ และต้องเป็นงานประชุมวิชาการที่จัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
  2. ต้องเป็นผู้ได้รับทุนที่กำลังศึกษาอยู่และผ่านการสอบ proposal กับทางมหาวิทยาลัยแล้ว หรือสำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันสำเร็จการศึกษาเป็นทางการจนถึงวันที่นำเสนอผลงาน (แนบผลการเรียนล่าสุด)
  3. งานวิชาการที่นำเสนอต้องเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพและเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิทยานิพนธ์ที่ได้รับทุน TGIST 
  4. ผู้ได้รับทุนเป็นผู้มีความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยและแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพสูง เช่น เคยมีผลงานวิชาการตีพิมพ์มาก่อน ได้แก่ บทความวิจัย ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในฐาน ISI/SCOPUS และมีค่า Impact Factor หรืออนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตร และมีชื่อแรกในบทคัดย่อที่จะไปนำเสนอ (แนบสำเนาผลงานวิชาการและบทความวิจัยที่จะไปนำเสนอฉบับสมบูรณ์)
  5. ได้รับการพิจารณาตอบรับให้นำเสนอผลงานแบบปากเปล่า
  6. ได้เขียนขอบคุณทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ที่ให้การสนับสนุนทุนในบทคัดย่อหรือผลงานที่นำเสนอทุกครั้ง
  7. อาจารย์ และ นักวิจัย สวทช. ลงนามรับรองการขอรับทุนสนับสนุนในใบคำร้องฯ และแบบฟอร์ม checklist
  8. ชี้แจงค่าใช้จ่ายพร้อมแนบเอกสารทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณา โครงการฯ จะสนับสนุนทุนการนำเสนอผลงานวิชาการไม่เกิน 70,000 บาท จึงควรวางแผนการเดินทางให้ประหยัดและได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ควรได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากแหล่งอื่นด้วย โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายหลัก ดังนี้

    • ค่าลงทะเบียนตามที่จ่ายจริง (ให้เฉพาะค่าลงทะเบียนปกติเท่านั้น ไม่ครอบคลุม การลงทะเบียนล่าช้า หรือค่าลงทะเบียนการท่องเที่ยวประกอบการประชุม excursion)
    • ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไป-กลับของการบินไทยชั้นประหยัด (หากตั๋วเครื่องบินของ สายการบินอื่นถูกกว่า 25% ของราคาการบินไทย สามารถใช้ตั๋วเครื่องบินของสายการบินนั้นได้ โดยแสดงเอกสารเปรียบเทียบราคา)
    • ค่าที่พักตามที่จ่ายจริง
    • ค่า VISA ตามที่จ่ายจริง (ไม่ครอบคลุม ค่าทำหนังสือเดินทางหรือค่าประกันการเดินทาง)

  9. ผู้ได้รับทุนสนับสนุน ต้องเขียนรายงานการเดินทางทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ ความคิดเห็น ปัญหาและข้อเสนอแนะที่ได้จากการเดินทางไปนำเสนอผลงานและร่วมประชุมวิชาการนั้น
    ให้กับโครงการฯ ภายหลังจากเสร็จสิ้นงานประชุมไม่เกิน 1 เดือน

    เอกสารประกอบการพิจารณา

    – เอกสารตอบรับการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า
    – ผลงานตีพิมพ์หรือต้นฉบับบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ ที่มีการขอบคุณโครงการทุน TGIST  โดย ผู้ได้รับทุน อาจารย์ และ นักวิจัย รับรอง
    – กำหนดการประชุม
    – ผลการเรียนล่าสุด และสำเนาผลงานทางวิชาการหรือรางวัลที่เคยได้รับ
    – ใบเสนอราคาค่าตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัด
    – ใบเสนอราคาค่าที่พักอย่างประหยัด
    – เอกสารค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่า  

การสนับสนุนทุนทำวิจัยระยะสั้นต่างประเทศ

     ทุน TGIST  สนับสนุนให้นักศึกษาผู้รับทุนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองผ่านการได้รับประสบการณ์วิจัยระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาเป็นนักวิจัยคุณภาพสูง โดยสนับสนุนอาจารย์ และนักวิจัย สวทช. ที่มีความพร้อม ให้ส่งนักศึกษาไปทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงหาผู้เชี่ยวชาญ  สถานที่ทำวิจัย และแหล่งเงินทุนวิจัยจากต่างประเทศ นักศึกษาสามารถเสนอขอรับการสนับสนุน  (โดยส่ง       ใบคำร้องพร้อมแบบฟอร์ม checklist และเอกสารแนบตามแนวทางดังนี้ ต้องยื่นขอรับทุนล่วงหน้า ก่อนเดินทางอย่างน้อย 3 เดือน)

    หลักเกณฑ์การให้การสนับสนุน

  1. คุณสมบัติของผู้ขอรับการสนับสนุน
    • ต้องเป็นผู้ได้รับทุน TGIST ระดับปริญญาเอกที่กำลังได้รับทุน (ช่วงเวลาเดินทางต้องอยู่ในระยะเวลาตามสัญญารับทุน)
    • ผ่านการสอบ proposal กับทางมหาวิทยาลัยแล้ว (แนบสำเนาใบสอบผ่าน proposal)
    • เป็นผู้มีความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยและมีศักยภาพสูง อาทิ บทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในฐาน ISI/SCOPUS และมีค่า Impact Factor หรือ อนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตร (แนบเอกสารแสดงผลการวิจัยและผลการเรียนล่าสุดระบุ

    ผลงานที่ผ่านมาใน checklist)

  2. งานวิจัยที่เสนอจะไปทำวิจัยระยะสั้นต่างประเทศต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ที่ได้รับทุน TGIST และเป็นหัวข้อหรือโจทย์ที่ได้ประโยชน์กับประเทศไทยโดยตรงและไม่สามารถทำวิจัยในประเทศไทยได้
  3. นักวิจัย สวทช. หรืออาจารย์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนักศึกษา ต้องมีส่วนร่วมหรือเชื่อมโยงในโครงการวิจัยนี้อย่างแท้จริง (แนบเอกสารแสดงการติดต่อและวางแผนงานร่วมกัน และแนบตารางแผนงานศึกษาวิจัย)
  4. เป็นองค์ความรู้งานวิจัย อุปกรณ์เครื่องมือ และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งไม่มีและไม่สามารถดำเนินการได้เองในประเทศไทย (แนบเอกสารแสดงหลักการเหตุผลและความจำเป็น)
  5. ได้รับการตอบรับจากอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศ สถาบัน หน่วยงาน หรือมหาวิทยาลัยที่จะไปทำวิจัยระยะสั้น (แนบประวัติย่อและผลงานของอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศ จดหมายตอบรับ)
  6. ค่าใช้จ่าย : ทุน TGIST สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยระยะสั้นต่างประเทศ ระยะเวลา 4 – 6 เดือน ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาท และแนบเอกสารประกอบดังนี้ (หากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ทำวิจัยนานเกินกว่านี้ จะต้องมีการสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ รองรับด้วย)

    เอกสารประกอบการพิจารณา

    – หนังสือขอรับรองการสนับสนุนที่ระบุเหตุผล ความจำเป็น ระยะเวลา และรายละเอียดการไปทำวิจัย พร้อมประโยชน์ที่อาจารย์และนักวิจัยจะได้รับ และแนบตารางแผนงานศึกษาวิจัย
    – เอกสารตอบรับการทำวิจัยระยะสั้นจากอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศ/สถาบันต่างประเทศ
    – ประวัติและผลงานของอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศ (CV) พร้อมจดหมายตอบรับ
    – สำเนาใบสอบผ่าน proposal
    – เอกสารแสดงผลการวิจัยและผลการเรียนล่าสุด ระบุผลงานที่ผ่านมาใน checklist
    – ใบเสนอราคาเปรียบเทียบของสายการบินชั้นประหยัดมากกว่า 1 สายการบิน (การบินไทยและ
    สายการบินอื่นๆ) ที่ระบุราคาค่าโดยสารชัดเจน ให้เลือกสายการบินที่ประหยัดกว่าการบินไทย 25% ได้
    (โดยปกติค่าโดยสารจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย กรุณาระบุช่วงวันเดินทางให้กับผู้เสนอราคาได้ทราบจะได้
    ค่าเดินทางที่ใกล้เคียงกับที่ใช้จ่ายจริง)
    – เอกสารรายละเอียดค่าวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุล 
    – ใบเสนอราคาค่าประกันสุขภาพส่วนบุคคล
    – เอกสารเกณฑ์การพิจารณาค่าเบี้ยเลี้ยงของ กพ. สำหรับประเทศนั้นๆ

* ขอให้ใช้จ่ายอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด 
** การพิจารณาให้การสนับสนุนจะพิจารณาเป็นรายบุคคลตามความจำเป็นและประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับเป็นหลัก ผู้รับการสนับสนุนต้องเขียนรายงานการเดินทาง ประสบการณ์ ความรู้ และความคิดเห็นที่ได้จากการเดินทางไปทำวิจัยระยะสั้น ส่งมาที่โครงการทุน TGIST หลังกลับมาถึงประเทศไทยแล้วไม่เกิน 1 เดือน (แบบฟอร์มดาวน์โหลดได้าก www.nstda.or.th/tgist/) **6