Pitching

แผงโซลาร์เซลล์ AgriPV ลดรังสียูวีและสะท้อนความร้อนเพื่อการเกษตร

บทเกริ่นนำ :

ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรมและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพทางการเกษตรบนพื้นที่เพาะปลูกที่จำกัดนั้นจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ควบคู่กันไปด้วย ปัจจุบันการประยุกต์ใช้ระบบแผงโซลาร์เซลล์ร่วมกับภาคการเกษตรไว้ในพื้นที่เดียวกันหรือ Agrivoltaics มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยที่ยังคงประสิทธิภาพผลผลิตและลดต้นทุนในกิจการด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทั้งด้านพลังงานและผลผลิตที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทยที่มีสภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดจัดตลอดเกือบทั้งปี การปลูกพืชใต้แผงโซลาร์เซลล์แบบมาตรฐานทั่วไปที่ทึบแสงจะทำให้เกิดเงามืดบนบริเวณเพาะปลูก ส่วนการใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบกึ่งส่องผ่านแสงจะทำให้แสงและความร้อนผ่านแผงได้มาก และด้วยโครงสร้างเป็นกระจก-กระจกจึงมีน้ำหนักมากกว่าแผงทั่วไปถึง 2 เท่า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนของโครงสร้างเพื่อรองรับน้ำหนักแผงเซลล์ฯที่มากขึ้น ส่วนการเพาะปลูกพืชร่วมกับพื้นที่โซลาร์ฟาร์มโดยตรงนั้นจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชที่มาจากเงาใต้แผงโซลาร์เซลล์รวมถึงความสูงของโครงสร้างรองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่จำกัดจึงอาจเกิดความเสียหายจากอุปกรณ์ที่ใช้ทำการเกษตรได้

ในงานวิจัยนี้ได้พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ AgriPV ที่มีสมบัติกึ่งส่องผ่านแสง สามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลต สะท้อนรังสีอินฟราเรดแบบใกล้และส่องผ่านช่วงความยาวคลื่น 400-700 nm หรือ Photosynthetically Active Radiation (PAR) เป็นช่วงแสงที่มีประโยชน์ต่อการสังเคราะห์แสงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชเพื่อประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรในการเพาะปลูกพืชใต้แผงโซลาร์เซลล์ การประยุกต์ใช้เป็นหลังคาโรงเรือน

จุดเด่นของเทคโนโลยี :

แผงเซลล์แสงอาทิตย์ AgriPV มีชั้นฟิล์มกรองรังสียูวี สะท้อนรังสีความร้อนและให้แสงช่วง Photosynthetically Active Radiation (PAR) ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชส่องผ่านได้ และช่วยลดอุณหภูมิภายใต้โรงเรือนการเกษตรหรืออาคารได้

คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์ :

  • กรองรังสียูวี สะท้อนรังสีความร้อนและให้แสงช่วง PAR ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชส่องผ่านและช่วยลดอุณหภูมิได้
  • สามารถทำการเพาะปลูกพืชควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้าได้

การประยุกต์ใช้งาน :

  • การเพาะปลูกพืชควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้าได้บนพื้นที่เดียวกัน อาทิ การติดตั้งเป็นหลังคาโรงเรือนการเกษตร
  • สามารถใช้กับงานอาคารได้ อาทิ กระจกอาคาร หลังคาโรงจอดรถ กันสาด

กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย :

กลุ่มลูกค้า : กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจการเกษตร กลุ่มธุรกิจติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ กลุ่มธุรกิจประกอบแผงโซลาร์เซลล์

ผู้ใช้งาน : เกษตรกรเพาะปลูก นักออกแบบ สถาปนิก 

กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย :

  • บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้รับมาตรฐาน ISO
  • กลุ่มธุรกิจการเกษตร

สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา :

ยื่นหนังสือมอบอำนาจและโอนสิทธิ

สถานการณ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ :

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เรื่อง แผงเซลล์แสงอาทิตย์กรองรังสีอัลตราไวโอเลตและสะท้อนรังสีอินฟราเรดแบบใกล้ เพื่อติดตั้งบนหลังคาโรงเรือน วันที่ยื่นคำขอ 27/09/2565

ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

ดร. ทวีวัฒน์ กระจ่างสังข์
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC)

โทรศัพท์: 082 077 6493
Email: taweewat.kra@entec.or.th