สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี
Technology Licensing Office
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
ทรัพย์สินทางปัญญา คือ อะไร

ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น หรือ สร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึงถึงประเภทของการสร้างสรรค์ หรือวิธีในการแสดงออก

ทรัพย์สินทางปัญญา อาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวความคิด กรรมวิธี เป็นต้น

ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา มีอะไรบ้าง

ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา มี ดังนี้

1. ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมตางๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้จะเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการ หรือเทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือที่เกี่ยวกับตัวสินค้า หรือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างสวยงามของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้า หรือยี่ห้อ ชื่อและถิ่นที่อยู่ทางการค้าที่รวมถึงแหล่งกำเนิดสินค้าและการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม จึงสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
  • สิทธิบัตร (Patent)
  • แบบผังภูมิวงจรรวม (Layout-Designs of Integrated Circuit)
  • เครื่องหมายการค้า (Trademark)
  • ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
  • ชื่อทางการค้า (Trade Name)
  • สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)

2. ลิขสิทธิ์ หมายถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนตร์ หรือ งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี หรือ แผนกศิลปะ แผนกวิทยาศาสตร์ ลิขสิทธิ์ยังรวมทั้งสิทธิข้างเคียง (Neighboring Right) ด้วย

ผลงานที่ขอรับสิทธิบัตรต้องมีลักษณะอย่างไร

กรณีสิทธิบัตร
ผลงานหรือการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

1. ต้องเป็นสิ่งใหม่
คำว่า “ใหม่” หมายความว่า งานนั้นต้องไม่เป็นสิ่งที่มีหรือใช้กันแพร่หลายในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร ต้องไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกประเทศก่อนวันขอรับสิทธิบัตร เว้นแต่เป็นการเปิดเผยโดยผู้ประดิษฐ์เองในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ หรือในงานแสดงต่อสาธารณชนของทางราชการเป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน ก่อนที่จะมีการขอรับสิทธิบัตร นอกจากนั้นยังต้องไม่เป็นงานที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรหรือได้รับสิทธิบัตรแล้วไม่ว่าในหรือนอกประเทศ
2. มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรต้องไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีที่สามารถคิดหรือทำได้โดยง่าย โดยผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทั่วไปในเรื่องนั้น โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่ทำขึ้นเพียงการใช้ทักษะของช่างฝีมือเท่านั้น เช่น การติดล้อที่ขาเก้าอี้เพื่อให้เลื่อนไปมาได้ เป็นต้น
3. สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้
การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรต้องเป็นผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม


กรณีสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรต้องมีลักษณะดังนี้

1. ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่
การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นต้องไม่ใช่แบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการผลิตหรือมีการใช้ในการผลิตอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศก่อนวันขอรับสิทธิบัตร หรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพในเอกสารหรือสิ่งตีพิมพ์ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศก็ตาม หรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการประกาศโฆษณามาก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
2. ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม
คือ เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หรือ หัตถกรรมได้


กรณีอนุสิทธิบัตร
การประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แต่ไม่ต้องมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

สามารถขอรับความคุ้มครองรูปร่างและลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่

ได้ เป็นการคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เรียกว่า "สิทธิบัตรการออกแบบ"

การอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี (Licensing) มีประโยชน์อย่างไร

• นโยบายของ สวทช. มุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ดังนั้น พันธกิจหลักของ TLO คือ การนำเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาของ สวทช. ออกสู่เชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์
• การนำเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์นั้นช่วยให้นักวิจัยได้รับทราบถึงความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมในประเทศ ก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ และนักวิจัย และได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบของรายได้เพื่อสนับสนุนการวิจัยต่อไป
• การอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีเป็นสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ถึง ความสำเร็จในการวิจัยและกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ เพิ่มการให้ทุนเพื่อการสนับสนุนการวิจัยมากขึ้น เนื่องจากผู้ให้ทุนสามารถเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงต่อเศรษฐกิจและสังคม

ขั้นตอนของการอนุญาตให้ใช้สิทธิมีอะไรบ้าง

1. ติดต่อประสานงานกับTLOเพื่อแจ้งชื่อผลงานวิจัยที่ท่านสนใจขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิและขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะความพร้อมของผลงานวิจัยนั้น
2. ดำเนินการเจรจาร่วมกันในขอบเขตของการอนุญาตสิทธิ (Term of Licensing)
    • ขอบเขตของเทคโนโลยีที่อนุญาตให้ใช้สิทธิ (Scope of Technology)
    • ระยะเวลาเงื่อนไขของการใช้สิทธิในเทคโนโลยี
    • บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้อนุญาตใช้สิทธิและผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
    • ขอบเขตของการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี (ในประเทศไทยหรือทั่วโลก)
    • ค่าตอบแทนจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งแบ่งเป็น
       - ค่าเปิดเผยเทคโนโลยี (Disclosure fee)
       - ค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty fee)
3. การจัดทำและลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Contractual Arrangement)
4. ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ตามแผนงานที่ตกลงกันไว้
5. การติดตามหลังการอนุญาตให้ใช้สิทธิ การให้คำปรึกษา หลังการถ่ายทอดเทคโนโลยีจะมีการติดตามสถานภาพของเทคโนโลยีที่ได้อนุญาตใช้สิทธิไป โดยพบปะเยี่ยมชม รวมถึงรับฟังปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไข

ผู้รับอนุญาตใช้สิทธิต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

• ผู้สนใจขอใช้สิทธิในเทคโนโลยี ต้องมีขีดความสามารถทางเทคนิค ทางการตลาด การเงินและการจัดการโครงการ เพียงพอที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
• ผู้สนใจขอใช้สิทธิในเทคโนโลยี ต้องมีความตั้งใจจริงที่จะนำเทคโนโลยีที่ต้องการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม ลดต้นทุนการผลิต/บริการ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งเหลือใช้ เป็นต้น
• ผู้สนใจขอใช้สิทธิในเทคโนโลยี ควรมีความรู้พื้นฐาน ความสนใจพิเศษ และ/หรือ บุคลากรที่เหมาะสมในการรับสิทธิในการใช้เทคโนโลยี
• ผู้สนใจขอใช้สิทธิในเทคโนโลยี ควรทำการประเมินโอกาสทางการตลาดเบื้องต้นของเทคโนโลยีที่สนใจไว้ล่วงหน้า

บทบาทของนักวิจัยหลังการอนุญาตใช้สิทธิมีอะไรบ้าง

• ทำการถ่ายทอด เปิดเผย เทคโนโลยีให้ผู้รับจนครบถ้วนตามที่ได้ตกลงกันไว้
• การเก็บรักษาความลับ โดยนักวิจัย และผู้ช่วยวิจัยในโครงการที่มีการอนุญาตใช้สิทธิ จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีให้ผู้อื่นที่มิใช้ผู้รับอนุญาตใช้สิทธิทราบ
• นักวิจัยสามารถดำเนินการวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยได้ โดยผลงานที่สวทช.ต่อยอดจะแจ้งให้ผู้รับอนุญาตทราบ และพิจารณารับสิทธิ

บทบาทของผู้รับอนุญาตใช้สิทธิหลังการอนุญาตใช้สิทธิมีอะไรบ้าง

• ผู้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากเทคโนโลยีนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา
• ผู้รับอนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีไม่สามารถโอนสิทธินี้ต่อให้แก่ผู้อื่น
• การจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) ผู้รับอนุญาตต้องรายงานผลการดำเนินงานเพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้อนุญาต