สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี
Technology Licensing Office
อนุภาคนาโนไขมันกักเก็บสารสำคัญจากฝีหมอบ (Polyalthia cerasoides)
นักวิจัย
ดร. ฐานิศร มหัตนิรันดร์กุล
หน่วยงาน
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
รูปแบบความร่วมมือที่เสนอ
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2103002565 ยื่นคำขอวันที่ 10 กันยายน 2564
สถานะงานวิจัย
ได้ต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
ต้นฝีหมอบ เป็นพืชท้องถิ่นที่มีการนำมาใช้ทางการแพทย์พื้นบ้าน และมีการศึกษาพบว่า ฝีหมอบมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เช่น ฤทธิ์ต้านอักเสบ, ต้านอนุมูลอิสระ และ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามพบว่าการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของต้นฝีหมอบ ไม่ว่าจะเป็นราก ลำต้น ใบ ดอกหรือผลนั้น ยังจำกัดอยู่ในรูปวัตถุดิบสดเท่านั้น เช่น การตำใบสดและนำไปพอกหน้า เพื่อรักษาสิว ซึ่งพบปัญหาสำคัญในการนำไปใช้งาน คือ ความไม่คงตัวของสาระสำคัญจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้องใช้สารปริมาณมากขึ้น ความเป็นพิษของสารเมื่อมีการใช้โดยตรง และความสามารถในการละลายน้ำที่ค่อนข้างต่ำทำให้การซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังเป็นไปได้ยาก เมื่อต้องการใช้ในรูปแบบยาทาภายนอก เหตุผลเหล่านี้ล้วนจำกัดให้การนำต้นฝีหมอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น การนำเทคโนโลยีนำส่งระดับนาโน (Nanoencapsulation Technology) เข้ามาช่วย จะสามารถทำให้นำฝีหมอบมาเตรียมให้อยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น
สรุปเทคโนโลยี
อนุภาคนาโนไขมันทรานธ์เอทโธโซม (Transethosom) ที่เตรียมขึ้นเพื่อกักเก็บและป้องกันสารสกัดฝีหมอบ จากสภาวะแวดล้อม เช่น ความร้อน แสงแดด อากาศ เป็นการเตรียมจากกลุ่มไขมันที่สามารถเข้ากันได้กับร่างกาย (Biocompatible) และไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ จากผลการทดสอบพบว่า เมื่อนำสารสกัดฝีหมอบมากักเก็บในอนุภาคนาโนไขมันได้อนุภาคที่มีความคงตัวดี มีความเป็นพิษต่อเซลล์ต่ำ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระไม่แตกต่างจากสารสกัดฝีหมอบ นอกจากนี้ อนุภาคดังกล่าวยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านการอักเสบได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การนำสารสกัดฝีหมอบมากักเก็บในอนุภาคนาโนไขมัน ทำให้สามารถนำเอาสารสกัดฝีหมอบมาอยู่ในรูปแบบที่ใช้ประโยชน์ได้ง่าย และประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง และยังเป็นการนำสมุนไพรของไทยที่มีประโยชน์มาเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย
สนใจสอบถามข้อมูล
คุณบุษรินทร์ ตานะ
งานพัฒนาธุรกิจ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทรศัพท์: 025647100 ต่อ 6503
E-mail: bootsarin.tan@nanotec.or.th