สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี Technology Licensing Office |
ดาวน์โหลดเอกสาร |
|
นักวิจัย นางวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย และคณะ |
|
หน่วยงาน ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) |
|
รูปแบบความร่วมมือที่เสนอ เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ |
|
สถานภาพสิทธิบัตร คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1603000321 เรื่อง กรรมวิธีการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย V.parahaemolyticus ก่อโรคตับตายเฉียบพลันในกุ้ง ยื่นคำขอวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 |
|
สถานะงานวิจัย ได้ต้นแบบระดับ pilot scale |
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา จากการศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุของอาการตับตายเฉียบพลัน Acute Hepatopancreatic Necrosis Syndrome (AHPNS) สาเหตุหนึ่งของโรคกุ้งตายด่วน หรือ EMS ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน แต่ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือกุ้งจะมีลักษณะอาการตับตายเฉียบพลัน จากผลการวิจัยจากกว่า 10 ห้องปฏิบัติทั่วโลกได้ผลที่สอดคล้องกัน คือตัวอย่างกุ้งที่ป่วยพบแบคทีเรียกลุ่มวิบริโอ จำนวนมาก โดยเฉพาะ Vibrio parahaemolyticus ดังนั้นการควบคุมปริมาณเชื้อวิบริโอในทุกช่วงอายุของกุ้ง จะช่วยให้กุ้งรอดจากอาการตับตายเฉียบพลันหรืออาการตายด่วนได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีรายงานการพัฒนาเทคนิคทางอณูชีววิทยาในการตรวจแบคทีเรียวิบริโออยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่ยังขาดชุดตรวจสำเร็จรูปที่มีขั้นตอนการตรวจที่ง่าย ไว และราคาถูก ชุดตรวจนี้เป็นชุดตรวจที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่เพาะเลี้ยง เช่นฟาร์มขนาดเล็ก หรือโรงเพาะฟัก ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรสามารถทำการตรวจวิเคราะห์โรคเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง |
สรุปเทคโนโลยี โรคตายด่วนนี้มีหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการตับตายเฉียบพลัน Amp-Gold เป็นชุดตรวจเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์นี้โดยใช้เทคนิคแลมป์ร่วมกับการตัวตรวจจับ DNA ที่ติดฉลากด้วยอนุภาคทองคำนาโน กล่าวคือถ้ามีการติดเชื้อจะให้สีแดงซึ่งเป็นสีของอนุภาคทองคำนาโน แต่ถ้าไม่พบการติดเชื้อจะเห็นเป็นสีม่วงเทาและเมื่อปล่อยทิ้งไว้อนุภาคทองคำนาโนจะตกตะกอนลงมาที่ก้นหลอดทำให้สารละลายใส Amp-Gold สามารถจับจำเพาะต่อ toxin gene ของแบคทีเรียวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส โดยทำปฏิกิริยาแลมป์ที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที แล้วนำผลผลิตแลมป์มาเติมลงในตัวตรวจจับ DNA ที่ติดฉลากด้วยอนุภาคทองคำนาโน แล้วบ่มที่อุณหภูมิเดิมอีก 5 นาที ต่อจากนั้นเติมเกลือแม็กนีเซียมซัลเฟต แล้วอ่านผลการทดสอบ เทคนิคนี้ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมีความไวในการตรวจที่ 100 CFU ซึ่งไวกว่าเทคนิคพีซีอาร์ที่ใช้อยู่ 100 เท่า และมีความไวเทียบเท่ากับเทคนิค nested PCR อีกทั้งไม่ให้ผลบวกเมื่อทดสอบกับดีเอ็นเอของแบคทีเรียชนิดอื่นๆที่พบได้ทั่วไปตามบ่อเลี้ยงกุ้ง เทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นเทคนิคที่ใช้เวลาในการตรวจสั้น ใช้ง่ายและราคาถูก ไม่ต้องใช้เครื่อง PCR หรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง สามารถนำไปใช้ได้ในโรงเพาะเลี้ยงขนาดเล็กหรือฟาร์มขนาดเล็ก สามารถใช้ตรวจได้กับกุ้งทุกระยะการเลี้ยงเพื่อช่วยลดการระบาดของโรคชนิดนี้ |
สนใจสอบถามข้อมูล รัชวรรณ ฐานัตถวงศ์เจริญ สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช. โทรศัพท์: 0-2564-7000 ต่อ 1357 E-mail: ratchawan.tan@nstda.or.th |