ข่าวประชาสัมพันธ์
เยาวชนไทยเจ๋ง คว้า 6 รางวัล บนเวทีประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก
22 พฤษภาคม 2564 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยคว้า 6 รางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Virtual Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF 2021) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม 2564 โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,834 คน จาก 64 ประเทศ รวมถึง 49 มลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก “Virtual Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF 2021)” ถือเป็นเวทีประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลก เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์มาสร้างสรรค์เป็นผลงานผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนก้าวสู่การเป็นนักวิจัยสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
“ในนามของ สวทช. ขอแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้งกับการคว้า 6 รางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปมีใจรักและสนใจวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ และในอนาคตจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวต่อไป” ดร.ณรงค์ กล่าว
รางวัลที่ทีมเยาวชนไทยได้รับในปีนี้รวม 6 รางวัล แบ่งเป็นรางวัล Grand Awards 4 รางวัล และรางวัลพิเศษ Special Awards อีก 2 รางวัล ได้แก่
รางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขา Computational Biology and Bioinformatics ได้แก่ “โครงงานการประยุกต์ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อทำนายฤทธิ์ทางชีวภาพของลิแกนด์ในกระบวนการค้นหายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอด สำหรับโมเลกุลเป้าหมาย EGFR” พัฒนาโดยนายณัฐกันต์ แสงนิล และนายภูริ วิรการินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ และนายธนศานต์ นิลสุ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (จากโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Young Scientist Competition: YSC 2021)
รางวัล Grand Awards อันดับ 2 สาขา Chemistry ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบไอออนโลหะหนักชนิดกระดาษ” พัฒนาโดย นายกิจการ นำสว่างรุ่งเรือง นายดวิษ บุญยกิจโณทัย และนายธิติ เถลิงบุญสิริ อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.สุรนันท์ อนันตชัยศิลป์ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (จากโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Young Scientist Competition: YSC 2021)
รางวัล Grand Awards อันดับ 4 สาขา Animal Sciences ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาการเพาะเลี้ยงด้วงเต่าต้นแบบสู่การควบคุมแมลงศัตรูพืช” พัฒนาโดยนางสาววรินยุพา งานเจริญวงศ์ ด.ญ. นัยน์ปพร กำหอม และ ด.ช. ธนกร ศิลาพันธุ์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายอัครวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) (จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ)
รางวัล Grand Awards อันดับ 4 สาขา Biomedical and Health Sciences ได้แก่ “โครงงาน “นวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต เเละค่ากรดเบส สู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน” พัฒนาโดยนายพัฒฒ์ พฤฒิวิลัย นายกฤษฏิ์ กสิกพันธุ์ และนายกรวีร์ ลีลาอดิศร อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (จากโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Young Scientist Competition: YSC 2021)
รางวัลพิเศษ Special Awards อันดับ 1 สาขา Life Science จาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society สำหรับโครงงานที่มีความยอดเยี่ยมในการทำงานวิจัยสหสาขาวิทยาการ (the best demonstration of interdisciplinary research) จากการนำเสนอผลงานในหัวข้อ โครงงาน “นวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณแคลเซียมฟอสเฟต เเละค่ากรดเบส สู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน” โดยนายพัฒฒ์ พฤฒิวิลัย นายกฤษฏิ์ กสิกพันธุ์ และนายกรวีร์ ลีลาอดิศร อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (จากโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Young Scientist Competition: YSC 2021)
รางวัลพิเศษ Special Awards อันดับ 3 จาก The American Chemical Society (ACS) จากการนำเสนอผลงานสาขาเคมี ในหัวข้อ “รงควัตถุดัดแปรคลอโรฟิลล์จากสารสกัดของวัชพืชเพื่อเป็นสีย้อมไวแสงอินทรีย์สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสง:การศึกษาขั้นต้นในเชิงการดัดแปรโครงสร้าง” โดย นายสพล ไม้สนธิ์ นายเสฏนันท์ ทรวงบูรณกุล และ นายศุภวิชญ์ พรหมโคตร จาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ)
ในปีนี้ประเทศไทยได้ส่งโครงงานจากเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันรวม 16 ทีม โดยการสนับสนุนของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)