แนะนำโครงการ “การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์” (Young Scientist Competition)
การศึกษาและวิทยาศาสตร์เป็นกุญแจสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนของประเทศ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งเวทีการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้และสนุกไปกับการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน เยาวชนได้มีโอกาสตระหนักและร่วมกันคิดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน Sustainable พร้อมทั้งยังมีโอกาสได้แสดงศักยภาพ และพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ
เด็กและเยาวชนของชาติเป็นบุคคลที่มีบทบาทและส่วนสำคัญอย่างยิ่ง การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานและกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจและเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน อีกทั้งสนับสนุนให้เยาวชนรู้จักใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ประสานกับความรู้และหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลงานหรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี 2541 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จึงได้ริเริ่มโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ โดยได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม และเพื่อคัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดในงาน International Science and Engineering Fair (ISEF) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนผลักดันให้ผลงานเยาวชนไทยเป็นประจักษ์ในเวทีโลก
ต่อมาในปี 2562 สวทช. จึงได้เชิญคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคภาคตะวันตก เพื่อรองรับการการขยายตัวของนักเรียนที่ให้ความสนใจในการพัฒนาผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน ในการสนับสนุนให้เยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันการประกวดโครงงานในระดับนานาชาติ และในปี 2564 สวทช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการสนับสนุนทุนพัฒนาโครงงานแห่งแก่นักพัฒนาและนวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
สำหรับการรับสมัคร นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 6 ที่สนใจ และคุณครูที่ปรึกษาโครงงาน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันผ่านระบบจัดการข้อมูลและกิจกรรมด้าน ว. และ ท. (S&T Information and Activities Management System) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ระบบ SIMS โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://www.nstda.or.th/sims/login
ตามช่วงเวลาที่โครงการฯ เปิดรับสมัครในแต่ละปี โดยศึกษาข้อมูลการลงทะเบียนและรายละเอียดโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/ysc หรือติดต่อศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการฯ พร้อมทั้งติดตามข่าวได้ที่เพจ Facebook: YSC Thailand Fanpage เข้าร่วมกลุ่ม Facebook: YSC Thailand หรือติดตามข่าวสารคลิปการแข่งขันได้อีก 2 ช่องทางผ่าน Instagram: @YSCThailand และ Youtube channel: YSC Thailand