สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมดำเนินการวิจัย โครงการนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 ณ โรงแรม อโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ
โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ประกาศผลการพิจารณา
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า นักวิจัยมีส่วนสำคัญในการผลิตผลงานวิจัยเพื่อออกมาขับเคลื่อนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ นักวิจัยแกนนำ นับเป็นนักวิจัยที่เป็นแกนนำในทุกด้านของการวิจัยและพัฒนา ทั้งแกนนำการวิจัย และแกนนำในการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในประชาคมวิจัยของประเทศ ท่ามกลางความท้าทายที่หลากหลาย ซึ่งคาดหวังให้ผลงานของนักวิจัยแกนนำ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในบริบทที่เกี่ยวข้อง สร้างรากฐานที่เข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จะได้มีการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานจากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการของนักวิจัยแกนนำ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. และเลขานุการคณะกรรมการด้านการส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยแกนนำ กล่าวว่า โครงการนักวิจัยแกนนำ เป็นหนึ่งในกลไกที่ สวทช. เล็งเห็นว่า สามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัย จำนวน 20 โครงการ ที่ส่งเข้ารับการพิจารณาภายใต้โครงการนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 ในปีนี้ คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนนักวิจัย จำนวน 3 ท่าน เป็นนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 ประกอบด้วย นักวิจัยด้านการแพทย์ 1 ท่าน และนักวิจัยด้านวิศวกรรมก่อสร้าง 2 ท่าน
นักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 ได้แก่
1. ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร สังกัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแนวทางการรักษาแบบใหม่ โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์และการใช้ยามุ่งเป้าไปที่ไมโตคอนเดรีย เพื่อป้องกันรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวและสมองเสื่อมจากการใช้ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็ง”
งบประมาณรวม 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี
2. ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล สังกัด สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานการปฏิบัติงานก่อสร้างอย่างยั่งยืน”
งบประมาณรวม 15 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี
3. ศ.ดร.สุขสันต์ หอพิบูลสุข สังกัด ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
จากโครงการวิจัยเรื่อง“นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน”
งบประมาณรวม 15 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี
ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยแกนนำทั้ง 3 ท่าน จะมุ่งเน้นทั้งงานวิจัยในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ บทความวิชาการ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้นแบบเทคโนโลยี และสิทธิบัตร