บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นายสุรศักดิ์ พุทธินันท์

บทสัมภาษณ์นายสุรศักดิ์ พุทธินันท์ วิศวกรอาวุโส ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.)  เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์นายสุรศักดิ์ พุทธินันท์ วิศวกรอาวุโส ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.)  สวทช. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • นายสุรศักดิ์ พุทธินันท์
  • ตำแหน่ง วิศวกรอาวุโส
    ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) สวทช.

แนะนำตัวเอง

เริ่มงานวันแรกที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2543 ที่อาคารวิจัยโยธี ในตำแหน่งวิศวกร ภารกิจแรกที่ได้รับมอบหมายจะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมสำหรับการย้ายหน่วยงานส่วนใหญ่จากอาคารวิจัยโยธี มายังอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และในปัจจุบันเป็นวิศวกรอาวุโส รับผิดชอบในส่วนการบำรุงรักษาและให้การคำปรึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ของ ศว. จากวันนั้นถึงวันนี้ทำงานมาแล้ว 22 ปีเศษ

ทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับงานวิศวกร

หลัการพื้นฐานด้านวิชาการเป็นสิ่งที่สำคัญการมีพื้นฐานที่ดีจะสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ไปได้มาก ทักษะที่จำเป็นของวิศวกรคือ “ความอดทน ขยัน และช่างสังเกตุ” (ความเห็นส่วนตัว)

ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว

ด้วยตำแหน่งวิศวกร งานที่ทำจึงเกี่ยวกับงานทางด้านวิศวกรรมเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ กล่าวคือ ในช่วง 10 ปีแรกที่เข้ามาทำงาน จะเป็นงานวิศวกรรมด้านการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการติดตั้งเครื่องจักรและเครื่องมือ เพื่อใช้ในสำนักงานและห้องวิจัย ส่วนในช่วง 10 ปีท้าย จะเป็นเรื่องของการซ่อมบำรุง และดูแลรักษา ทั้ง 2 ช่วงเวลาที่ทำงาน เริ่มตั้งแต่การออกแบบ งานด้านสถาปัตย์ การควบคุมงาน  ในส่วนของห้องสมุดของ ศว. ก็มีส่วนร่วมดำเนินการด้วยในช่วงแรกๆ แต่ผมเองอาจจะมีความชำนาญไม่มากนักในบางเรื่อง ผลงานที่ออกมาก็อาจจะมีรูปลักษณ์ที่ไม่ได้ถูกใจผู้ใช้มากเท่าไหร่แต่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ คือสิ่งที่ภาคภูมิใจ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการทำงานร่วมกันเป็นทีม

การร่วมแรงร่วมใจกันลงมือทำและการประสานงานจากหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้งานสำเร็จออกมาได้ ส่วนมากจะเป็นงานที่อยู่เบื้องหลังซึ่งต้องใช้ความทุ่มเทและเสียสละของทีมที่ทำงาน  เนื่องจากงานการปรับปรุงพื้นที่ ที่มีผู้ใช้งานอยู่แล้วมักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างผลกระทบต่อบุคลากรและพื้นที่รอบข้าง ในช่วงการปรับปรุงพื้นที่ จะต้องมีการประสานงานกับหลายๆ ภาคส่วน เพื่อให้งานสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่และผู้ใช้งานให้น้อยที่สุด เมื่องานสำเร็จทุกคนก็ภูมิใจ

ความท้าทายที่ได้พบระหว่างการทำงาน และวิธีรับมือหรือการแก้ไขปัญหา

ความท้าทายในการทำงานเกิดจากความคาดหวังว่างานที่ได้รับมอบหมายจะต้องสำเร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด แต่สุดท้ายแล้วมันอาจจะมีบางงานที่ไม่สามารถทำงานและส่งมอบได้ตามกรอบเวลา วิธีการรับมือกับเรื่องนี้ คือ “ถอยออกมาตั้งหลักก่อนแล้วค่อยกลับไปทำใหม่” ทำไมถึงต้องถอยออกมา ถอยออกมาเพื่อให้เกิดการผ่อนคลายไม่หมกมุ่นจนเกินไป ซึ่งจะบั่นทอนความคิดและแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหา การถอยออกมาอาจจะทำให้มีมุมมองในการแก้ปัญหาที่กว้างและครอบคลุมมากขึ้น

วิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดองค์ความรู้

“ลงมือทำจริง เจอปัญหาจริง” แล้วมองดูอยู่ห่าง ๆ หากระหว่างการทำงานเกิดปัญหาและน้อง ๆ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จะเข้าไปช่วยเหลือ ธรรมชาติของมนุษย์เรามีความรั้นอยู่ในตัวเอง การไปบอกให้เค้าทำบางอย่างเค้าอาจจะต่อต้านก็ได้ บางครั้งอาจต้องให้เผชิญกับปัญหาด้วยตัวเอง โดยคอยดูอยู่ห่างๆ และให้คำแนะนำและหาทางออกสำหรับปัญหานั้นด้วย ลองนึกถึงตอนที่ เด็กที่เริ่มหัดเดินหรือเริ่มหัดขี่จักรยานใหม่ ต้องมีการล้มและเจ็บตัวเป็นเรื่องธรรมดา แต่งมันก็ทำให้เกิดประสพการณ์การเรียนรู้ ที่จะติดตัวตลอดไป

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช.

ประทับใจกับการทำงานที่มีความเป็นอิสระทางความคิดและให้โอกาส มีความคล่องตัวในการทำงาน และสวทช. มีทรัพยากรที่พร้อมทำให้การทำงานเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น

ภาพในอนาคตที่อยากเห็นของ สวทช.

สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้นอยากเห็นว่า สวทช. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้องค์กรเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตของ สวทช. ไปผูกกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งของประเทศ ซึ่งบ่งบอกว่าประเทศที่มีการพัฒนาอยู่ในระดับใด ปัจจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการลงทุน เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

เตรียมตัวหลังเกษียณ และวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

เตรียมตัวในเรื่องพื้นฐานคือเรื่องสุขภาพ และการเงิน แผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณตั้งใจไปใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด เพราะค่าครองชีพไม่สูงมากนัก เงินออมที่มีอยู่น่าจะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพไม่ลำบากมากนัก และสิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรกคือการปล่อยวาง และวางมือกับงานที่เคยทำอยู่ประจำ ผมมีคติว่า “เสร็จงานแล้ววางมือ คือหนทางแห่งสวรรค์” ความหมายคือ เมื่อทำงานใดสำเสร็จแล้วก็ให้ถอยออกมา อย่ายึดถือว่านั่นเป็นผลงานของตัวเองตลอดไป เก็บไว้แค่ความภูมใจเล็กๆ ก็พอ วันเวลาผ่านไปผลงานที่เราเคยทำไว้ในวันนี้ วันข้างหน้าก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามเหตุและปัจจัย ตามกฎของไตรลักษณ์ ฉะนั้นอย่าไปยึดติดอะไรมากมาย วางได้ก็วาง ให้รุ่นต่อไปรับช่วงต่อไปดูแลแล้วเราก็ไปใช้ชีวิตที่เหลือของเราไปตามวิถีแห่งธรรม