บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์

บทสัมภาษณ์ ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สวทช. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้ เป็นบทสัมภาษณ์ ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สวทช. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์
ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์
  • ตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่าย สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สวทช.

แนะนำตัวเอง

ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานที่ สวทช. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 จนถึงวันนี้รวมแล้ว 25 ปี 8 เดือน 10 วัน เริ่มงานด้วยตำแหน่งนักวิชาการ ที่ฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต หรือ CFA เดิมชื่อสถาบันวิทยาการ สวทช. หรือ NSTDA Academy

เส้นทางการทำงานก่อนจะมาอยู่ในรั้ว สวทช.

การทำงานเริ่มแรกทำงานทางด้านคอมพิวเตอร์เพราะเป็นความชอบส่วนตัว หลังจากเรียบจบระดับปริญญาเอก
ได้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารบริษัทคอมพิวเตอร์ของตัวเองราว 2 ปี และได้ไปทำงานเป็น Product Manager ที่บริษัทเครื่องมือแพทย์ โดยบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปควบคุมการทำงาน ทำงานที่นี่ได้อีกสักระยะจึงไปเริ่มทำงานกับ สวทช. ในปี พ.ศ.2541

ความรู้ที่สำคัญในงาน หรือมีวิธีการเทคนิคอย่างไรในการทำงาน

ความรู้ความสามารถที่สำคัญในการทำงานเมื่อทำงานที่ ITAP ความรู้สำคัญ คือ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นอกจากความรู้ด้าน วทน. แล้วจะต้องใฝ่รู้อยากจะรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญ และเมื่อตนเองได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต หรือ CFA จะต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ให้คำปรึกษาแก้ปัญหาให้กับทีมได้

ดร.ศิริชัย เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการ แรก ๆ ที่ CFA ยังมีหลักสูตรไม่มากนักหลักสูตรที่มีอยู่จะเป็นหลักสูตรที่รับมรดกมาจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC หลักสูตรเน้นไปทางด้านไอทีราว 200 หลักสูตร และยังมีหลักสูตรด้าน Green practice จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC นอกจากนั้นไม่มีหลักสูตรใดอีกเลย เมื่อได้มาเป็นผู้อำนวยการที่นี่ด้วยความที่มีความรู้ทางด้านอินทรีย์เคมี จึงสามารถเชื่อมโยงหลักสูตรทางด้านชีววิทยา ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร และด้านวัตถุดิบใหม่ เช่น polymer ยาง ปิโตรเคมีคอล รวมทั้งความรู้ใหม่ๆ ทางด้านไอที เช่น IOT 3D printing และรวมไปถึง AI จากการเขื่อมโยงความรู้พื้นฐานที่พี่มีด้านเคมีอินทรีย์ดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้ปัจจุบันนี้ CFA สามารถสร้างหลักสูตรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และปัจจุบันมีหลักสูตรรวมแล้วกว่า 500 หลักสูตร

ดร.ศิริชัย ได้สรุปถึง ความรู้ที่สำคัญในงาน ไว้ 2 ข้อ คือ 1. รักเรียนรู้ในสิ่งใหม่ 2 มีจิตอยากเผยแพร่ แบ่งปันความรู้ ทั้ง 2 ข้อนี้คือหัวใจสำคัญของความสามารถที่จะมาเป็นผู้บริหาร จะช่วยให้การทำงานไปอย่างราบรื่นและก้าวหน้าไปได้ด้วยดี

 คติประจำใจในการทำงาน

ทำงานในหน้าที่ในเวลาที่ถูกต้อง หากอยู่บ้านเราทำงานเป็นพ่อบ้าน เพื่อน พ่อ อยู่ที่ทำงานเราต้องทำงานตามนามบัตรของเรา เมื่ออยู่ในบริบทของผู้จัดการเมื่อสมัยที่ทำงานที่ ITAP จะต้องเป็นที่ปรึกษาให้กับน้อง ๆ ในทีม และต้องคอยให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ภารกิจของบุคลการ ITAP จะต้องออกไปพบปะกับภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการเพื่อนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาคอุตสาหกรรม โรงงาน ให้ดีขึ้น สิ่งที่จะต้องทำคืออนุมัติการเดินทาง หรือให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาก่อนออกไปพบปะกับภาคต่าง ๆ

เมื่อต้องมาอยู่ในบทบาทของผู้อำนวยการที่ CFA ต้องช่วยทีมคิดหลักสูตรใหม่ๆ และต้องให้แนวคิดกับน้องๆ จนสามารถพัฒนาออกมาเป็นหลักสูตรใหม่ๆ ได้ แม้กระทั่งการหาวิทยากรต้องลงไปช่วยกล่อมวิทยากรให้มาสอนให้กับ CFA และขอให้มาสอนแบบคนฟังไม่หลับ [หัวเราะ] พี่จะทำให้เห็นโดยให้น้อง ๆ เข้ามาเรียนรู้ด้วยเวลาที่พี่ทำงาน

เพราะฉะนั้นหน้าที่ตามเวลาสำคัญมาก ต้องทำให้เป็นอย่าเอาหน้าที่ที่บ้านมาใช้ที่ทำงาน [หัวเราะ] และพี่มีแนวคิดอยู่ข้อหนึ่งที่พี่ใช้มาโดยตลอด คือ “เวลาพี่บอกให้ทำ ขอให้น้องรับปากที่จะทำ เก็บไปคิด และกลับมาคุยกับพี่ว่าทำได้ ไม่ได้อย่างไร ต้องการการช่วยเหลืออะไร” อันนี้เป็นหัวใจ มากกว่าที่จะปฏิเสธงานไปเลย ซึ่งพี่เองก็ใช้แนวคิดนี้ในการทำงานกับผู้บังคับบัญชาเช่นกัน เวลาที่ผู้บังคับบัญชาต้องการความช่วยเหลือจากพี่ พี่จะรับปากก่อนแล้วรีบกลับไปพิจารณาว่าเราต้องการอะไรเพื่อให้งานนี้สำเร็จได้ เช่น ต้องการงบประมาณเพิ่มขึ้น ต้องการเวลาในการดำเนินงานมากขึ้น ต้องการบุคลากรมาร่วมงานมากขึ้น หรือต้องการความรู้ด้านอื่น ๆ เมื่อตกผลึกได้แล้วให้รีบกลับไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาที่มอบหมายงาน ความหมายของพี่คือ “คนทำงานทุกคนต้องมีความเข้าใจในงานของตัวเองเป็นอย่างดีก่อน เมื่อกลับไปคิดแล้ว่างานนี้เราทำได้แน่นอน แต่ต้องการบางสิ่งบางอย่างมาช่วย ทุกคนก็จะไม่มีปัญหาในการทำงาน” หลักคิดนี้ยังคงเป็นหลักคิดที่ดีในการทำงานและพี่ใช้หลักคิดนี้มาโดยตลอด

การให้โอกาสคนเป็นอีกสิ่งที่สำคัญอีก การทำงานไม่สามารถหลีกหนีเรื่องของข้อผิดพลาด แต่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้วต้องให้โอกาส โดยการลงไปคุยถึงข้อผิดผลาดที่เกิดขึ้น หาทางออกร่วมกันและแนะนำข้อที่ควรปรับปรุงเพื่อไม่เกิดการผิดพลาดซ้ำ “ข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเราจะต้องไม่ทำซ้ำ แต่เรามาเริ่มใหม่ไปด้วยกัน”

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

ผลงานที่ภาคภูมิใจ คือการได้การช่วยผลักดันการฝึกอบรมหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางแห่งแรกในประเทศไทย ดร.ศิริชัย เล่าถึงที่มาของหลักสูตรการฝึกอบรมนี้ว่า แต่เดิม สวทช. มีหน่วยวิจัยเทคโนโลยีระบบราง นอกจากจะทำงานวิจัยด้านระบบรางแล้วแต่ยังมีภารกิจที่สำคัญคือการสร้างหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง ได้รับทุนอุดหนุน 100% จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดำเนินการจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะยาวรุ่นละ 3 เดือน และมีการดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อดูงานด้านการซ่อมบำรุงระบบราง การควบคุมสัญญาณ ทุกอย่างเดินไปได้อย่างราบรื่น เริ่มรุ่นที่  6 หน่วยวิจัยเทคโนโลยีระบบรางไม่ได้ดำเนินการต่อ แต่หลักสูตรวิศวกรรมระบบรางยังได้รับความสนใจจึงได้มอบหลักสูตรนี้ให้กับ NSTDA Academy ในขณะนั้น การจัดหลักสูตรในปีแรก หน่วยงานที่ให้ทุนหายไป 1 หน่วยงาน [หัวเราะ] ทำให้เราต้องเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้สนใจมาสมัครเข้ารับการอบรม ซึ่งหลักสูตนี้ในตอนต้นไม่ได้มีการจัดเก็บค่าเข้ารับการฝึกอบรมแต่อย่างใด แต่เมื่อแหล่งทุนหายไปเราจำเป็นจะต้องเก็บเงินค่าอบรมเราจัดกันมา 2 รุ่นคือ รุ่นที่ 6 และ รุ่นที่ 7 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะหลักสูตรนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดทำมาก่อน เริ่มรุ่นที่ 8 หน่วยงานที่ให้ทุนก็หายไปอีก 1 หน่วย [หัวเราะ] กลายเป็นว่าหลักสูตรนี้มีความจำเป็นจะต้องเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้เรียน 100% ในแต่ละรุ่นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีลงทะเบียนเรียนราว 40 กว่าคนต่อรุ่น และได้มีการจัดกันมาอย่างต่อเนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นี้คือรุ่นที่ 10 แล้ว ความท้าทายคือ หลักสูตรนี้การดำเนินการค่อนข้างยากมาก ปัจจัยหลักคือไม่ได้เป็นหลักสูตรที่คิดขึ้นเองแต่เป็นหลักสูตรที่รับช่วงต่อมาและต้องมาเดินต่อเองจนสำเร็จ และทำให้ สวทช. เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ความท้าทายในการทำงานและมีวิธีการในการจัดการอย่างไร

ดร.ศิริชัย เล่าถึงความท้าทายในการทำงาน ความท้าทายจากภายในองค์กรในเรื่องของข้อจำกัดของงบประมาณ การจำกัดด้านค่าใช้จ่าย บุคลากร เราจึงต้องหาสิ่งที่จะทำให้เกิดผลงานได้มากขึ้นโดย คัดเลือกจากกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ใช้ทรัพยากรเท่าเดิม หรือเลือกงานที่เคยทำมาแล้วหรืองานที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การจัดหลักสูตรให้กับผู้บริหาร เราสามารถคิดค่าใช้จ่ายได้สูงกว่าการจัดหลักสูตรให้กับผู้จัดการ หรือนักเทคนิคทั่วไป หรือการจัดงานสัมมนาจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากใช้เวลาในการจัดเท่ากันแต่มีรายได้เข้ามาจำนวนมาก หรือสร้างความหลากหลายในการจัดกิจกรรมในการพาไปดูงานต่างประเทศ CFA เคยจัดหลักสูตรการอบรมที่มีการไปดูงานอุตสาหกรรม EV ที่ต่างประเทศ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมคือ ผู้บริหารด้าน EV ทั้งการไฟฟ้า ผู้ประกอบการ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่งดีเพราะเค้ามองเห็นถึงอนาคตของประเทศไทยว่าหากมีการใช้ EV กันอย่างแพร่หลาย จะพบกับปัญหาอะไรบ้างและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร หลักสูตรนี้เก็บค่าเรียน 170,000 บาทต่อคน จากการจัดกิจกรรมนี้ทำให้เราได้รายได้หลายล้านบาท นี่คือตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น

จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ผลการดำเนินงานของ CFA ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนการฝึกอบรมในรูปแบบรวมกลุ่มกันมาเรียนในห้องเดียวกันได้ ปรับเป็นการจัดกิจกรรมแบบ online ทดแทน ในช่วงต้นยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะผู้บริหารหน่วยงานที่อนุมัติให้บุคคลเข้ารับการอบรมแบบ online ไม่เชื่อมั่นว่าการเรียนแบบ online จะทำให้บุคลากรของเค้าดีขึ้นเก่งขึ้น ตามที่คาดหวัง CFA เองก็ต้องยอมรับว่าการฝึกอบรมในบางหัวข้อ ยกตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีจะต้องเป็นการฝึกอบรมแบบ workshop ต้องเห็นหน้างานจริง ลงมือปฏิบัติจริง จึงจะเข้าใจ

แนวทาง วิธีการในการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ทีมงาน

การสร้างประสบการณ์และส่งต่อความรู้ดำเนินการมาตั้งแต่ตอนเป็นผู้อำนวยการแล้ว คือให้แนวคิดในและวิธีทำงานกระจายออกไปทั่วทั้งองค์กร ให้ทุกคนในทีมสามารถทำงานได้โดยมีเพื่อนๆ เป็นพันธมิตร ทั้งการแบ่งปันความรู้และข้อมูลร่วมกัน สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้การทำงานทุกคนไม่มีความแตกต่างกันมาก ในการทำงานพี่จะบอกทุกคนเสมอว่า เราต้องรีบทำงาน เมื่อเรารับงานมาแล้วเราจะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว เวลาเราทำงานกับใครก็ตามจะต้องให้เกียรติ รู้จักว่าเค้ามีเวลาน้อยเท่าเราดังนั้นเราจะต้องรีบทำงานให้เร็ว สิ่งที่พี่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือทำให้น้องๆ ในทีมได้เห็น และลงมือทำไปทำด้วยกัน [ยิ้ม]

ความประทับใจที่มีต่อองค์กร สวทช. และการทำงานใน สวทช.

สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงเราก็มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ สวทช. มีความรู้สึกดีว่าเวลาเราไปทำงานกับหน่วยงานอื่นนอก สวทช. มักจะได้รับการชื่นชมและให้เกียรติเราเสมอ พี่รู้สึกว่าพี่ได้อยู่ในองค์กรที่มีเกียรติ สวทช. เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานได้ทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และให้ทำหลายสิ่งหลายอย่างในวิสัยที่ควรทำ ไม่ได้มาตั้งรายละเอียดปลีกย่อยมากนัก ให้เราสามารถที่จะดำเนินการได้ตามระยะเวลาที่ต้องการตรงนี้เป็นหัวใจ ถ้าเรามีอิสระเรารู้จักงานเราเป็นอย่างดีว่าต้องทำอะไร มีอิสระในการวางแผนเราก็จะมีความสุขในการทำงาน [ยิ้ม]

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ และเป้าหมายหลังเกษียณอย่างไร

[ยิ้ม] ไม่มีใครเตรียมตัวก่อนหรอกเตรียมไม่ได้เพราะว่ายังสนุกกับงาน หลังเกษียณยังคงทำงานต่อตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผันตัวเป็นวิทยากรนำความรู้ และความสนใจของตัวเอง สอนหลักสูตรใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรด้าน AI สอนให้ผู้สนใจสามารถใช้ AI ได้แบบไม่ต้อง Coding แต่ให้ AI มาช่วยในการทำงาน หลักสูตรแบบนี้จะไม่หนักเกินไปและเน้นทางได้านการลงมือทำจริง เรื่องนี้สามารถทำไปได้เรื่อย ๆ ไม่หนักมาก และสามารถวางแผนเวลาในการไปบรรยายได้ แนวทางเบื้องต้นของคนเกษียณคงไม่ต้องถึงขั้นตั้งโรงงานหรือบริษัทที่ใหญ่โต [ยิ้ม]