เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ต.ค. 2562 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. นำโดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค และคุณโสภาวรรณ วิทย์ดำรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD) ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (EST) คุณพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร หัวหน้างานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS) และทีมพัฒนา ในโอกาสที่ผลงาน “KidBright: บอร์ดสมองกลฝังตัวอัจฉริยะ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 สาขาผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ ในเวทีการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (ITE 2019) จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยมี ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ
ที่มารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ในขณะนั้น) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9) ด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม โดยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “แกล้งดิน” ในเขตจังหวัดนราธิวาส และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” เนื่องจากเป็นวันที่พระองค์ เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “โครงการแกล้งดิน”
ในวันนวัตกรรมแห่งชาติ (5 ตุลาคม) ของทุกปีสำนักงานฯ จึงจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงจัดพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ค้นคิดพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในสาขาต่าง ๆ อาทิ ผลงานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ, ด้านสังคม, ด้านการออกแบบ, ด้านนวัตกรรมสื่อ, ด้านวิสาหกิจเริ่มต้น, ด้านองค์กรนวัตกรรมยอดเยี่ยม, ด้านธุรกิจเพื่อสังคม, ด้านแผนธุรกิจนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ, ด้านต้นแบบนวัตกรรมในระดับนักเรียนนักศึกษา, ด้านนวัตกรรมที่มาจากข้าวไทย