บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นายชูชาติ บุพจันโท

บทสัมภาษณ์นายชูชาติ บุพจันโท ผู้จัดการ งานบุคลากรสัมพันธ์ (ERS) ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล (HRSS) สำนักงานกลาง (CO) สวทช.  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ
ที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ นายชูชาติ บุพจันโท ผู้จัดการ งานบุคลากรสัมพันธ์ (ERS) ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล (HRSS) สำนักงานกลาง (CO) สวทช.  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็น ประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • นายชูชาติ บุพจันโท
  • ตำแหน่ง ผู้จัดการ งานบุคลากรสัมพันธ์ (ERS) ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล (HRSS)
    สำนักงานกลาง (CO) สวทช.

แนะนำตัวเอง

ชูชาติ บุพจันโท เริ่มงานกับ สวทช. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 ตำแหน่งปัจจุบัน ผู้จัดการงานบุคลากรสัมพันธ์ สำนักงานกลาง สวทช. ก่อนที่จะมาอยู่ที่งานบุคลากรสัมพันธ์ ผมได้มีโอกาสทำงานในส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่งานอาคาร งานด้านสื่อสิ่งพิมพ์

ในปัจจุบันอยู่งานบุคลากรสัมพันธ์ งานที่รับผิดชอบหลักจะเป็นเรื่องของการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรกับองค์กรช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในส่วนที่สามารถช่วยเหลือได้ให้กับบุคลากร นอกจากดูแลตัวบุคลากรแล้วยังดูแลเรื่องของการจัดสรรยานพาหนะให้กับบุคลากรได้ใช้กันอย่างทั่วถึงเหมาะสมและคุ้มค่า ดูแลเรื่องของสโมสร สวทช. ทั้งในด้านการกีฬา และที่หลายคนจำได้เสมอคือการสันทนาการในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของทุกปีที่จัดต่อเนื่องกันมากว่า 20 ปีแล้ว ในวันที่ผมเกษียณอายุงานไปแล้วก็ยังอยากให้มีการสานต่อตรงนี้ไว้อย่างต่อเนื่องเพราะสิ่งนี้คือ “ความสุขของพวกเราชาว สวทช.” ทุกคน [ยิ้ม]

ประสบการณ์การทำงาน และคุณสมบัติหรือความสามารถที่สำคัญต่อการรับผิดชอบต่อการทำงานมีอะไรบ้าง

การทำงานในช่วงแรกบุคลากรของเรายังมีน้อย จึงได้มีโอกาสเข้าไปช่วยงานในหลาย ๆ ด้านดังที่ได้กล่าวไว้ในช่วงแนะนำตัว จะขอขยายความบางงาน ยกตัวอย่างเช่น งานด้านอาคารสถานที่ งานเรื่องการจองใช้ยานพาหนะของพนักงาน บางวันคนขับรถไม่มาผมก็ไปขับรถให้เองในบางครั้งก็ผ่านมาแล้ว [หัวเราะ]

รถสวัสดิการสำหรับพนักงาน สวทช. ที่รองรับการเดินทางจากบ้านมาที่ทำงาน (ไป-กลับ) หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการการใช้รถที่เป็นระบบ Share Service ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันผมเองก็เป็นคนแรก ๆ ที่ริเริ่มและทุกวันนี้ก็ยังได้ใช้ประโยชน์กันอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า

ตัวแทนพนักงาน 2 สมัย จากการได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนพนักงานได้รับเลือกเป็นตัวแทนพนักงาน 2 สมัย เมื่อเข้ามาตรงนี้ได้มีโอกาสได้พบปะกับเพื่อนพนักงานมากขึ้น เป็นตัวแทนในการที่จะเดินสายทำความเข้าใจเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังบริหารจัดการด้านการออมให้กับพนักงาน สวทช. อีกช่องทางหนึ่งคือ การริเริ่มก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สวทช. เพื่อช่วยเหลือพนักงาน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่างานที่ผมทำจะเป็นการทำงานเกี่ยวกับมวลชนเป็นส่วนมาก ดังนั้นคุณสมบัติที่สำคัญกับการทำงานด้านนี้จะเป็นเรื่องของการเข้าถึงปัญหาของทุกคน การเปิดโอกาสรับฟังความทุกข์หรือปัญหาของเพื่อนพนักงาน และเมื่อผมได้รู้ปัญหาแล้วก็พยายามที่จะช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรเดินไปหาไปคุยกันเลย คุณสมบัติน่าจะเป็นความ Friendly เข้าถึงได้ง่าย [ยิ้ม] และต้องมีความเด็ดขาดด้วยเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรม

เทคนิคในการทำงาน

การทำงานผมชอบเริ่มงานเองและจบงานด้วยตนเอง ที่เป็นแบบนี้เพราะผมทำงานกับผู้บริหารยุคแรก ๆ ที่ว่า งานเรา เราทำเสร็จที่เราคนเดียวเพราะตัวเราเองจะรู้คำตอบของงานทั้งหมด ที่คิดเห็นกันแบบนี้เพราะสมัยก่อนบุคลากรเรายังมีน้อย [ยิ้ม]

การทำงานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการสร้างพันธมิตรหรือเครือข่ายนอกองค์กร ผมเป็นคนชอบสังคมทั้งสังคมภายใน สวทช. และภายนอก สวทช.  การเข้าสังคมเป็นกลยุทธ์ที่ให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมสันทนาการบางอย่างเราจำเป็นต้องมีผู้สนับสนุน เราจำเป็นต้องเข้าสังคมเพื่อให้ได้ผู้สนับสนุนกลับมา

ผลงานที่ได้ทำแล้วภาคภูมิใจ

ผมเริ่มงานกับ สวทช. มาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งยังไม่มี พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ซึ่งพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2534 แน่นอนว่ามีผลงานที่ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปร่วมริเริ่ม และสิ่งที่ได้ริเริ่มยังคงอยู่กับ สวทช. ในวันนี้ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สวทช. หอพักสหกรณ์ สวทช.
สโมสร สวทช. การจัดกิจกรรมปีใหม่ และเรื่องของสวัสดิการรถรับส่งพนักงาน
เป็นต้น

สิ่งที่ประทับใจอีกเรื่อง ด้วยผมอยู่ในงานบุคลากรสัมพันธ์ผมจะไม่เคยบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผม คือถ้าเรื่องที่มาถึงเราแล้วถ้าไม่ใช่หรือไม่เกี่ยวกับเราเลยก็ขอให้รับมาก่อนแล้วไปหาข้อมูลว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับใครอย่างไร ผมไม่อยากให้ปฏิเสธไม่อยากให้เกิด ผมอยากให้บุคลากรในองค์กรเป็นแบบนี้ คือรับเรื่อง รับฟัง และช่วยหาทางออก

อยากเห็นภาพของสวทช. ในอนาคตอย่างไร

ผมทำงานโดยผ่านผู้บริหารมาจนถึงทุกวันนี้ 6 ท่าน ผมภูมิใจในทุกๆ ท่านที่เข้ามากำหนดแนวทางของ สวทช. ที่เน้นผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาให้ออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยอย่างทั่วถึง ถ้าจะมอง
ก็อยากเห็นผู้นำคนใหม่จะต้องนำพาส่วนดีๆ ขององค์กรให้ออกไปสู่ประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง [ยิ้ม]

การวางแผนชีวิตหลังเกษียณอย่างไร

การวางแผนหลังเกษียณแบ่งไว้ 3 เรื่อง คือเรื่องงาน เรื่องสุขภาพ และการออม

  • เรื่องงาน : พยายามบอกเทคนิคการทำงาน และทำให้น้อง ๆ ได้ดูว่าการทำงานทำอย่างไร การสร้างพันธมิตรทำอย่างไร การเจรจาต่อรองทำอย่างไร แต่ผมมีความเชื่อเสมอว่าคนรุ่นใหม่ย่อมเก่งกว่าคนรุ่นเก่าเสมอ สิ่งที่ได้ทำไว้ในอดีตที่ดีอยู่แล้ว น้องๆ รุ่นใหม่อาจจะสานต่อได้ดีกว่าเดิม
  • สุขภาพ : ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยปกติเป็นคนชอบเล่นกีฬาก็จะยังคงเล่นกีฬาต่อไปเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เรื่องอาหารการกินถึงแม้เราจะเล่นกีฬา ดูแลตัวเองดี แต่เมื่อเราอายุมากขึ้นอาหารการกินก็สำคัญจะต้องกินให้พอเหมาะพอดีกับวัย และได้เตรียมหาประกันสุขภาพติดไว้ เผื่อยามฉุกเฉินบัตรประกันสุขภาพสำคัญกว่าบัตรเครดิต
  • การออม : วางแผนมาแต่เนิ่น ๆ อยู่แล้วการออมก็เพื่อไว้ดูแลตัวเอง

ส่วนเรื่องของเป้าหมายในอนาคต ก็จะนำเงินออมไปลงทุนบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ที่ไม่เสี่ยง ลงทุนให้พอเหมาะพอดีกับตัวเองและเงินออมที่มีอยู่