บทสัมภาษณ์นางสาวพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร ผู้จัดการงานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS) ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรวิจัยและพัฒนาองค์กร (PSD) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์นางสาวพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร ผู้จัดการงานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS) ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรวิจัยและพัฒนาองค์กร (PSD) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) สวทช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
- นางสาวพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร
- ตำแหน่ง ผู้จัดการงานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS) ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรวิจัยและพัฒนาองค์กร (PSD) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) สวทช.
แนะนำตัวเอง
พีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร มีคนถามว่าพี่อยู่ที่ สวทช. มากี่ปีแล้วพี่บอกตามตรงไม่เคยนับเลยเพราะทำงานแล้วสนุกกับงานมาโดยตลอด สวทช. เป็นองค์กรที่ทำให้พี่ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างตั้งแต่ครอบครัว ตัวเอง และเพื่อนๆ ไม่ได้นับว่าทำงานมากี่ปีแล้ว เผลอเดี๋ยวเดียวทำงานมากว่า 20 ปีแล้ว [ยิ้ม]
ปัจจุบันพี่เป็นผู้จัดการงานพัฒนากำลังคนทางด้านอิเล็กทรนิกส์และสารสนเทศ ศอ. ประมาณ 5 ปี บทบาทหน้าที่เปลี่ยนไปจากเดิมจากตอนแรกที่เริ่มงานกับ ศอ. ในตำแหน่งนักวิเคราะห์ ภารกิจหลักถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่พอปรับเปลี่ยนมาอยู่ในงานพัฒนากำลังคน การทำงานยังคงเป็นเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีแต่จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้สู่ภาคการศึกษา มีหลายโครงการที่พี่ได้มีโอกาสดำเนินงาน ยกตัวอย่างเช่น โครงการ KidBright โครงการกล้องจุลทรรศน์มิวอาย (MuEye) เป็นต้น
โครงการต่าง ๆ ที่พี่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานนั้นพี่รู้สึกประทับใจเพราะเป็นโครงการที่ได้นำผลงานวิจัยของ ศอ. ออกไปสู่แวดวงการศึกษา สิ่งนี้คือ passion แรกๆ ของพี่ในการทำงาน การที่เรามีโอกาสทำงานด้านการศึกษา เข้าถึงกลุ่มคนสำคัญคือเด็ก ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะโครงการ KidBright จะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีของ ศอ.
ที่เป็นชุดสื่อการเรียนการสอนเราเรียกกันว่า platform KidBright ที่เป็น platform ด้านการศึกษาที่ขับเคลื่อนไปในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาแล้ว ทีมพี่ยังขับเคลื่อนงานพัฒนากำลังคนไปสู่การศึกษาในระดับอาชีวศึกษาด้วยการคือ งาน IOT สำหรับ IOT เป็นการสร้างคนเตรียมเพื่อเตรียมพร้อมการเป็น industry 4.0
ทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับการทำงาน
เทคนิคในการทำงานต้องบอกว่าไม่มี [หัวเราะ] แต่ทุกอย่างในชีวิตที่มีเทคนิคมันเกิดจากการฝึกฝน พี่ต้องบอกว่าตอนที่พี่เริ่มต้นทำงานในบริษัทเอกชนสิ่งที่พี่ทำคือ Marketing Coordinator มีหน้าที่หลักในการประสานงานกับวิศวกร ประสานงานกับลูกค้า และต้องประสานงานกับคนทำงานทั่วไปด้วย สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นที่นำเอาประสบการณ์ตรงนี้มาใช้กับทำงานที่ ศอ. ถ้าเปรียบเทียบกันที่ ศอ. มีนักวิจัยเปรียบเหมือนเป็นวิศวกรซึ่งจะมีมุมมองหนึ่งในการทำงาน ส่วน marketing จะมีอีกมุมมองหนึ่ง พี่ใช้ทักษะและประสบการณ์จากการทำงานกับภาคเอกชนนำมาผสมผสานในการทำงาน ในการที่จะคุยกับนักวิจัยหรือคุยกับลูกค้า พี่จะมองภาพว่านักวิจัยก็คือลูกค้า คนข้างนอกก็คือลูกค้า เพราะฉะนั้นเราจะต้อง service เค้า พี่จะคุยกับนักวิจัยว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการเราสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าได้เราก็เดินกันต่อแต่ถ้าไม่ได้เราจะหาทางแก้ไขปัญหากันได้อย่างไร ในมุมของการคุยกับลูกค้าเราจะต้องคุยกันด้วยความชัดเจนว่าถ้าคุณอยากได้งานวิจัยลักษณะนี้ขอบเขตของเราเราสามารถทำได้แค่ไหนแล้วนำความต้องการของทั้งสองฝ่ายมารวมกัน และมองภาพกว้างว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ดังนั้นทักษะที่พี่มีและไม่เคยรู้ตัวมาก่อนจนมีหลายคนมาบอกให้พี่ได้รู้คือ “พี่เป็นคนเจรจาต่อรองเก่ง” ถามว่าทำไมถึงเจรจาต่อรองได้เก่งเพราะสิ่งเหล่านี้เราได้ฝึกฝนและทำอย่างสม่ำเสมอจนสั่งสมมาเป็นประสบการณ์ตั้งแต่การทำงานกับภาคเอกชน และจากประสบการณ์นี้เราก็สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานที่หน่วยงานวิจัยของเราได้
ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว
พี่อยู่ที่ ศอ. รวมแล้ว 20 ปี พี่รู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานทุกชิ้นที่รับมอบหมาย ถ้าจะให้หยิบยกผลงานที่ภาคภูมิใจ
ขอหยิบยกโครงการที่สร้างชื่อให้กับพี่ และทำให้คนรู้จักพีรนันท์ กาญจนาศรีสุนทร ต้องยกให้กับโครงการ KidBright แต่ก่อนจะมาถึงโครงการนี้พี่ผ่านการทำงานในโครงการอื่น ๆ มาก่อน อาทิ โครงการ Agritronics คำนี้หลายคนอาจจะเคยได้ยินและอาจจะลืมไปแล้ว ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า Smart Farm แล้ว เป็นโครงการที่ได้ลงไปช่วยภาคเกษตรกรด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปขับเคลื่อนงานด้านการเกษตร เริ่มต้นด้วยการพัฒนาสถานวัดอากาศเพื่อวัดสภาพโรงเรือนที่วัดสภาพภาพภายในโรงเรือน และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ส่วนที่ต่อขยายเพิ่มเติมจากงานวิจัยสถานีวัดอากาศนี้ได้ถูกนำไปเป็นเครื่องเตือนภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้รับทุนวิจัยอีกหลายสิบล้านบาท เพื่อติดตั้งสถานีวัดอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกว่า 400 สถานี สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สถานีวัดอากาศของ ศอ. ขยายผลและติดตั้งทั่วประเทศ และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจคือ พี่ได้นำผลงานห้องปฏิบัติการวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้ (KEA) Knowledge Elicitation and Archiving Research Team ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูล เป็นอีกสิ่งที่ภาคภูมิใจคือเราได้มีโอกาสเอาผลงานทางด้าน IDA หรือ intelligence data analyst ลงไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงนั้นเราจะต้องถอดความคิดจากคุณหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ มาอยู่ในโปรแกรมการเชื่อมโยงข้อมูล เราต้องลงไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วลงไปในช่วงที่พีคสุดของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถามว่ากลัวไหม ตอบได้เลยว่า “กลัวมาก” [หัวเราะ] แต่รู้สึกว่าถ้าเราอยากทำงานจริงๆ เราต้องลงพื้นที่ และเราภูมิใจว่ามีหลายคดีที่ภาคใต้ที่ตำรวจ ทหาร ใช้โปรแกรมนี้ในการเชื่อมโยงข้อมูลและสามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้
ความสำเร็จในผลงานที่ได้กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น KidBright, IOT, Agritronics และเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูล ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากตัวพี่ ปัจจัยสำคัญคือ นักวิจัยและทีมงานที่ทำงาน ทีมจะต้องมีความมุ่งมั่นมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน รู้สึกอยากทำ ทุกครั้งที่คุยกับทีมวิจัยเราจะไม่เคยคุยกันถึงว่าผลงานนี้ฉันทำแล้วฉันทำแล้วได้อะไร แต่จะคุยกันเสมอว่าผลงานนี้ถ้าเราทำแล้วประเทศชาติได้อะไร คนข้างนอกได้อะไร และ
สิ่งสำคัญคือการส่งมอบงานที่ทำให้คนข้างนอกพูดถึงเราในมุมบวก หลายๆ งานที่พี่ได้มีโอกาสทำเมื่อพี่เดินออกไปข้างนอกแล้วมีคนมาทักเราและขอบคุณเรา ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาทักว่าพี่ผมเป็นเด็ก KidBright มีคุณครูทักบอกว่าผมเป็นครู KidBright ผมเอาไปสอนในโรงเรียน หรือวันหนึ่งไปทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่มีคนทักว่าคุณพีระนันท์คุณจำได้หรือไม่ว่าคุณได้นำสถานีวัดอากาศไปติดตั้งที่ดอยแห่งหนึ่ง ถามว่าพี่จำคนที่มาทักได้หรือไม่ตอบตรงๆ จำไม่ได้ [หัวเราะ] พี่รู้สึกภูมิใจ พี่ลงไปที่ภาคใต้ก็มีคนมาทักว่าผมเคยไปอบรม IDA ของพี่ด้วยนะ แค่นี้เองที่คนทำงานรู้สึกภาคภูมิใจของคนทำงาน ที่เราทำงานแบบปิดทองหลังพระ แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีคนมองเห็นว่าเราทำอะไร แต่เราไม่ได้ทำเพียงลำพังเราทำกันด้วยองคาพยพของทีมวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันและอยากทำงานนั้นให้ประสบความสำเร็จ
วิธีการบริหารจัดการและดำเนินโครงการ
การบริหารจัดการ การดำเนินโครงการมี 2 สถานการณ์เกิดขึ้น ช่วงก่อนโควิด และระหว่างและหลังโควิด ขอเริ่มที่ก่อนโควิด การทำงานหรือการบริหารโครงการช่วงก่อนสถานการณ์โควิดเราก็ทำงานกันไปตามปกติ การทำงานเน้นการทำงานด้วยการหาทุนจากภายนอกที่เน้นการทำงานแบบหาทุนจากภายนอกเพราะว่าทุนภายในเองไม่ได้มีมากพอที่จะทำโครงการตามที่วาดฝันกันไว้ได้ [ยิ้ม] เพราะฉะนั้นหากเราอยากทำโครงการตามที่พวกเราฝันกันไว้จึงต้องไปขอทุนจากภายนอก การดำเนินการผ่านไปได้ด้วยดีช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ความท้าทายในการทำงานเริ่มเกิดขึ้นในช่วงแรกที่มีสถานการณ์โควิด ด้วยการทำงานของทีมพี่จะเป็นทีมพัฒนากำลังคน สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ออกไปสู่ภาคการศึกษา ทีมต้องมาวางแผนว่าจะเดินงานต่อกันอย่างไร ต้องขอบคุณผู้บริหารที่ให้โอกาส ผู้บริหารแนะนำให้สอนหรือถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยระบบออนไลน์ ต้องยอมรับว่าการสอนออนไลน์ในช่วงนั้นเป็นเรื่องไกลตัว พี่เองก็เป็นคนในอีก generation หนึ่ง ต้องพยายามทำความเข้าใจคนในอีก generation หนึ่ง ว่าเค้าเครื่องมืออะไรในการติดต่อสื่อสารกัน เราต้องลองดู สิ่งที่พี่ทำคือ set ห้อง eco studio ที่ ศอ. ขึ้นมา ห้อง eco studio ก็คือทำไว้เพื่อการสอนออนไลน์ ตอนนั้นพี่เริ่มลองสอนออนไลน์โดยศึกษาว่า platform ใดจะเหมาะสมที่สุด ปรากฏว่า สวทช. เลือก platform ที่เป็น webex เริ่มสอนออนไลน์กับครู การสอนในช่วงแรกยอมรับว่าเป็นการสอนที่ยากมาก ครูไม่เปิดกล้องบ้าง ไม่มีปฏิสัมพันธ์บ้าง หน้าที่พี่ต้องคอยสร้างบรรยากาศให้กับการเรียนการสอนเพื่อให้ครูได้มีส่วนร่วม พอครูเริ่มปรับตัวได้กับการเรียนออนไลน์ ทุกอย่างก็ราบรื่น การสอนออนไลน์ในช่วงโควิดก็มีผลดีเพราะทำให้นักวิจัยเกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำวิจัย เริ่มคิดว่าจะทำเครื่องมืออะไรเพื่อเป็นสื่อในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ผลที่ได้คือเราออกแบบ KidBright เป็นแบบ simulator data science ก็สามารถเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ AI ก็ทำเป็น simulator และที่เป็นไฮไลท์เลยคือจัดการแข่งขันกันแบบออนไลน์ ความท้าทายของการทำกิจกรรมนี้คือเราได้รับทุนจาก EEC แต่เราไม่สามารถลงพื้นที่ได้เมื่อเราได้รับทุนมาแล้ว ทีมวิจัยก็อยากให้ผู้ให้ทุนเห็นว่าเราได้ทำโครงการได้คุ้มค่าและเต็มที่กับทุนที่ได้ให้มา ทีม KidBright ช่วยกันระดมสมองและด้วยเรามีระบบ Platform ที่เป็น coding เรามี IOT เราจึงได้จัดการแข่งขัน formula kids รูปแบบการแข่งขันคือ รถอยู่ที่ สวทช. และมีสนามแข่งรถที่ห้อง Auditorium โดยติดตั้งกล้อง webcam ไว้ตามจุดต่าง ๆ แล้วส่งตัวรีโมทคอนโทรลให้กับนักเรียนตามโรงเรียนโดยให้เด็กนักเรียนคอนโทรลรถจากโรงเรียนมาที่สนามแข่งที่ สวทช. ยอมรับว่ามีความกังวลว่าจะสามารถทำได้หรือไม่จะเกิด error กลางทางหรือไม่ แต่ปัญหาไม่เกิดเลยทุกอย่างราบรื่นดี อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นว่าพี่สามารถสอนออนไลน์ให้กับคุณครูได้ ทุกครั้งหลังจัดอบรมครูพี่เราอยากรู้ว่าครูเข้าใจในสิ่งที่เราได้สอนหรือเปล่า พี่จะทำ proof of concept กล่าวคือ เมื่อครูได้รับการอบรมแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนของตนเองได้หรือไม่ ดังนั้น proof of concept ของพี่ก็คือการทำกิจกรรมโดยให้ด็กทำโครงงานมาประกวดเราจะเห็นว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดให้กับครูนั้น ครูสามารถที่จะไปถ่ายทอดต่อให้กับนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน
การบริหารโครงการในช่วงโควิด ความประทับใจที่เกิดขึ้น ทีมของพี่ได้รับทุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทย ต้องลงพื้นที่เพื่อไปอบรมการใช้งาน MuEye ให้กับคุณครูที่จังหวัดพะเยา ปรากฏว่าเมื่อเราไปถึงโรงแรม มีข่าวใหญ่ออกมาว่า “บุคลากรของ สวทช. ติดโควิด” ต้องขอเล่าก่อนว่าการติดโควิดใหม่ ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิดรุนแรงนั้น ทำให้ทุกคนกลัว เมื่อได้ยินข่าวทีมที่ไปด้วยกันก็เริ่มซักกันว่ามีใครสุ่มเสี่ยงหรือไม่ ทีมทบทวนและปรับแผนการทำงานว่า ไปถึงแล้วจะถอนตัวกลับก็ไม่ได้ หันมาดูกันเราใช้อินเทอร์เน็ตมือถือทำการเปิดสอน MuEye กันข้างรั้วโรงเรียนโดยไม่ไปเจอนักเรียน [นั่งสอนกันบนรถตู้] เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดเพราะทีมก็ไม่มั่นใจในสถานการณ์ของตัวเอง แต่จะให้ถอนตัวกลับก็ไม่ได้เราไปถึงแล้วก็ต้องสอนให้เต็มที่ และระหว่างสอนจะต้องมี workshop ให้เด็ก ๆ ไปเก็บข้อมูลจากบึงน้ำแห่งหนึ่ง เด็กก็เดินทางไป ส่วนทีมพี่ก็เดินทางตามกันไปแบบห่างๆ พอไปถึงที่หมายก็ให้เด็กเก็บข้อมูลแล้วส่งข้อมูลที่เก็บได้มาให้ทีมพวกพี่ แล้วทีมพวกพี่จะเข้าไปดูว่าข้อมูลที่เด็กๆ ส่งมานั้นถูกต้องครบถ้วนหรือใช้ได้หรือไม่ จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราได้เจอในแต่ละสถานการณ์เราก็สามารถหาทางแก้ไขกันได้ แต่ถ้าถอดใจเมื่อเจอปัญหาแล้วเราคิดแต่ว่ามันคือปัญหามันก็คือปัญหา แต่ถ้าเราคิดว่าปัญหาที่เกิดเราสามารถแก้ไขได้มันจะเป็นความภาคภูมิใจ ความสุข และความสนุกของพวกเรา และเมื่อระยะเวลาของปัญหามันผ่านพ้นไปเราจะมีเรื่องราวบอกเล่าให้กับคนรุ่นหลังอย่างมากมาย
การหาพันธมิตร หรือการหางบประมาณจากแหล่งทุนภายนอก
เรื่องของการหางบประมาณจากแหล่งทุนภายนอก พี่ต้องบอกก่อนว่าสิ่งนี้พี่ถูกสอนมาตั้งแต่ทำงานกับภาคเอกชน
การหาแหล่งทุนจากภายนอกสิ่งสำคัญที่ต้องมีเป็นอย่างแรกคือ connection หากเรามี connection เราจะหาเงินได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่พี่สร้าง connection กับภาคอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานภาครัฐ พี่อยากมองว่าผู้มีอุปการะคุณเหล่านั้นไม่ใช่ลูกค้าแต่เค้าคือเพื่อน ในการคุยกันครั้งแรกๆ เราคงจะมีความเป็นลูกค้ากันก่อนต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งและทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายเราต้องการอะไรบ้าง จริงๆ พี่ไม่มีเทคนิคอะไรเลยในการสร้าง connection
แต่สิ่งที่พี่อยากจะบอกคือทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติที่สุด และพยายามทำให้ทุกคนที่ทำงานกับพี่เป็นทีมเดียวกัน หรือให้เค้ารู้สึกเหมือนว่าเราเป็นเพื่อนกัน เป็นพี่น้องกัน และทำให้เค้ารู้สึกไว้วางใจในตัวเราและพึ่งพาเราได้ และต้องไม่งก [หัวเราะ] เรียกได้ว่ามีอะไรติดไม้ติดมือไปฝากกันบ้างตามสมควร การมีของติดไม้ติดมือไปหากันพี่ว่าสิ่งนี้คือธรรเนียมปฏิบัติของคนไทย ถามว่าลูกค้าต้องการของเราหรือเปล่าไม่หรอกเค้าไม่ได้ต้องการแต่เค้าแค่รู้สึกดีว่าเราคิดถึงเค้าอันนี้คือสิ่งสำคัญ ส่วนแรกนี้คือส่วนของการสร้าง connection
ด้านการหางบประมาณจากภายนอก หากถามว่าหายากหรือไม่พี่มองว่าไม่ได้หายากเพราะว่าเรามีมือเขียนข้อเสนอโครงการก็คือนักวิจัย และเรามีทีมที่จะต้องมองก่อนว่าเราอยากทำโครงการนี้เพื่ออะไร อยากทำเพื่อเด็ก ครู เกษตรกร ชาวบ้าน เราต้องมี passion ในทีมร่วมกันก่อน เราจะมองภาพเดียวกันและเขียนข้อเสนอโครงการได้อย่างราบรื่น แบ่งส่วนกันเขียนนักวิจัยจะเขียนในส่วนเชิงเทคนิค ส่วนพี่ก็จะเขียนในส่วนสนับสนุนอื่น ๆ และพี่เองเป็นเจ้าแม่กิจกรรม [หัวเราะ] พี่จะคิดกิจกรรมให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้ เพราะการทำกิจกรรมมันคือตัวบ่งบอกให้เจ้าของทุนได้เห็นว่างบประมาณที่อนุมัติให้มานั้นเรานำมาทำประโยชน์ได้จริง พี่เข้าใจสถานการณ์ของ สวทช. ในตอนนี้ว่าต้องช่วยกันประหยัดแต่กิจกรรมบางอย่างต้องทำ แต่การทำกิจกรรมพี่ไม่ได้อยากให้มีคำว่าทำให้มันจบๆ ไป พี่จะโกรธเรื่องนี้ทุกครั้ง พี่จะบอกทุกครั้งว่าเงินทุกบาทที่เราได้มาเราจะขับเคลื่อนเรื่องใดก็ตามจะต้องทำให้คุ้มค่าและทำให้คนเห็นว่า สิ่งที่เราได้ทำมันตอบโจทย์และให้ประโยชน์จริงๆ เหมือนกับที่พี่จัดงานรวมพลคน KidBright จัดมาแล้ว 4 ครั้ง ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมนี้ก็เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมา 6-7 ปี เราได้พัฒนาอะไรเพิ่มเติมขึ้นบ้าง ทุกครั้งที่พี่ใช้เงินในการจัดกิจกรรมพี่จะคิดว่ามันจะต้องต่อเงินได้เรื่อยๆ และพี่ทำแบบนี้ทุกครั้งตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่ ศอ. เกือบ 20 ปี
วิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดองค์ความรู้
การสร้าง successor ของแต่ละคนไม่เหมือนกันมีความแตกต่างกันแม้แต่การที่จะให้น้องๆ มาเรียนรู้การทำงานของเราก็อาจจะคนละวิธี แต่สำหรับพี่ยังรู้สึกประทับใจในคำสอนของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงไม่เคยบอกว่าสิ่งที่ท่านทำไว้นั้นดี แต่สิ่งที่ท่านทำท่านได้ทำให้เห็นโดยการทำซ้ำ ๆ ทุกวัน เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่พี่สามารถสร้างทีมได้คือไม่ต้องไปบอกทีมว่าสิ่งที่พี่ทำนั้นดีหรือไม่ดี แต่เราทำให้เค้าเห็นทำซ้ำๆ ทุกวัน ถ้าน้อง ๆ ในทีมเห็นสิ่งที่พี่ทำแล้วดีก็ให้นำไปปฏิบัติโดยที่พี่จะไม่มาบอกว่าทำแบบนี้ดี ยกเว้น สิ่งที่ต้องทำแบบพี่แล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้องคือ การทำตามกฎ ระเบียบ หรือเงื่อนไขของ สวทช. สิ่งนี้คือสิ่งที่น้องๆ ต้องทำตาม แต่รูปแบบการทำงานพี่ไม่เคยปิดกั้นแต่ถ้าอะไรเป็นช่องโหว่พี่จะรีบบอก แต่ส่วนใหญ่โครงการทุกโครงการพี่จะทำให้ดู สิ่งนี้คือวิธีการสอนงานให้กับน้องๆ ในแบบฉบับของพี่ แม้กระทั่งเรื่องของการเจรจาต่อรองพี่ก็ใช้วิธีการพาน้องๆ ไปร่วมเจรจราด้วย
สำหรับทายาท [ยิ้ม] พี่เห็นแววว่าใครจะไปได้พี่ก็สอน การสอนก็เหมือนที่กล่าวคือลงมือทำให้ดู มีน้องๆ หลายคนเริ่มเขียนบันทึก จดหมาย ทำสื่อนำเสนอ ทำได้ดีกว่าตอนแรกมาก แต่เวลาที่น้องๆ จะออกไปนำเสนอผลงานพี่ขอให้น้องๆ มาซ้อมการนำเสนอกับพี่ก่อน [หัวเราะ] เพื่อพี่จะดูและให้คำแนะนำหากมีส่วนใดต้องปรับปรุงหรือแก้ไขพี่จะแก้ไขให้ทันที และพี่จะบอกน้องๆ เสมอว่าการที่พี่ให้น้องมาซ้อมนำเสนอกับพี่ เวลาพี่ออกไปนำเสนองานข้างนอกพี่ก็ซ้อมเหมือนกัน
ความประทับใจที่มีต่อ สวทช.
ความประทับใจของพี่ที่มีต่อ สวทช. สิ่งหนึ่งที่พี่ได้จาก สวทช. สำหรับครอบครัวพี่ คือ พี่ส่งหลาน 3 คน เรียนหนังสือจนทุกวันนี้ทั้ง 3 สำเร็จการศึกษากันหมดแล้ว คนโตจบการศึกษาด้าน Computer Science คนที่สองจบ ครุศาสตร์วิศวกรรม และคนที่สามเป็นครูสอนฟิสิกส์ ความประทับใจที่พี่ได้คือพี่ได้เจอคนดีคนเก่งที่ สวทช. โดยคนเก่งจะคอยแนะนำพี่เสมอว่าถ้าหลานพี่อยากเรียนอะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร นักวิจัยจะแนะนำว่าควรเรียนด้านใด ทุกวันนี้ทั้ง 3 สำเร็จการศึกษาและไม่เป็นภาะของสังคม
ภาพในอนาคตที่อยากเห็นของ สวทช.
ช่วงที่เราคุยกันวันนี้เป็นช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตของ สวทช. พี่รู้สึกเห็นใจผู้บริหารทั้งชุดเก่า และทีมผู้บริหารชุดใหม่ เพราะผู้บริหารทุกทีมจะมีวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน แต่ในฐานะที่พี่เป็นผู้บริหารระดับล่างจะเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับคนข้างนอกมาก สิ่งหนึ่งที่พี่อยากเห็นพี่อยากให้คนข้างนอกเค้าเดินเข้ามาแล้วขอบคุณ สวทช. เพราะว่าสิ่ง
ที่เราทำใน สวทช. ถ้าเราไปให้สุดมันมีคุณูปการให้กับประเทศมาก แต่ปัจจุบันงานวิจัยเราไปไม่สุดเราไปกันได้แค่ครึ่งทางแล้วงบประมาณหมดก็ไม่ได้ไปกันต่อ อยากฝากถึงนักวิจัยและผู้บริหารงานวิจัยถ้าลงมือทำแล้วอยากให้ไปให้สุดอย่าท้อ อย่ากลัว เจอปัญหาแล้วอย่าหยุด และต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าผลงานจะสำเร็จ
เตรียมตัวหลังเกษียณ และวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ไม่ได้เตรียมอะไรเลย [หัวเราะ] เพราะพี่มีความรู้สึกว่าอยากทำงานทุกวันให้ดีที่สุด และในวันหนึ่งที่เราเดินออกจากที่นี่ไปจะบอกกับตัวเองว่าฉันจะไม่เสียใจเพราะตัวเองได้ทำครบหมดทุกอย่างที่อยากทำ แต่ก็ได้มีการวางแผนไว้บ้างว่าหลังเกษียณจะท่องเที่ยว [หัวเราะ] ด้วยตัวพี่เองมีปัญหาทางด้านสายตาบางอย่าง พี่อยากใช้เวลาส่วนหนึ่งของชีวิตในตอนท้ายเพื่อท่องโลกเพื่อให้ได้เห็นสิ่งที่อยากเห็น และมีหลายอย่างที่อยากทำค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป พี่ไม่ได้อยากเตรียมตัวอะไรมาก เพราะหลังเกษียณเราอาจจะมีมุมมองใหม่ ๆ หรือทำอะไรใหม่ๆ หลังเกษียณค่อยว่ากันว่าจะทำอะไร ถ้าหากเราเตรียมทุกอย่างไว้เรียบร้อยตอนนี้เดี๋ยวเกษียณไปไม่ได้คิดสมองจะฝ่อ [หัวเราะ]
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง