“ไลน์บอทโรคข้าว” ผลงานวิจัยร่วมโดย สวทช. และ ม. เกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลเหรียญทองแดง ในเวที The 48th International Exhibition of Inventions Geneva

“ไลน์บอทโรคข้าว” ผลงานความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมด้วยภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สามารถสร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลแห่งความภาคภูมิใจให้แก่ผลงานของนักประดิษฐ์ไทย ด้วยรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) ในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้น และนวัตกรรมในงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2566

“ไลน์บอทโรคข้าว” ทีมวิจัย ได้แก่

  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
    • ดร.ธีระยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช.
    • ดร.ธีระ ภัทราพรนันท์ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) เนคเทค
    • คุณวศิน สินธุภิญโญ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU) เนคเทค
    • คุณกรรณทิพย์ กิรติรัตนพฤกษ์ นักวิจัย ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU) เนคเทค
    • คุณพิชญกาญจน์ เต็มนิรันรัตน์ ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU) เนคเทค
    • คุณสัณหรัฐฐ์ สวัสดิยากร ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU) เนคเทค
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    • ผศ. ดร.สุจินต์ ภัทรภูวดล อาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน
    • รศ. ดร.จินตนา อันอาตม์งาม อาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด และจัดแสดงในงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมด้วยผู้บริหาร และคณะนักวิจัย 38 หน่วยงาน เข้าร่วมในพิธีเปิดงานดังกล่าว ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการกว่า 1,000 ผลงาน จากนานาประเทศกว่า 40 ประเทศ นับเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีและประสบการณ์ร่วมกับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ รวมถึงได้เผยแพร่ผลงาน แสดงความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก

“ไลน์บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)” ระบบแชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยแพลตฟอร์มนี้ผ่านการออกแบบให้เกษตรกรใช้งานได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้อย่างคุ้นเคย เมื่อเกษตรกรพบเห็นความผิดปกติของต้นข้าวในแปลงนาสามารถส่งข้อมูลให้ระบบวินิจฉัยโรคได้ทันที เพียงถ่ายภาพรอยโรคที่เกิดขึ้นบนต้นข้าวแล้วส่งภาพเข้าสู่หน้าแชต ระบบจะดึงภาพไปยังคลาวด์ และส่งให้ AI วิเคราะห์โรคด้วยเทคนิคเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เมื่อได้ผลแล้วระบบจะส่งผลการวิเคราะห์พร้อมคำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมกลับมารายงานให้เกษตรกรทราบ ภายใน 3-5 วินาที ช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบโรคข้าวที่เกิดขึ้นในแปลงนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันบอทโรคข้าวให้บริการวิเคราะห์โรคข้าวที่สำคัญในไทยได้แล้วถึง 10 โรค ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคใบขีดโปร่งแสง โรคไหม้คอรวง โรคดอกกระถิน โรคใบวงสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง และโรคใบหงิก โดยเปิดให้เกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน ทดลองใช้บริการแล้วผ่าน ‘กลุ่มบอทโรคข้าวของแต่ละจังหวัด’ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้าวตรวจทานความถูกต้องของผลการวินิจฉัย
รวมถึงช่วยตอบข้อสงสัยและให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่เกษตรกรด้วย”

ผู้สนใจสามารถสมัครใช้งานได้ที่ https://linebot.ricepestdiagnosis.net/web/index.php?

ทำความรู้จักผลงานวิจัย “ไลน์บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)” และการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่