“ไลน์บอทโรคข้าว” ผลงานวิจัยร่วมโดย สวทช. และ ม. เกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลเหรียญทองแดง ในเวที The 48th International Exhibition of Inventions Geneva

“ไลน์บอทโรคข้าว” ผลงานความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมด้วยภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สามารถสร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลแห่งความภาคภูมิใจให้แก่ผลงานของนักประดิษฐ์ไทย ด้วยรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) ในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้น และนวัตกรรมในงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2566

Read more

ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน

ผลงานวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลันและไม่ไวต่อแสง เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ข้าว IR57514 มีคุณสมบัติทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน กับพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนทนน้ำท่วมและคุณภาพการหุงต้มในการคัดเลือก ข้าวหอมชลสิทธิ์มีกลิ่นหอม ทนน้ำท่วมฉบับพลันในทุกระยะการเจริญเติบโต ทนอยู่ในน้ำได้นาน 2 – 3 สัปดาห์ ไม่ไวต่อช่วงแสงทำให้ปลูกได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่

เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ได้ถูกแจกจ่ายไปยังเกษตรกรในจังหวัดพิจิตร พระนครศรีอยุธยา ชัยนาถ และอ่างทอง ไบโอเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อสร้างอาชีพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กลุ่มเกษตรกร และมีเมล็ดพันธุ์ดีเพื่อปลูกขยายในฤดูต่อไป

สหกรณ์การเกษตรผักไห่ จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจจากข้าวหอมชลสิทธิ์ โดยจัดทำข้าวสารหอมชลสิทธิ์บรรจุถุงภายใต้เครื่องหมายการค้า “อ่อนหวาน” ที่มีวางจำหน่ายใน ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ

food09

ข้าว “กข51” ทนน้ำท่วมฉับพลัน

ผลงานวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

ข้าว กข51 ได้จากการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้มีลักษณะทนน้ำท่วมฉับพลัน (Submergence tolerance) โดยได้นำข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ผสมพันธุ์กับข้าวสายพันธุ์ IR49830 ซึ่งมียีนทนน้ำท่วมฉับพลัน Sub1 ที่อยู่บนโครโมโซมที่ 9 จากนั้นได้ทำการคัดเลือกต้นให้มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี และใช้โมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอช่วยในการคัดเลือก (Marker assisted selection- MAS) พร้อมกับการผสมกลับ (backcrossing)

ข้าวพันธุ์ กข51 เป็นพันธุ์ไวต่อช่วงแสง สูงประมาณ 155 ซม. มีลักษณะเด่นคือ มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี การหุงรับประทานใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 และสามารถทนน้ำท่วมฉับพลันในระยะเจริญเติบโตทางลำต้นได้ 12 วัน ผลผลิตในสภาวะน้ำท่วมฉับพลับสูงกว่าพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ105 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 736 กิโลกรัม/ไร่ จึงเหมาะสมกับพื้นที่นาน้ำฝนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ข้าว กข51 ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556

food11 1