บทสัมภาษณ์ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา (RDIM) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา (RDIM) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
- ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร
- ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา (RDIM)
แนะนำตัวเอง
ดร. ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เข้าทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ หรือเนคเทค ได้ 2 ปี จึงสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริก จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขา Optical Science and Engineering จาก University of Central Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2541 และ 2543 ตามลำดับ
เริ่มต้นทำงานในปี พ.ศ. 2537 ในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการอิเล็กโตรออปติกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยร่วมวิจัยทางด้านการผลิตฮอโลแกรมสลัก หลังจากนั้นได้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และ เอก ในปี พ.ศ. 2544 ได้เข้าทำงานที่บริษัท Nuonics จำกัด ณ เมือง Orlando มลรัฐ Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา
บทบาทของการเป็นนักวิจัย กับบทบาทของการเป็นผู้บริหาร คิดว่าทั้งสองบทบาทนี้มีความเหมือนแตกต่างกันอย่างไร
คิดว่าความเหมือนหรือความต่างของการเป็นนักวิจัยเป็นผู้บริหารเรามองได้สองมุม มุมหนึ่งถ้าเรามองแบบสุดโต่งอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะว่าเราอาจคิดว่านักวิจัยคงเน้นวิจัยเน้นทำงานวิจัยอย่างเดียวไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นๆ ส่วนผู้บริหารต้องดูแลองค์กร แต่จริงๆ แล้วถ้าเราในมุมกว้างเราอยู่ สวทช. คือทีมเดียวกันและบทบาท สวทช. ก็ชัดเจนว่าต้องทำงานด้านการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม เพื่อตอบโจทย์ที่เราได้รับมาจากภาคสังคม ภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งจากโจทย์อื่นๆ ที่เราได้รับมา การทำงานวิจัยเนื่องจากเราไม่ได้ทำคนเดียวเราทำงานเป็นทีม และทีมไม่ได้มีเฉพาะทีมวิจัย มีทีมทางสนับสนุนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมันก็เหมือนเป็นการดูแลคนไปในตัว และการที่เราจะต้องซื้อของมาทำวิจัย การที่เราจะต้องมีการเดินทางหรือมีการจ้างคนข้างนอกมาช่วยก็เป็นเรื่องของระเบียบการจ้าง ระเบียบการซื้อของหรือจัดซื้อจัดจ้างพวกนี้ก็ต้องมีความเข้าใจระดับหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าบทบาทจะคล้ายๆ กันเพียงแต่ว่าความเข้มข้นในเชิงการทำวิจัยหรือความเข้มข้นในการดูแลทีมหรือองค์กรเนี่ยระดับมันอาจจะไม่เท่ากัน ถ้าในมุมของความเป็นผู้บริหารจะมีเรื่องของการดูแลองค์กร ดูแลคนค่อนข้างมาก เน้นด้านการวางกลยุทธ์ การวางแผนในเชิงงบประมาณหรือว่ายุทธศาสตร์ที่องค์กรจะเดินไปข้างหน้า แต่ว่าไม่ได้บอกว่านักวิจัยไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ใช่มันเป็นการทำงานกันเป็นทีมข้อมูลหรือองค์ความรู้หรือว่าแม้กระทั่งการแลกเปลี่ยนความเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันเนี่ยมันก็จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยเช่นกัน ก็ไม่อยากให้คิดว่าสองบทบาทนี้มันเหมือนหรือมันต่างกันแต่ว่าคือบทบาทเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า
ประสบการณ์ที่ประทับใจจากการเป็นทั้งนักวิจัยและในขณะเป็นผู้บริหาร
ในขณะที่เป็นนักวิจัยเป็นประสบการณ์ที่ดี สวทช. เป็นองค์กรของรัฐ แล้วก็ถ้ามองในมุมหนึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกลางและก็เชื่อถือได้ การเป็นนักวิจัยที่ สวทช. หรือเป็นหน่วยงานของรัฐทำให้เราสามารถเข้าถึงหรือโจทย์ที่บางครั้งเราไม่ได้อยู่ที่นี่อาจจะไม่ได้เห็นโจทย์แบบนี้ก็ได้นี่คือโจทย์วิจัย โจทย์เรื่องเกี่ยวกับความลับ ความมั่นคงของประเทศหรือบางเรื่องเป็นความลับของทางเอกชนอย่าง ถ้าเราไม่ได้อยู่ที่ สวทช. คงทำลำบาก นี่คือความประทับใจที่ทำให้เราเห็นว่าอย่างน้อยเขาเชื่อใจเราแล้ว ความประทับใจอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของทีมงานเราอยู่ในสภาพแวดล้อมของ สวทช. ทีมงานจะมีความเข้าใจว่าการทำงานจะต้องเป็นแบบไหน โจทย์แบบนี้รับได้หรือไม่ ถ้าโจทย์แบบนี้มาแล้วเราจะช่วยกันทำอย่างไรดี การที่เราจะต้องขอความสนับสนุนจากหน่วยงาน Support จะไปขอเขาจากไหนบ้าง มีใครช่วยเราได้บ้าง ความประทับใจที่มองมุมวิจัยที่ได้รับโจทย์สนุกๆ มีทีมงานคอยช่วย
ในส่วนของงานเป็นผู้บริหารได้ความรู้มากขึ้น ความประทับใจส่วนหนึ่งที่ได้ก็เป็นเรื่องได้ความรู้จากทีมงานเพราะว่าบางทีเราก็จะเจอโจทย์ที่มาจากระดับประเทศหรือว่ามาทางผู้ใหญ่ระดับนโยบาย บางเรื่องเราอาจจะไม่รู้เลยก็มี แต่โชคดีเรามีตัวช่วยที่เป็นทีมงานที่อยู่ในองค์กรของเรานี่แหล่ะคอยช่วย ถ้าได้รับโจทย์เรื่องนี้มา เราจะนึกถึงใครที่จะช่วยเราได้ หรือบางทีนึกถึงตัวคนไม่ได้แต่นึกถึงทีมได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับทีมๆ นี้ ทีมนั้นเขาจะมีข้อมูลให้เราเสมอ หรือบางทีเขาจะช่วยเราไปหาข้อมูลมาเสมอ ว่าอย่างนี้เราจะเอามาช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรเราอย่างไร ผู้บริหารเจอกับระดับนโยบายของประเทศหรือความร่วมมือระหว่างประเทศคนที่มาคุยกับเราเขาก็เรียกว่ามีอำนาจในการผลักดันระดับนโยบายพอสมควร ฉะนั้นในสิ่งที่เราช่วยได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ไปผสานเข้ากับนโยบายที่เขาจะช่วยผลักดันจะทำให้งานเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วขึ้น
หลักในการบริหารทีมหรือว่าการบริหารผู้บังคับบัญชามีหลักในการบริหารทั้งลูกทีมและผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไรบ้าง
การบริหารทีมไม่ว่านักวิจัยหรือเป็นผู้บริหารไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม การบริหารต้องไปยุ่งกับเรื่องคนแล้วคำว่า คนมองได้ทั้งเป็นคำนามหรือคำกริยา ถ้ามองเป็นกริยา คือ คนเขาก็มีความคิดของเค้า ถ้าเราเกิดมองในแง่ดีคนทุกคนก็มีคุณค่าในตัวเองและมีความเก่งในตัวเองเพียงแต่ว่าเขาอาจจะมีความเก่งเรื่องหนึ่งไม่เก่งอีกเรื่องหนึ่ง
ก็เหลือแต่ว่าเราจะรวมทีมคนเก่งในแต่ละด้านเข้ามาช่วยกันทำงานกันได้แค่ไหน อีกส่วนหนึ่งน่าจะสำคัญเช่นกันคือ ความเข้าใจคนว่าทั้งประโยชน์องค์กรเราต้องช่วยกันเดินอย่างไรตัวแปรเขาที่เขามีข้อจำกัดอยู่มีอะไรบ้าง เช่นเรื่องของครอบครัว บางคนอาจจะมีญาติเจ็บป่วย บางคนอาจจะมีลูกเล็ก เราก็ต้องเข้าใจว่า
จะบริหารเวลากันอย่างไรเพื่อที่จะช่วยกันทำงานให้กับองค์กรและให้กับประเทศต่อได้ ความเข้าใจซึ่งกันและกันผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะให้การทำงานไม่ว่าจะเป็นเชิงวิจัยหรือว่าเชิงบริหารองค์กรเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น
คำแนะนำสำหรับทุกคนใน สวทช. ที่ขยับบทบาทจากนักวิจัยสู่ผู้บริหาร
ช่วงของการทำงานในแต่ละตำแหน่งเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมไปในตัวคล้ายๆ On the job training ส่วนที่หนึ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวทัศนคติว่าถ้าเกิดเราจะเป็นผู้บริหารมาช่วยดูแลทีมมากกว่า จะเป็นผู้บริหารระดับหัวหน้าห้องปฏิบัติการ หรือหัวหน้าทีม หรือเป็นผู้ดูแลทีมวิจัยหรือกลุ่มวิจัยน่าจะเป็นทัศนคติในการทำงานมากกว่าส่วนหนึ่งจะเจอสองมุมใน สวทช. ส่วนหนึ่งผมไม่อยากเป็นนะอย่าเอาผมเป็นเลย อีกส่วนหนึ่งเราก็จะเจอว่าอะไรนะอยากเป็น กล่าวคือก็จะมีคนที่อยากเป็นกับคนไม่อยากเป็น ทั้งหมดคิดว่าอยู่ที่ทัศนคติกับการดูแลทีมที่เขาดูแลกันมา ถ้าเขาเริ่มต้นจากการดูแลกันมาดูแลทีมที่ดีก็น่าจะทำให้เราขยับไปดูแลทีมระดับที่ใหญ่ขึ้นหรือว่าดูแลองค์กรได้ดีขึ้นได้
ส่วนที่สองทัศนคติที่ว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้บริหารเสมอเพราะว่าการดูแลทีมสำคัญกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ระดับไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าหากเราได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้บริหารแล้วก็อย่าพยายามกอดมันไว้ เพราะหากถึงจังหวะนึงเราต้องดูว่าการยอมรับของทีมเป็นอย่างไร และมองอีกมุมก็คือว่าต้องเปิดโอกาสให้รุ่นถัดไปหรือว่าเพื่อนๆ เราที่ไม่เคยมีประสบการณ์เข้ามาได้ลองบริหารทีมดูบ้างเพราะว่าการสับเปลี่ยนคนบ้างเป็นข้อดี เพื่อให้มีการสับเปลี่ยนมุมมองหรือความคิด องค์กรอาจจะได้ความคิดใหม่ๆ ได้เรียนรู้เพิ่มเติมกันและกันไปในตัว
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และวิธีการจัดการ
ดร.ศรัณย์ฯ กล่าวว่า การทำงานมีอุปสรรคอยู่แล้วเพียงแต่จะมาก หรือน้อย ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ในมุมนักวิจัย อุปสรรคหนึ่งของนักวิจัยคือการเขียนข้อเสนอโครงการ ส่งไปให้กรรมการพิจารณาแต่ปรากฏว่าไม่ผ่านนสิ่งนี้ก็เป็นอุปสรรคหนึ่ง แต่ถ้าเรามองในอีกแง่มุมหนึ่งจากอุปสรรคที่เกิดขึ้นนี้ เราเขียนข้อเสนอโครงการแล้วมันไม่ผ่านเพราะอะไร มองในแง่ดีเราก็จะได้ข้อคิดเห็นข้อแนะนำจากกรรมการที่ประเมินและสิ่งที่เราขาดไปมันคืออะไรหรือแม้กระทั่งโจทย์ที่เราคิดอาจจะไม่ตรง หรือว่าสู้แนวทางคนอื่นไม่ได้อันนี้เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันไป
ผู้บริหารต้องเป็นตัวแทนองค์กรพยายามไปนำเสนอ Solution หรือแม้กระทั่งแนวทางที่คิดว่า วทน. ของ สวทช. จะช่วยเขาได้ต้องเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจบางครั้งการคุยครั้งแรกหรือการประชุมครั้งแรก อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร นี่ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง คำถามคือว่าเราท้อไหม ถ้าเราท้อก็พับเลยถูกไหม แต่เราต้องไม้ท้อ เราต้องกลับมาดูว่าเขามีข้อแนะนำอย่างไรหรือมีประเด็นอย่างไรที่เขาคิดว่าเขายังไม่เข้าใจ เราก็กลับไปเติมข้อมูลใหม่ ทีนี้การเตรียมข้อมูลใหม่แล้วแต่เค้ายังเรียกเราสักเราก็ต้องรอเวลาเหมือนกัน ดังนั้นบางเรื่องมันมาทั้งโอกาสกับมาทั้งเวลา บางเรื่องมาแต่โอกาสอย่างเดียวแต่ยังไม่ถึงเวลา บางเรื่องถึงเวลาแล้วแต่ยังไม่มีโอกาส ผมเองประสบมาหลายเรื่องที่ว่าเราพร้อมโอกาสมี แต่เวลายังไม่ใช่ เหมือนกับเราวางของไว้บนโต๊ะเรานี่แหล่ะแล้วถึงเวลาเราก็พร้อมที่จะดึงออกจากโต๊ะเราเสนอได้ทันที ก็จะทำให้เราขับเคลื่อนงานได้เร็วขึ้นแล้วก็มันก็จะมาพร้อมงบประมาณสนับสนุนมาพร้อมกับอิมแพคที่เราคิดว่าถ้าเกิดทำได้เนี่ยประเทศหรือประชาชนก็น่าจะได้ประโยชน์แน่นอน
เทคนิคในการบริหารเวลา
การบริหารเวลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วก็แต่ละคนก็มีตัวแปรที่รอบข้างไม่เหมือนกัน ของผมผมอาจจะมองแล้วตัวแปรรอบข้างไม่ค่อยเยอะ เช่น ไม่มีลูก พ่อแม่ก็ยังแข็งแรง การที่เราต้องสละเวลาเราไปดูแลพ่อแม่แบบเยอะๆ ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น การที่เราต้องสละเวลาไปดูลูกเราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่พอจะแบ่งได้ ผมก็แบ่งหลักๆ งานคืองาน ไม่เคยเอากลับไปบ้านไปเล่าให้ภรรยาฟังเพราะไม่อยากให้ต้องมาเครียดไปด้วย อันที่สองปล่อยวาง คือเราก็พยายามเคลียร์งานให้เสร็จภายในวันนั้นก็จบก็คือจบ แล้วก็หลับได้ [หัวเราะ] ไม่เคยเอาไปฝันไม่เคยเอาไปคิดอะไร พรุ่งนี้เช้าเริ่มใหม่ก็จะเป็นลักษณะแบบนั้น ฉะนั้นการบริหารงานบริหารให้มันจบไปวันนึงเลยแล้วก็วันรุ่งขึ้นเริ่มใหม่ ส่วนเวลาว่างมีไหมจริงๆ ก็มี แทรกๆ ไปกับเวลาทำงานเรา เวลาทำงานก็มีเวลาว่าง เช่น การประชุมเสร็จเร็วกว่ากำหนด ครึ่งชั่วโมง ช่วงนี้คือจะว่างก็ทำเรื่องอื่น เช่นลองไปดู paper นั่งอ่านเรายังเป็นนักวิจัยอยู่ [หัวเราะ] เราก็ไปอ่านในสิ่งที่เราอยากอ่าน หรือว่าโทรคุยเคลียร์งานก็เป็นเรื่องของการใช้เวลาว่างในการเคลียร์งาน ในมุมเมื่ออยู่บ้านมีเวลาปกติแล้วแต่ ณ วันนั้นว่าต้องการทำอะไร บางทีทำงานบ้านบ้าง ไปเที่ยวบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ก็วนอยู่อย่างนี้คิดว่าแต่ละคนไม่น่าจะเหมือนกัน [ยิ้ม]