บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : ดร.สุวัฒน์ โสภิตพันธ์

บทสัมภาษณ์ ดร.สุวัฒน์ โสภิตพันธ์ วิศวกรอาวุโส ทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ ดร.สุวัฒน์ โสภิตพันธ์ วิศวกรอาวุโส ทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.)  สวทช. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • ดร.สุวัฒน์ โสภิตพันธ์
  • ตำแหน่ง วิศวกรอาวุโส ทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) สวทช.

แนะนำตัว

ก่อนมาร่วมงานกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อนหน้านี้
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้เริ่มทำงานที่แรกกับบริษัทเอกชนทำไปได้สักระยะหนึ่งรู้สึกว่างานที่ทำไม่ตอบโจทย์ชีวิต จึงได้ลาออกจากชีวิตการทำงานและกลับไปสู่ชีวิตการเรียนในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเรียนในช่วงนั้นต้องหาทุนเพื่อเรียนด้วยตัวเอง และโชคดีที่จุฬาลงกรณ์ฯ มีทุนให้กับนิสิตที่เป็นผู้ช่วยห้องปฏิบัติการ หรือผู้ช่วยอาจารย์ ผมเองก็ได้รับทุนนั้น ในช่วงที่เรียนที่จุฬาฯ ได้มีโอกาสได้รับทุนสำหรับการทำวิจัยไปทำวิจัยที่ประเทศเยอรมนี

ชีวิตหลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ไม่คิดว่าจะมาทำงานที่ สวทช. เพราะไม่รู้ว่า สวทช. จะมีงานที่ตรงกับองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาหรือไม่ แต่มีรุ่นน้องที่เรียนมาด้วยกันได้เข้ามาทำงานที่ สวทช. ก่อน โดยบอกว่าที่ สวทช.
มีห้องปฏิบัติการเปิดใหม่เกี่ยวกับ semi conductor แล้วผมเรียนจบมาทางด้านนี้พอดี ทำให้ตัดสินใจมาลองสมัครงานที่ สวทช. มาสมัครแล้วเรียกสัมภาษณ์ก็ได้ทำงานเลย เพราะว่าไม่มีคนมาสมัครเลยไม่มีคู่แข่ง [หัวเราะ]

เริ่มต้นชีวิตการทำงานอีกครั้งที่ สวทช. โดยช่วงแรกของการทำงานอยู่ที่ Thai Microelectronics Center: TMEC ผมไปทำเรียกได้ว่าเป็นรุ่นทาสีตึก [หัวเราะ] ยังอยู่ระหว่างการก่ออิฐถือปูนอยู่ เครื่องจักรก็ยังไม่มี ความพร้อมต่างๆ ยังไม่มี ทำงานอยู่ที่ TMEC ราว 16 ปี และได้หันมาทำอีกงานหนึ่งเป็นวิศวกรอาวุโส ในส่วนทีมวิจัยระบบอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรม ทำงานในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Industry 4.0 เรื่องของการใช้ระบบ IT การนำระบบอัตโนมัติต่างๆ มาเสริมให้การทำงานของอุตสาหกรรมไปสู่ยุคของการใช้ข้อมูลเป็นฐานสำคัญ
ในการพัฒนาการทำงานต่าง ๆ ภายในอุตสาหกรรม

ทักษะ คุณสมบัติ และความสามารถที่สำคัญต่องานวิจัย

ความสำคัญของงานวิจัยจะเน้นด้านการพัฒนาความรู้ และ output ที่ได้จากการวิจัยที่นักวิจัยสร้างขึ้นมา นำไปขยายผลต่อให้กับผู้ใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานที่ผมทำผู้ใช้หลักคืออุตสาหกรรม เราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมหันมายอมรับในสิ่งที่นักวิจัยได้พัฒนาขึ้น และนำไปใช้งานได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่นำไปแค่ทดลองแล้วเลิกใช้ สำคัญที่ว่าจะทำอย่างไรให้โรงงานยอมรับและนำไปใช้อย่างต่อเนื่องและให้มองเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัย ทำให้งานวิจัยสามารถไปต่อได้ ทักษะสำคัญคือ ความสามารถในการที่จะพูดคุยกับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าใจ การสื่อสารควรใช้ภาษาที่ภาคอุตสาหกรรมเข้าใจ หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาทางวิชาการเพราะภาคอุตสาหกรรมอาจจะไม่เข้าใจ [ยิ้ม] พอไม่เข้าใจ
ก็จะปฏิเสธ หากการสื่อสารเป็นภาษาเดียวกับภาคอุตสาหกรรมจะทำให้เราและเค้ากลมกลืนไปด้วยกัน ทำให้เกิดเชื่อมั่นได้ว่าสิ่งที่เรานำไปเสนอนั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมได้จริง จากทักษะตรงนี้ผมโชคดีที่ได้ทำงานกับภาคเอกชนมีโอกาสทำงานและคลุกคลีกับทั้งทางด้านผู้ขาย ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และโรงงานที่นำผลิตภัณฑ์ไปใช้ จึงทำให้สามารถสื่อสารภาษาเดียวกันรู้เรื่อง เข้าใจวิธีการ เข้าใจขั้นตอน เข้าใจความคิดของฝั่งอุตสาหกรรม จากประสบการณ์นี้เป็นตัวช่วยทำให้เราสื่อสารกับภาคอุตสาหกรรมได้ดี

ผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในการทำงาน

ถ้านับความภาคภูมิใจตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านสำหรับตัวผมเองนับไม่ถ้วน เพราะทุกวันได้ตื่นมาทำงานที่นี่ก็เป็นความภาคภูมิใจแล้วว่าผมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีคนรู้จัก  มีคนเชื่อถือ [ยิ้ม]

แต่ถ้ามองในมุมการทำงานความภาคภูมิใจในตัวเนื้องานมีหลายช่วง เช่น ในช่วงต้นของการทำงานกับ สวทช. ได้ทำงานที่ TMEC เป็นความภาคภูมิใจของตัวเองว่าเป็นรุ่นบุกเบิกทำศาสตร์ด้านนี้ให้เกิดขึ้นจริงภายในประเทศ จากก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำได้ อาจจะมีแต่จะไปแฝงอยู่กับห้องปฏิบัติการย่อยตามมหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้ผลงานเล็ก ๆ ส่วนเดียว แต่พอเอามารวมกันกลายเป็นผลงานที่ใช้ได้จริง หรือสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ผู้ใช้มองเห็นและนำไปใช้ได้จริงสิ่งนี้คือความภาคภูมิใจในตอนช่วงต้นที่เริ่มทำงานกับ สวทช.

ในปัจจุบัน ความภาคภูมิใจคือ มีส่วนร่วมในการทำให้โรงงาน ผู้ใช้งานได้พัฒนาตนเอง ได้ใช้สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับตัวเค้าเองได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจหนึ่งที่ว่าเราคิดอะไรขึ้นมา เราพัฒนาอะไรขึ้นมาบางอย่างแล้วมีคนนำไปใช้มันคือสิ่งที่เรียกว่าความภาคภูมิใจของเรา

ความท้าทายในการทำงานและมีวิธีในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น

ความท้าทายที่สุดของชีวิตการทำงาน คือ ต้องทำบางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่มีองค์ความรู้ดั้งเดิมที่เรียนมา ต้องหาความรู้เพิ่ม ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการที่จะไปขุดเอาความรู้จากที่อื่นมา หรือจะไปพยายามหาความรู้ในแต่ละที่ให้มาประกอบร่างให้เป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้จริง สิ่งนี้คือสิ่งที่ท้าทายมาก องค์ความรู้ในสมัยก่อนนั้นหายากนึกภาพย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีก่อน ระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม เรื่องของข้อมูลในสารสนเทศยังไม่ค่อยมี ถึงมีก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ในสมัยก่อนต้องใช้เงินซื้อความรู้เราก็ต้องทำ กลับกันในสมัยนี้ความรู้หาได้ง่ายขึ้น

ความท้าทายอีกเรื่องคือเรื่อง “คน” จะทำงานอะไรให้สำเร็จผมให้เครดิตของความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องของทีมมากกว่า ดังนั้นการที่จะให้คนหลาย ๆ คนมาทำงานให้เกิดผลงานที่มีเป้าหมายเดียวกันแล้วทำให้สำเร็จในเวลาที่กำหนดเป็นความท้าทายสูงมาก ว่าจะทำให้งานสำเร็จอย่างไร ทีมเดินไปได้อย่างไร อันนี้ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดชีวิตการทำงานว่าเราจะทำอะไรให้สำเร็จเราต้องมีทีมที่ดีไม่ใช่แค่เราเก่ง

แนวทาง/วีธีการส่งต่อ หรือการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ให้กับทีมงาน

ความรู้บางอย่างเราสามารถบันทึกได้ แต่ว่าหลายอย่างเหมือนกับเป็นสิ่งที่ต้องหล่อหลอมในเชิงความคิด ทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญว่าคนที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่ไปคอยวิ่งตามคนอื่นเค้า หรือคอยมองแค่ความสำเร็จของคนอื่น แล้วเราพยายามทำตามให้ได้แบบนั้น ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องมากนักตามความคิดของผม [ยิ้ม] ความคิดของผมที่ผ่านมาในการทำงานของผมคือเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเอง เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวเราเองก็ต้องยอมรับว่ามาทำงานในสายวิจัย สายเทคนิค หนทางในการทำงานไม่ได้ปูไว้ด้วยกลีบกุหลาบ มันมีแต่อุปสรรคทั้งนั้นองค์กรจ้างเรามาทำงานก็เพื่อมาแก้ปัญหา [หัวเราะ]

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการบันทึก ถ่ายทอด ส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปว่า สิ่งที่เราทำมานั้นสามารถแก้ปัญหาได้ เรามีกระบวนการคิดกระบวนการทำอย่างไร แต่ต้องบอกด้วยว่าการแก้ไขปัญหา 1 ปัญหาอาจจะไม่ได้ทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย มันอาจจะไปสร้างปัญหาใหม่ให้เราตามไปแก้ต่ออีกก็ได้ [หัวเราะ] เพราะฉะนั้นต้องมีแนวความคิดหรือทัศนคติที่ว่า อย่าหยุดอยู่แค่ปัญหาเดียว พยายามคิดให้กว้าง คิดให้ไกล คิดให้ยาวไกลไปกว่าปัญหาแรก ทำใจไว้เลยล่วงหน้าว่า “ทำงานจะต้องเจอปัญหา” [หัวเราะ] มันไม่มีทางว่าทำงานแล้วสวยหรูเพราะหากทำงานแล้วไม่เกิดปัญหามันก็เหมือนหุ่นยนต์ที่ทำงานไปตามโปรแกรมที่ตั้งไว้หากเป็นแบบนี้มันก็ไม่ใช่องค์กรวิจัยหรือองค์กรพัฒนา [ยิ้ม]

ความประทับใจที่มีต่อองค์กรและการทำงานที่ สวทช.                                                                                                

อันดับแรก สวทช. มีอะไรใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา อย่างที่เล่าไปในตอนต้นว่าที่ตัดสินใจมาทำงานที่ สวทช. ก็เพราะ สวทช. สร้างสิ่งใหม่ และเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนได้มีโอกาสได้ทำ นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้ สวทช. เป็น idol ของประเทศ
ในการพยายามที่จะพัฒนา พยายามที่จะสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาประดับไว้ในประเทศ และที่สำคัญคือ ผมผ่านช่วงเวลาการทำงานกับ สวทช. มา 20 กว่าปี ผ่านนโยบายอะไรมาหลายยุคแต่ทุกนโยบายสร้างขึ้น คือสิ่งเป็นผลลัพธ์ที่จะส่งต่อ และตอบโจทย์ให้ประเทศ  ไม่ใช่เป็นการสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวย ให้กับตัวเอง แต่เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติให้กับคนในประเทศมากกว่า นี่คือความประทับใจ เราไม่เน้นถึงว่าเราจะมีทรัพย์สินเงินทอง ไม่เน้นด้านความหรูหรา ฟุ่มเฟือย เราเน้นความรู้แนวทางในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น พูดตรง ๆ ไม่ได้คิดว่าจะอยู่องค์กรนี้จนเกษียณ [ยิ้ม] แต่ด้วยความองค์กรเป็นแบบนี้ เรามาอยู่แล้วเราช่วยเค้าสู้ ผลักดัน ให้มีเกิดผลดีต่อประเทศ ต่อประชาชนนี่คือสิ่งที่ผมมาเปลี่ยนความคิดในตอนหลังและตั้งใจอยู่ทำงานกับองค์กรให้ยาวที่สุด [ยิ้ม]

การเตรียมตัวก่อนเกษียณและเป้าหมายหลังเกษียณมีวิธีการอย่างไร

เตรียมตัวเองให้รู้ว่าจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง จะต้องมีชีวิตหลังเกษียณอย่างไร เรียกว่าใช้ความรู้เท่าที่เราเคยร่ำเรียนมา ที่มีประสบการณ์ในการทำงานให้กลับมาเป็นประโยชน์กับชีวิตหลังเกษียณให้ได้มากที่สุด สำหรับอนาคตจะไปทำอะไร ไม่ได้สนใจว่าจะต้องไปทำอะไรเพราะบางทีแผนที่ได้วางไว้เมื่อวันเวลาผ่านไปก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไม่ได้คือตัวเอง เราต้องใช้ชีวิตในช่วงต่อไปให้ได้ ให้ให้คุ้มค่า ใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ต่อตัวเองต่อครอบครัวต่อคนรอบข้าง [ยิ้ม]

ในอนาคตอยากเห็น สวทช. ไปในทิศทางแบบไหน

ภาพของ สวทช. อยากให้คงภาพความประทับใจแบบนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเป็นองค์กรที่มองโลกไปข้างหน้าให้ไกลขึ้น รู้ให้ได้มองให้ออกว่าโลกนี้ต้องการอะไร และเราต้องมีการพัฒนาองค์กร พัฒนาคนที่อยู่ในองค์กรอย่างไร และรักษาคนเก่งให้มาช่วยพัฒนาองค์กร ชาติ อย่างไร จุดนี้สำคัญเพราะว่าองค์กรหลายแห่งที่เคยรู้จักถ้าไม่พัฒนาหรือหยุดการวันหนึ่งก็จะถึงจุดอิ่มตัวแล้วแตกสลายไปในที่สุด สำหรับ สวทช. ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็นองค์กรด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นย้ำในเรื่องการพัฒนา เพราะการพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุดต่อให้เราพัฒนาได้ดีแค่ไหนมันก็ต้องมีที่ดีกว่าขึ้นไปอีก สวทช. จะต้องมองเห็นอนาคตให้ได้ และต้องสร้างอนาคตให้กับประเทศให้ได้นี่คือความคาดหมายที่อยากเห็น สวทช. ในวันข้างหน้า [ยิ้ม]