สาหร่ายทะเล (seaweed) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชชั้นต่ำ ที่ยังไม่มีราก ลำต้น และใบที่แท้จริง ไม่มีระบบท่อลำเลียงอาหารจากรากสู่ลำต้นแบบพืชชั้นสูง เช่น หญ้าทะเล แต่จะใช้วิธีดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลสู่เซลล์ต่างๆ โดยตรง

สาหร่ายทะเลเป็นพืชที่ไม่มีดอกและผล แต่แพร่กระจายพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์และแบ่งตัว ลักษณะของสาหร่ายมีมากมายหลายแบบ ตั้งแต่แบบที่เป็นแพลงก์ตอนลอยไปลอยมาในน้ำ ซึ่งพวกนี้จะมีขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางชนิดมีเซลล์เดียว บางชนิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิดก็จับตัวกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นสาย จนถึงชนิดที่มีขนาดใหญ่เห็นเป็นต้นคล้ายกับพืชชั้นสูง

สาหร่ายทุกชนิดมีความสามารถในการสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสง ซึ่งสารสังเคราะห์แสงที่อยู่ในสาหร่ายแต่ละชนิดยังสามารถใช้ในการแบ่งกลุ่มสาหร่ายทะเลได้ ดังนี้

สาหร่ายสีเขียว (green algae) กลุ่ม Cholorophyceae เช่น Caulerpa peltata

สาหร่ายสีน้ำตาล (brown algae) กลุ่ม Phaeophyceae เช่น Dictyota cilialata

สาหร่ายสีแดง (red algae) กลุ่ม Rhodophyceae เช่น Halymenia dutyillei

จากการศึกษาทั่วโลกพบสาหร่ายทะเลประมาณ 12,000 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 4,000 ชนิด สาหร่ายสีแดง 6,000 ชนิด และสาหร่ายสีน้ำตาล 2,000 ชนิด

ในขณะที่ประเทศไทยพบสาหร่ายทะเลประมาณ 350 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 100 ชนิด สาหร่ายสีแดง 180 ชนิด และสาหร่ายสีน้ำตาล 70 ชนิด

 

นอกจากทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำทะเลเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงแล้ว สาหร่ายทะเลยังมีประโยชน์หลายอย่างกับสัตว์น้ำในทะเล และมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้เป็นอาหาร

สัตว์น้ำในทะเลกินสาหร่ายเป็นอาหาร ใช้เป็นที่หลบภัย ที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

มนุษย์เองก็ใช้สาหร่ายเป็นอาหารเช่นเดียวกัน โดยมีทั้งใช้บริโภคโดยตรง และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใช้ในการทำวุ้น เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์ยาหลายชนิด เนื่องจากสาหร่ายมีแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์อยู่หลายชนิด เช่น แคลเซียม คลอรีน โครเมียม โคบอลต์ ทองแดง (คอปเปอร์) ไอโอดีน เหล็ก แมกนีเซียม ซีลีเนี่ยม โซเดี่ยม ซัลเฟอร์ วานาเดียม และสังกะสี เป็นต้น

อีกทั้งสาหร่ายยังมีศักยภาพในการช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในน้ำ ด้วยการนำคาร์บอนไดออกไซด์มาเปลี่ยนรูปเป็นหินปูนและสะสมไว้ตามลำต้นและใบ

ตัวอย่างของสาหร่ายทะเลที่มีประโยชน์

สาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa racemosa) ใช้ลวกกินเป็นเครื่องเคียงน้ำพริก

สาหร่ายผมนาง (Gracilaria tenuistipitata) นิยมนำไปทำ ยำสาหร่ายผมนาง

สาหร่ายข้อ (Gracilaria salicomia) นำไปทำ ยำสาหร่ายข้อ

สาหร่ายสีแดง (Gelidella accerasa) ใช้ในการสกัดวุ้น

สาหร่ายสีแดง (Asparagopsis sp.) มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ถูกนำไปสกัดและเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และอาหารเสริม

สาหร่ายใบมะกรูด (Halimeda macroloba) มีศักยภาพช่วยลดโลกร้อน

นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์จากสาหร่ายทะเลเท่านั้น แต่สาหร่ายทะเลอีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ หรือหลายชนิดอาจยังไม่มีการค้นพบประโยชน์ที่ซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต