เชื่อหรือไม่ แม่ลูกแมงป่องมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ไม่แพ้แม่ลูกคู่อื่นๆ
ยกตัวอย่าง ลูกแมงป่องช้างในระยะที่ 1 นี้ แต่ละตัวหนักประมาณ 0.2 กรัม แรกเกิดจะมีสีขาวและสีจะค่อยๆ คล้ำขึ้น แล้วลอกคราบครั้งแรกบนหลังแม่ ใช้เวลาตั้งแต่เกิดจนลอกคราบครั้งที่ 1 ประมาณ 8-9 วัน หลังจากลอกคราบครั้งที่ 1 หมดทุกตัวแล้ว จะอยู่บนหลังแม่ต่อประมาณ 3-4 วัน เมื่อแข็งแรงแล้ว จึงลงสู่พื้นดิน
หลังจากที่ลงสู่พื้นดิน ลูกแมงป่องช้างแต่ละตัวมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน มีการลอกคราบเพื่อการเจริญเติบโต 7 ครั้ง หลังจากลอกคราบใหม่ๆ ลูกแมงป่องช้างจะมีสีอ่อนกว่าตัวอื่นๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่อนแอ และมีโอกาสถูกจับกินได้ง่ายทั้งจากผู้ล่าอื่นและจากการกินพวกเดียวกันเอง
การเจริญเติบโตตั้งแต่แรกเกิดจนเป็นตัวเต็มวัยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงจับคู่ผสมพันธุ์ ออกลูกปีละครั้ง และในช่วงชีวิตหนึ่งมีลูกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง แมงป่องช้างเป็นพวกที่ชอบขุดรูอยู่ใต้ดินหรือตามใต้ขอนไม้ โดยในโพรงพบว่ามีการเลี้ยงดูลูกในแต่ละรุ่นเป็นระยะเวลายาวนาน 1-2 ปี ในโพรงจึงพบลูกหลายๆ รุ่นอยู่ด้วยกัน ซึ่ง Shivashankar (1994) เรียกว่าพฤติกรรมการอยู่รวมกันแบบกึ่งสังคม (Advanced sub social behavior)
พฤติกรรมที่น่าสนใจของแมงป่องคือการเลี้ยงดูลูก เช่นพบพฤติกรรมการป้อนน้ำให้ลูกของแมงป่องช้างภายนอกโพรง ใกล้ๆบริเวณปากรู แม่ช่วยจับเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ให้ลูก อีกทั้งป้องกันอันตรายให้ลูก โดยช่วงระยะแรกๆ ลูกมักหลบเข้าซุกใต้ตัวแม่ และอยู่รวมกันเป็นกระจุก
แม่แมงป่องป้อนน้ำให้ลูก
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแมงป่อง
- แมงป่องทุกชนิดมีพิษ เป็นสารประกอบพวกโปรตีน แต่ละชนิดมีความรุนแรงของพิษแตกต่างกัน
- แมงป่องใช้พิษเพื่อทำให้เหยื่อมีอาการเป็นอัมพาต แล้วจึงค่อยๆ กินเหยื่อเป็นอาหาร แมงป่องจึงเป็นผู้ล่าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ช่วยควบคุมจำนวนของเหยื่อได้แก่ แมลง และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กๆ
- ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับพิษของแมงป่องเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้พิษแมงป่องฆ่าเซลล์มะเร็ง
- แมงป่องบางชนิด เช่น แมงป่องช้าง ถูกนำมาบริโภคเป็นอาหารและด้วยความเชื่อในเรื่องสรรพคุณทางยาเช่น การรักษาโรคอัมพาต