ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงประชาคมปะการังแข็งในแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะทะเลใต้ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เราพบว่าแนวปะการังในบริเวณนี้มีความหลากหลายของชนิดปะการังแข็งไม่แพ้บริเวณอื่นๆ ในอ่าวไทย หรือบริเวณเกาะสมุยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่มีคนรู้จักมากกว่า
ปะการังแข็ง (Scleractinian coral) เป็นสัตว์ทะเลที่สามารถดึงหินปูนในน้ำทะเลมาสร้างเป็นบ้านให้ตัวอันอ่อนนุ่มของมันอาศัยหลบภัย บ้านหินปูนจะถูกสร้างขึ้นใหม่เรื่อยๆ ขยายขนาดออกไปเพื่อยึดครองอาณาเขตให้ได้มากที่สุด เพราะการยึดครองพื้นที่เป็นเครื่องยืนยันความอยู่รอดของพวกมัน
ปะการังแข็งแต่ละชนิดสร้างบ้านหินปูนของมันลักษณะแตกต่างกันออกไป ในปะการังแข็งที่อยู่ร่วมกันหลายตัว (Colonial organism) บ้านหินปูนอาจแตกต่างกันตั้งแต่ลักษณะโครงสร้างใหญ่ของกอโคโลนีที่ขยายขนาดออกไป (Growth form) เช่น มีลักษณะกอเป็นกิ่งก้านเขากวาง เป็นก้อน เป็นแผ่นตั้ง เป็นแผ่นจาน เป็นแผ่นเคลือบ หรือเป็นพุ่ม และแต่ละชนิดยังมีความแตกต่างกันที่ลักษณะโครงสร้างย่อยของแต่ละห้องหรือแต่ละช่องที่ปะการังแต่ละตัวอาศัยอยู่อีกด้วย ส่วนในปะการังแข็งพวกที่อยู่อาศัยตัวเดียว (Solitary organism) ก็จะสร้างบ้านเดี่ยวเป็นช่องเดี่ยวสำหรับตัวเดียวซึ่งมีลักษณะโครงสร้างรายละเอียดภายในแตกต่างกันไป
ปะการังแข็งชนิดที่เด่นๆ หรือพบจำนวนมากในบริเวณหมู่เกาะทะเลใต้ ได้แก่
Porites lutea (ปะการังโขด) นับเป็นปะการังชนิดที่พบทั่วไปและจำนวนมากที่สุดชนิดหนึ่งในบริเวณหมู่เกาะทะเลใต้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความสามารถในการกำจัดตะกอนของปะการังโขด คือ ปะการังโขดจะสร้างเมือกมาปกคลุมตัวเองเพื่อดักตะกอน แล้วจึงขับแผ่นเมือกพร้อมตะกอนออกไป นอกจากนั้นปะการังโขดยังเป็นปะการังที่มีความทนทานต่อภัยธรรมชาติต่างๆ ทั้งแรงกระแทกจากคลื่นลมมรสุม หรือแม้แต่ปรากฎการณ์การฟอกขาว
Pavona cactus เป็นปะการังแข็งอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในบริเวณตื้นๆ ของแนวปะการังหมู่เกาะทะเลใต้ ลักษณะบ้านหินปูนของปะการังชนิดนี้เป็นแผ่นตั้งบางเล็ก หงิกๆ งอๆ ลักษณะแผ่นตั้งบางนี้ทำให้มันแตกหักได้ง่าย และสามารถโตขยายพื้นที่ต่อไปจากชิ้นส่วนที่แตกออกมา (fragmentation)
Pocillopora damiscornis เป็นปะการังแข็งขนาดไม่ใหญ่นักที่สร้างบ้านหินปูนเป็นลักษณะพุ่ม บ้านพุ่มของมันไม่เพียงแต่ไว้ให้พวกมันอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กๆ อย่างปู ดาวเปราะ หนอนทะเลบางชนิด ในบ้านหนึ่งพุ่มเราสามารถพบสัตว์เหล่านี้จำนวนกว่าร้อยตัวอาศัยอยู่ร่วมกับปะการังด้วย
Turbinaria retiformis เป็นปะการังอีกชนิดที่สามารถมีชีวิตและเติบโตในบริเวณที่มีตะกอนสูง ในบริเวณที่แสงส่องถึงมากพอ มันจะสร้างบ้านให้มีลักษณะเป็นทรงโคนและหยัก แต่ในบริเวณที่แสงน้อย มันจะสร้างบ้านให้แผ่แบนเป็นจานเพื่อให้ได้รับแสงให้มากที่สุด
Acropora millepora เป็นปะการังเขากวางชนิดหนึ่ง ที่สร้างบ้านเป็นกึ่งพุ่มกึ่งโต๊ะ และแต่ละช่องตัวปะการังมีลักษณะเป็นเหมือนกลีบดอกไม้ ปะการังเขากวางชนิดนี้มีฤดูสืบพันธุ์ในช่วงเดือนเมษายน โดยพวกมันเกือบทั้งหมดในบ้านจะสร้างและปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมียออกไปเพื่อผสมพันธุ์กับเซลล์สืบพันธุ์จากปะการังบ้านอื่น
Symphyllia recta (ปะการังสมองร่องลึก) สร้างบ้านเป็นลักษณะก้อนและมีโครงสร้างหินปูนภายในช่องที่ปะการังอยู่ค่อนข้างแหลมคมกว่าปะการังกลุ่มอื่น ถ้านักดำน้ำไปจับโดนอาจถูกบาดได้ง่ายๆ ปะการังสมองร่องลึกมีขนาดตัวใหญ่และมีโครงสร้างพิเศษไว้ป้องกันไม่ให้ปะการังชนิดอื่นขยายอาณาเขตเข้ามาใกล้
Fungia spp. (ปะการังเห็ด) เป็นปะการังพวกที่อยู่อาศัยตัวเดียว (Solitary organism) สร้างบ้านที่มีลักษณะเหมือนเห็ดหงายขึ้น ก้านเห็ดหลุดออกไปเมื่อปะการังโตและมีขนาดใหญ่ขึ้น
Tubastraea coccinea เป็นปะการังแข็งที่มีสีสันสวยงาม และต่างกับชนิดอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นตรงที่ไม่มีสาหร่ายเซลล์เดียวอาศัยร่วมอยู่ในเนื้อเยื่อด้วย ทำให้พวกมันไม่ต้องการแสงเหมือนปะการังชนิดอื่นที่ต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงมากพอเพื่อให้สาหร่ายในตัวสามารถสังเคราะห์แสงได้ พวกมันจึงไม่ต้องแย่งพื้นที่ที่มีจำกัดในแนวปะการังและสามารถอาศัยอยู่ตามผาหิน บริเวณแนวตั้งหรือด้านใต้แง่งหินได้
เช่นเดียวกับแนวปะการังในบริเวณอื่นๆ ของอ่าวไทย แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะทะเลใต้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์มากมาย เช่นการปรับเปลี่ยนสภาพชายฝั่ง การชะล้างของสิ่งต่างๆ จากชายฝั่งลงสู่ทะเล การเก็บและทำประมงที่มากเกินขีดความสามารถรองรับได้ของระบบนิเวศต่างๆ ในทะเล เป็นต้น แม้ว่าความรู้และความเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปในระบบนิเวศปะการังของบริเวณหมู่เกาะทะเลใต้จะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นจะมีส่วนช่วยผลักดันให้การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรปะการังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดย ศรีสกุล ภิรมย์วรากร