เพื่อการอนุรักษ์โลมาสีชมพู แนวหญ้าทะเล และปะการังชายฝั่ง

           

จากข้อมูลการศึกษาภายใต้ชุดโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ ขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ทำให้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยโลมาสีชมพูถือเป็นพระเอกของทะเลแห่งนี้ และยังเป็นตัวแทนความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลแห่งนี้ด้วย

            การอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เริ่มมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนจากชุดโครงการ ได้มีการอบรม และประชุมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่หลายครั้ง จนนำมาสู่โครงการจัดทำทุ่นกำหนดเขตทางทะเลเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการด้านการอนุรักษ์ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก

            โครงการจัดทำทุ่นกำหนดเขตทางทะเลเพื่อการอนุรักษ์ในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย คือโครงการ BRT และบริษัทโททาล อีแอนด์พี ไทยแลนด์ มูลนิธิโททาล สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นหลักในการสนับสนุนทุนในครั้งนี้ และมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาช่วยในการจัดทำทุ่น กำหนดจุดวางแนวทุ่น และการดำเนินการวางทุ่น และที่สำคัญที่สุดคือ ชุมชน ซึ่งจะมีบทบาทในการดูแลทุ่น และดำเนินการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่

            โดยวัตถุประสงค์ของการวางทุ่นหลักๆ คือ การอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ของโลมาสีชมพู แนวหญ้าทะเล และแนวปะการังชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด

            การวางแนวทุ่นกำหนดเขตทางทะเลเพื่อการอนุรักษ์ในครั้งนี้ ใช้ทุ่นทั้งหมด 30 ลูก ระยะทาง 12 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเล ตั้งแต่บริเวณเกาะผี ซึ่งเป็นเขตรอยต่อทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปจนถึงอ่าวท้องโหนดบริเวณที่มีโลมาสีชมพูอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ ชุมชนตำบลท้องเนียน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่จะทำหน้าที่ดูแลแนวทุ่นแนวนี้ ได้มีการแบ่งหน้าที่การดูแลทุ่น โดยให้มีผู้ดูแลประจำแต่ละทุ่น เป็นจำนวน 30 คน

            แนวทุ่นดังกล่าวจะช่วยในการบอกแนวเขตที่อยู่ และแหล่งหาอาหารของโลมาสีชมพู ซึ่งเรือนำเที่ยวสามารถมาจอดในบริเวณดังกล่าวเพื่อรอชมโลมาได้ นอกจากนี้ยังเป็นแนวเขตหลักที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันเรือประมง และเรือขนส่งขนาดใหญ่ที่จะเข้ารบกวนในบริเวณที่มีโลมาสีชมพูอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือประมงขนาดใหญ่ที่เป็นเรือประมงอวนรุน อวนลาก นอกจากจะรบกวน กีดขวางเส้นทางของโลมาสีชมพูจนเป็นสาเหตุหลักของการตายของโลมาแล้ว การใช้อวนลาก หรือรุนไปตามพื้นท้องทะเลเพื่อกวาดเอาทรัพยากรใต้ทะเล ยังส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเลลดลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย