ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติผ่านไปแล้วกับเวทีเสวนา "น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย" ซึ่งโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) จัดขึ้น ในวันที่ 18 มีนาคม ณ อาคาร สวทช. โดยได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มีการนำเสนอกรณีงานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นการศึกษากรณีตัวอย่างของผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่อยู่บนฐานความรู้จึงส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า แม่น้ำโขงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหลักอันอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของปลา 1,700 ชนิด ไกหรือสาหร่ายน้ำจืด กุ้ง หอย ปู และสัตว์น้ำอีกมากมาย ลุ่มน้ำโขงจึงมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของผู้คนหลายร้อยล้านคน ตลอดทั้งลุ่มน้ำ และ 6 ประเทศที่แม่น้ำไหลผ่าน คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนี้สายน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมที่หลากหลาย เช่น วัฒนธรรม ประเพณีเกี่ยวกับการจับปลา ซึ่งได้พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองจากรุ่นสู่รุ่น

               
แต่ทว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเน้นการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศจีน โครงการขยายถนนเพื่อเชื่อมต่อประเทศต่างๆ ตามแนวคิดสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อขยายช่องทางเดินเรือจากเชียงรุ่งในสิบสองปันนามาสู่เชียงแสนในประเทศไทย และหลวงพระบางในประเทศลาว เป็นต้น โดยการวางแผนดำเนินการโครงการเหล่านี้เป็นไปในรูปแบบที่ไม่มีเวทีสำหรับทบทวน ตรวจสอบ หรือศึกษาผลกระทบทางด้านสภาพแวดล้อมและสังคม ดังนั้นชุมชนท้องถิ่นจึงตกอยู่ในสภาพที่ไร้สิทธิและปราศจากการต่อรอง แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง

จากการศึกษาพบว่าผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ แบ่งได้ 3 ประการ คือ ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับรากหญ้า และผลกระทบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวัฏจักรการขึ้นลงของน้ำตามฤดูกาล เนื่องจากการไหลบ่าของน้ำในช่วงฤดูฝนจะนำพาปลานานาชนิดจากลำน้ำโขงสู่ลำน้ำสาขา เพื่อวางไข่ขยายพันธุ์ จากตัวอย่างการสร้างเขื่อนมั่นวาน (Manwan) ในประเทศจีน ทำให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ขึ้นลงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อการอพยพและการวางไข่ของปลา ทำให้ปริมาณปลาเริ่มลดลง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ของท้องถิ่น นอกจากนี้ความขุ่นและความผันผวนของระดับน้ำ ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของไกหรือสาหร่ายน้ำจืด ที่มีปริมาณลดลงด้วยเช่นกัน จึงทำให้ชาวบ้านขาดทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญ

ผลที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อการอยู่รอดของชุมชน ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาทำการเพราะปลูกในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก เมื่อหมดหนทางทำมาหากินชาวบ้านบางกลุ่มจึงต้องอพยพย้ายถิ่นไปหางานทำในเมือง ในขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มเริ่มมองหารูปแบบการปรับตัว โดยการหามาตรการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม และมีการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์เกิดขึ้น โดยกลุ่มแรกคือ "กลุ่มรักษ์เชียงของ" ซึ่งเป็นเครือข่ายของชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ครู นักวิชาการท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาจากต่างประเทศ รวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของชุมชน รวมถึงได้มีการปรับระบบการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น ออกกฎเกณฑ์ในการจับปลา กำหนดพื้นที่และเวลาห้ามจับปลาในท้องถิ่นของตน ซึ่งเป็นมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรของท้องถิ่นที่กำลังลดลง

อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรได้แพร่ขยายออกไปยังทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และตระหนักว่าการสร้างเครือข่ายของชุมชนท้องถิ่นเป็นพื้นฐานสำคัญของยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเครือข่ายประชาสังคมในระดับชุมชน และเชื่อมโยงกับองค์กรประชาสังคมโลก ร่วมกันทำงานด้านการรณรงค์ และนำเสนอนโยบาย รวมถึงผลักดันข้อเรียกร้องที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาตรการเชิงนโยบายให้เกิดประโยชน์กับสาธารณชนในวงกว้าง  ดังจะเห็นได้จากกรณีการรณรงค์ต่อต้านโครงการระเบิดแก่งของแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือของจีน เครือข่ายประชาสังคมท้องถิ่นของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ทบทวนข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลจีน ในขณะเดียวกัน อีก 76 องค์กร จาก 25 ประเทศก็ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลของ 6 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ผลของการเรียกร้องครั้งนี้ทำให้โครงการพัฒนาเส้นทางพาณิชย์นาวี และระเบิดแก่งยุติลง

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์และพลิกฟื้นธรรมชาติ รวมถึงเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่น  และความอยู่รอดของคนทั้งประเทศ เพราะทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่จะช่วยให้คนไทยสามารถยืนหยัดสู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้โดยที่เราไม่ต้องอดอยาก และอยู่รอดได้หากระบบทุนนิยมต้องล้มสลายลง

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในลุ่มน้ำโขง สามารถติดตามได้ในหนังสือรวมเล่มงานวิจัย เรื่อง แม่น้ำแห่งชีวิต ซึ่งรวบรวมโดยทีมวิจัย ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โครงการ BRT โทร. 0-2644-8150-4