โลมาสีชมพูที่ขนอม

ประชุมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการการท่องเที่ยว พื้นที่ขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ต่อลมหายใจให้โลมาสีชมพู

โลมาสีชมพูเป็นสัญลักษณ์ของทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของโลมา ทำให้โลมาประจำถิ่นเหล่านี้อาศัยอยู่ที่ทะเลขนอมแห่งนี้มานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่จากการทำประมงที่ไม่ถูกต้อง การใช้เรืออวนรุก อวนลาก ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลลดน้อยลง และการท่องเที่ยวชมโลมาที่มีจำนวนเรือนำเที่ยวมากขึ้น ส่งผลต่อวิถีชีวิตของโลมาสีชมพู และทำให้โลมาสีชมพูลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

       โครงการ BRT ร่วมกับบริษัทโททาล อีแอนด์พี ประเทศไทย และมูลนิธิโททาล ฝรั่งเศส ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการประเมินจำนวนประชากรโลมาสีชมพู เพื่อให้ทราบจำนวนที่แน่นอนของโลมาในทะเลขนอม โดยนายสุวัฒน์ จุฑาพฤกษ์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้ทำการศึกษา พบว่าปัจจุบันมีโลมาสีชมพูอาศัยอยู่ในทะเลขนอมจำนวน 50 ตัว เท่านั้น

คณะผู้บริหารโครงการ BRT ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับผู้นำชุมชน         เพื่อเป็นการคืนความรู้สู่ชุมชน และร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โครงการ BRT บริษัทโททาล อีแอนด์พี ประเทศไทย และมูลนิธิโททาล ฝรั่งเศส จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยว พื้นที่ขนอมหมู่เกาะทะเลใต้” ขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ณ ต้นธารรีสอร์ท อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัย ชาวบ้านในชุมชน และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรชีวภาพ และข้อมูลที่สำคัญต่อการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชน ชมรม และกลุ่มต่างๆ ใน อ.ขนอม รวมไปถึงหน่วยงานราชการ อย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

         ทั้งนี้ จากการประชุมทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการสนับสนุนข้อมูลทางการวิจัย เช่น การจัดทำเอกสารความรู้ให้กับชุมชน และแบบสอบถามสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะบรรจุข้อมูลของโลมาทั้ง 50 ตัว โดยมีภาพครีบหลังของโลมา และชื่อของทุกตัว เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับการชมโลมา ชาวประมง และนักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนช่วยสังเกต และเฝ้าระวังสถานการณ์ของโลมา นอกจากนี้ยังมีการหารือกันเพื่อวางแนวทุ่น สำหรับบอกเขตที่อยู่อาศัยของโลมา และป้องกันการรุกล้ำของเรือประมงอวนรุน อวนลาก โดยการดำเนินการเหล่านี้ถือเป็นความร่วมมือของ 4 ฝ่าย คือ ชุมชนชาวขนอม โครงการ BRT และโททาล
 
        ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้กล่าวในช่วงสุดท้ายของการประชุมว่า การวิจัยมีความสำคัญกับการอนุรักษ์  เพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการอนุรักษ์ แต่เมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกคืนกลับให้ชุมชนรับทราบแล้ว หน้าที่สำคัญของชุมชนคือ  ต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นของตน วันนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีประโยชน์ และควรร่วมกันทำงานต่อไป

  ภาพบรรยากาศการประชุม

   นำเสนอข้อมูลโลมา นำเสนอข้อมูลโลมา ชาวบ้านมีส่วนร่วม

ดร.บำรุงศักดิ์ให้ข้อเสนอแนะ บรรยายเรื่องการวางแนวทุ่น ชมนิทรรศการ