โครงการ BRT จับมือ ปตท. ขึ้นรถไฟสายใต้ สู่เส้นทางวิจัย โครงการหาดขนอมระยะที่ 2
การสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน โดยเน้นการสร้างจิตสำนึก แทนการให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจกระแสหลัก เป็นการพัฒนาทรัพยากรบนฐานความรู้ คือ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
หาดขนอม และหมู่เกาะทะเลใต้ ในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อมูลจากการวิจัยเบื้องต้นโดยโครงการ BRT พบสิ่งมีชีวิตกว่า 700 ชนิด มีแหล่งหญ้าทะเล และป่าชายเลนที่สมบูรณ์ แต่พื้นที่ดังกล่าวกำลังถูกภัยคุกคาม เช่น ภาวะการลดลงของจำนวนโลมาสีชมพู ที่ขณะนี้เหลือเพียง 50 ตัวเท่านั้น โดยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำประมงที่ไม่ถูกต้อง เรืออวนรุน อวนลาก ได้คร่าชีวิตโลมาสีชมพูไปแล้ว 26 ตัว ภายในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จากการติดอวนเรือประมง นี่เป็นเพียงผลกระทบทางตรงเท่านั้น แต่ในทางอ้อม เรือประมงเหล่านี้จะสร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรชีวภาพต่างๆ
การลดลงของจำนวนโลมาส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยวชมโลมา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางเลือกด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งในบริเวณหาดขนอม และหมู่เกาะทะเลใต้ มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้หลายแห่ง เช่น แนวหญ้าทะเล หินพับผ้าแหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยา และแหล่งศึกษาพฤกษศาสตร์หายากบนเกาะนุ้ย
นอกจากนี้ การขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวจากเกาะสมุยมายังขนอมในอนาคต อาจนำความเจริญเข้ามาพร้อมกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการพัฒนาของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณนี้ การสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณหาดขนอม หมู่เกาะทะเลใต้เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาโครงการต่างๆ รวมถึงการระงับข้อพิพาทต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดแนวคิดการร่วมมือกันเพื่อทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ในกับชุมชน โดย โครงการ BRT และ ปตท. ซึ่งการลงนามความร่วมมืองานวิจัย “โครงการหาดขนอมระยะที่ 2” เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป้าหมายของการทำวิจัยในพื้นที่หาดขนอม จะเน้นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในหลายจุด อาทิ บริเวณอ่าวท้องหยี เน้นการอนุรักษ์แนวปะการัง หาจุดการกระจายของไข่ปะการัง เพื่อวางแผนการอนุรักษ์แหล่งปล่อยไข่ปะการัง ศึกษาระบบนิเวศเขาหินปูนที่สมบูรณ์ บริเวณเขาชัยสน ศึกษาและอนุรักษ์หิ่งห้อย บริเวณคลองบางแพง เป็นต้น
ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน โครงการ BRT ได้ร่วมมือกับ ปตท. ขับเคลื่อนการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่ผืนป่าทองผาภูมิตะวันตก ขึ้นไปถึงป่าเมฆ บนผืนป่าเขานัน จ.นครศรีธรรมราช ทำให้ได้องค์ความรู้มากมาย ทั้งการพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ สิ่งมีชีวิตที่มีรายงานพบครั้งแรกในประเทศไทย สิ่งมีชีวิตประจำถิ่น สิ่งมีชีวิตหายาก ระบบนิเวศประจำถิ่น เกิดผลกระทบด้านสังคม มีการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ ทั้งนักวิจัยรุ่นใหม่ สร้างความรู้ให้กับเยาวชน และชุมชน ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มีการศึกษาต่อยอดจากสิ่งมีชีวิตที่พบ สู่การพัฒนาเทคโนโลยี และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม เช่น สเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่น ซึ่งการลงนามความร่วมมือการวิจัยครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ คาดหวังให้มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาชุมชน สร้างความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่อย่างยั่งยืน