การดำเนินงานตามนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ให้สำเร็จไปได้ด้วยดีนั้น จำเป็นต้องอาศัยแรงกำลังจากหลายภาคส่วน ทั้งส่วนผู้ให้บริการ ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนผู้สนับสนุน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการ ‘รักษาทุกที่’ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง
ส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การให้บริการ นั่นก็คือ ‘ระบบเทคโนโลยี’ ที่เข้ามาสนับสนุนหน่วยบริการที่เข้าร่วม โดยเฉพาะคลินิกเอกชนในฐานะ ‘หน่วยบริการนวัตกรรม’ ให้ทำงานได้ง่าย สะดวกมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการบันทึกการให้บริการ การติดตาม และการบันทึกข้อมูล
ส่วนนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การดำเนินงานของ ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ (Digital Healthcare Platform) ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนนโยบายฯ ด้วยการใช้งาน ‘วิจัย และนวัตกรรม’ มาพัฒนาให้จับต้องได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
‘นำงานวิจัยให้เข้าถึง ปชช.’ อีกหน้างานสำคัญของ สวทช.
ดร.กิตติ อธิบายว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยพัฒนาที่ทำงานอย่างหลากหลายเพื่อช่วยสนับสนุนประเทศ โดยเรื่อง ‘สุขภาพ’ เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ สวทช. ให้ความสำคัญ ทั้งด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม วัสดุศาสตร์ เป็นต้น และด้วยการทำงานที่มีหลายระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำนั้น ทำให้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา สวทช. จึงได้ตั้ง ‘แพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์’ ให้เป็นขุมพลังหลักงานวิจัย รับใช้สังคม (NSTDA Core Business) ในการทำ ‘งานวิจัย และนวัตกรรม’ ที่ดำเนินการไปในระดับหนึ่ง หรืออยู่ช่วยปลายน้ำมาพัฒนาต่อ และนำออกไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชนและประชาชนมากที่สุด
ดอกผลจากการดำเนินงานในลักษณะนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงที่มีการเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในช่วงนั้น สวทช. โดยกลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพฯ ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการให้บริการการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine นั่นก็คือ ‘AMED Telehealth’ เข้ามาสนับสนุนการทำงาน ให้แพทย์ และผู้ป่วยสามารถพูดคุยกันได้แม้ไม่เจอตัว
จนได้เริ่มทำงานร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ต้องการเครื่องมือเข้ามาช่วยบริหารจัดการทั้งการดูแล การติดตาม และการบันทึกข้อมูลผู้ป่วย และในช่วงเวลาเดียวกัน กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ติดต่อเข้ามาเพื่อขยายบริการดังกล่าวออกไปยังต่างจังหวัด
“ช่วงนั้นการดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) เป็นเรื่องใหม่ ซึ่ง สวทช. ก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้ตอบโจทย์กับหน้างาน สุดท้ายเรามาดู เราปรับแก้ทั้งหมดเกือบ 200 เวอร์ชัน” ดร.กิตติ ระบุ
จากการ ‘บริหารจัดการ’ สู่เครื่องมือบันทึกข้อมูล ‘เพื่อการเบิกจ่าย’
ความเข้มข้นของการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงนั้น กระทั่งประชาชนเริ่มติดเชื้อกันมากขึ้น จนหน่วยบริการไม่อาจรองรับผู้ป่วยได้ทุกราย ทำให้เกิดอีกหนึ่งนโยบายสำคัญ นั่นก็คือ ‘เจอ แจก จบ’ โดยเป็นการรักษาเสมือนผู้ป่วยนอก และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย ในฐานะแพลตฟอร์มที่ดูแลข้อมูล ‘การเบิกจ่าย’
“ตั้งแต่นั้นมาก็ได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อนำข้อมูลที่หน่วยบริการบันทึกลงแพลตฟอร์มมาใช้ในการเบิกจ่าย ฉะนั้นระบบนี้จึงเป็นระบบที่ครบวงจร ตั้งแต่ผู้ให้บริการ ไปจนถึงผู้จ่ายเงิน” ดร.กิตติ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าโรคโควิด-19 จะถูกประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่แพลตฟอร์ม AMED ก็ยังคงดำเนินการอยู่จนเกิดนโยบาย ‘16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาได้ที่ร้านยา’ หรือ ‘Common Illness’ ที่ได้มีการปรับชื่อเป็น ‘A-MED Care Pharma’ แพลตฟอร์มเชื่อมร้านยาดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 16 อาการ เพื่อสนับสนุนร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ พร้อม ๆ กับทำระบบข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายให้มีความรัดกุม และตรวจสอบย้อนหลังได้
ดร.กิตติ มองว่าการทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับ สปสช. ทำให้การตรวจสอบการเบิกจ่าย ซึ่งเป็นหน้างานสำคัญที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะข้อมูลการให้บริการที่ต้องมีความครบถ้วนและแม่นยำ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มได้เตรียมไว้แล้ว โดยข้อมูลนี้ยังถือเป็นส่วนสำคัญมาก ที่ผู้ให้บริการจะสามารถเบิกจ่ายค่าบริการกับ สปสช. ได้
“เราต้องออกแบบให้โปรแกรมสะท้อนความเป็นจริง ทั้งมุมที่เป็นฝั่งผู้ให้บริการ และฝั่งตรวจสอบที่จะต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่ส่งเข้ามามีความน่าเชื่อถือ ฉะนั้นจึงต้องออกแบบให้มีไทม์ไลน์ชัดเจน มีไทม์สแตมป์ เพื่อให้ข้อมูลที่ส่งไปมีความน่าเชื่อถือ กองทุนก็จะสบายใจ” ดร.กิตติ อธิบาย
ที่มาภาพ/ข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.thecoverage.info/news/content/7066