ข่าวสาร

สพฉ.จับมือ ‘ศิริราชวิทยวิจัย-สวทช.’ ร่วมพัฒนา ‘iDEMS’ ยกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน

วันที่ 17 ต.ค. 2567 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์ฉุกเฉิน iDEMS ยกระดับระบบบริการสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วยดิจิทัล โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน

นายสมศักด์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น้ำท่วม และดินโคลนถล่ม สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี ซึ่งเชื่อว่าระบบดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับการบริการสุขภาพด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดการสูญเสียของประชาชนได้  “ความร่วมมือในวันนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะช่วยให้การบริการประชาชน และผู้ป่วยฉุกเฉินครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม เป็นไปตามมาตรฐานสากล ช่วยยกระดับบริการสุขภาพของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป” นายสมศักดิ์ ระบุ

นอกจากนี้ จากการเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่ผ่านมา เรื่องระบบดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ได้มีการกล่าวถึง อย่างไรก็ตาม ระบบที่มีความแตกต่างกันอาจทำให้เกิดปัญหา และอุปสรรคขึ้น แต่เชื่อมั่นในผู้พัฒนา และวิศวกรว่าจะสามารถทำการเชื่อมโยงข้อมูลเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะใช้เวลาเล็กน้อยในการปรับ และแก้ไขเพื่อให้ระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้

“ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยได้รับข้อมูลจากประชาชนประมาณปีละ 10 ล้านครั้ง เมื่อคนได้เข้าใจในระบบ 1669 ก็เลยจะมีการปรับปรุงไปเรื่อยๆ ปีนี้อาจจะยังไม่ครบถ้วน แต่ในปีถัดไประบบการพัฒนาช่วยเหลือชีวิตคนจะก้าวไกลไปข้างหน้ากว่าเดิมได้อีกมาก” นายสมศักดิ์ กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ซึ่งข้อมูลในปีที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนประชาชนติดต่อเข้ามายังสายด่วน 1669 ประมาณ 10 ล้านครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับในเมื่อ 16 ปีที่ผ่านมามีประชาชนติดต่อมายังสายด่วนปีละไม่ถึง 1 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ดี ในเชิงปฏิบัติการในอดีตที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยด้วยเสียง จดบันทึกด้วยลายมือก่อนจะนำเข้าสู่ระบบโปรแกรม บางครั้งก็พบปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถใช้งานระบบได้ แต่ปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนระบบการทำงานอยู่ในระบบคลาวด์ ภายใต้แนวคิดยกระดับให้เป็นดิจิทัล โดยได้รับความร่วมมือจาก สวทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการแพทย์ iDEMS เพื่อยกระดับบริการสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วยระบบดิจิทัลจากระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ (Saver) ได้มีการพัฒนามาแล้วประมาณ 1 ปี ขณะนี้อยู่ในช่วงการทดสอบระบบที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วราว 80 – 90% โดยใช้ระบบข้อมูลขั้นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อมีการทำงานร่วมกับศิริราชวิทยวิจัยก็จะมีการปรับระบบฐานข้อมูลใหม่อีกครั้ง คาดว่าช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ปี 2568 จะได้เห็นระบบ iDEMS ที่เป็นขั้นพื้นฐาน และคาดว่าปลายปีงบประมาณ 2568 จะได้เห็นระบบที่เป็นขั้นมืออาชีพต่อไป

“นี่ไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่เป็นการประกาศให้ชาวโลกได้เห็นว่า สพฉ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินประเทศไทยไม่แพ้ใครในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างการจัดการ เรามีแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทาง มีพยาบาลฉุกเฉิน มีนักฉุกเฉินการแพทย์ มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินประมาณ 7,000 หน่วย ทั้งในส่วนของ สธ. ท้องถิ่น มูลนิธิ สมาคม เรามีรถฉุกเฉินที่วิ่งอยู่บนถนนประมาณ 1.5 หมื่นคันเข้ามาสนับสนุน แต่จุดที่ยังแพ้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว คือเรื่องของข้อมูล จึงมองว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น ประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกคงจะต้องมาดูเรา” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ระบุ

ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด กล่าวว่า สพฉ. มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย และมีผลสำเร็จที่น่าชื่นชม ที่ผ่านมา สพฉ.ได้มีการขยายระบบการแพทย์ฉุกเฉินไปแล้วทั่วประเทศอย่างครอบคลุม ส่งผลให้ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาการรอคอยอย่างชัดเจน รวมถึงมีการยกระดับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุผ่านสมาร์ทโฟนได้

ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร และอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มีการเริ่มโครงการต้นแบบอยู่หลายเรื่องก่อนจะพัฒนาเพื่อให้หน่วยงานภายนอกได้ใช้ประโยชน์ โดยถือเป็นภารกิจสำคัญของสถาบันการศึกษา ซึ่งบริษัท ศิริราชวิทยวิจัยก่อตั้งขึ้นเพื่อการประสานความร่วมมือข้ามเครือข่ายให้การพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่คนไทยร่วมกันมือกันสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ถ้าสำเร็จจะทำให้ภูมิภาคนี้ได้เห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านนี้” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนรู้จัก และมีประสบการณ์การใช้ระบบดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สวทช. ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือ เช่น แพลตฟอร์ม A-MED ที่เข้ามามีส่วนสนับสนุนการทำงานในช่วงดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวต่อไปว่า ส่วนความร่วมมือในครั้งนี้เชื่อว่าการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นระบบ Saver หรือ iDEMS จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน และตรงกับความต้องการมากขึ้น รวมถึงการที่มีศิริราชวิทยวิจัยจะเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนนำไปสู่การใช้งานจริงได้

อนึ่ง ระบบ iDEMS เป็นระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วยระบบดิจิทัล ที่มีระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ ในการให้ทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันทีที่มีการแจ้งเหตุ และช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อประชาชนติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 จะมีผู้ปฏิบัติการภายในศูนย์รับแจ้งเหตุ โดยจะสามารถทราบเบอร์โทรศัพท์ ตำแหน่งผู้แจ้งแหตุ ทำให้ตอบสนองความช่วยเหลือได้ทันทีผ่านการให้คำแนะนำ หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการ Video Call ระหว่างรอรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้

นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดการพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล SAVER: Smart Approach Vital Emergency Responses ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อการวิจัย และเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย

 

ที่มา\ข้อมูลทั้งหมด อ่านที่ https://www.thecoverage.info/news/content/7591

Scroll to Top