27 กันยายน 2567 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” โดยคณะรัฐมนตรีและผู้บริหารเข้าร่วมงาน อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสุขภาพเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
ทั้งนี้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สวทช. และผู้บริหาร สวทช. เข้าร่วมพิธีเปิดงาน “30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” ซึ่ง สวทช. โดยกลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ ได้นำผลงาน “แพลตฟอร์มสุขภาพการแพทย์ AMED Care”
โดยความร่วมมือของพันธมิตรที่สำคัญ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรรม สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI กรุงเทพมหานคร (กทม.) และธนาคารกรุงไทย (มหาชน) มาร่วมจัดแสดงและประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มด้านสุขภาพการแพทย์ที่ให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิแก่ประชาชน รวมถึงการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วม “โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่” ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แพลตฟอร์มกลุ่ม AMED Care ปัจจุบันให้บริการใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มร้านยาดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 32 อาการ (AMED Care Pharma) 2. แพลตฟอร์มระบบบริการคลินิกพยาบาลสำหรับตรวจรักษาโรคเบื้องต้น (AMED Care Nurse Clinic) 3. แพลตฟอร์มระบบบริการคลินิก-เวชกรรมสำหรับโรคทั่วไป (AMED Care for Medicine Clinic) และ 4. แพลตฟอร์มระบบบริการคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น (AMED Care for Thai Traditional Medicine Clinic)
ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม AMED Care ทั้ง 4 แฟลตฟอร์ม มีจำนวนรวมมากกว่า 6.1 ล้านคนผ่านหน่วยมากกว่า 5,200 แห่ง โดยผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มร้านยาดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 32 อาการ มีจำนวนมากกว่า 3.3 ล้านคน รองลงมา คือ แพลตฟอร์มระบบบริการคลินิกพยาบาลสำหรับตรวจรักษาโรคเบื้องต้น มีจำนวนมากกว่า 2.8 ล้านคน ทั้งนี้คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มการใช้บริการของระบบแพลตฟอร์ม AMED Care เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังมีการขยายตัวให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ที่มา\อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.nstda.or.th/home/news_post/amed-care-20240927/?fbclid=IwY2xjawFjZf9leHRuA2FlbQIxMQABHR0JX1JxRw1oP_Keas9UPZxPmvUy-LmRI0vJZC1uYWRh93Y4HnS2PyMGyA_aem_2PvehtuwOdpDNMdaai4PKg