หน้าแรก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก ค.ศ. 2025
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก ค.ศ. 2025
10 ม.ค. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก ค.ศ. 2025  ณ หอประชุมของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นางฤทัย จงสฤษดิ์ กรรมการและเลขานุการโครงการการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก นำนักวิทยาศาสตร์เยาวชนไทย จำนวน 15 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท และร่วมงานประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก ค.ศ. 2025

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ได้กล่าวถึงความเป็นมาว่า มูลนิธิวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation – NRF) แห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้ริเริ่มจัดการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก (Global Young Scientists Summit – GYSS@one-north) เพื่อเป็นการประชุมระดับนานาชาติของนักวิจัยเยาวชน ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีชั้นนำของโลก นอกเหนือจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลแล้วยังมี นักวิทยาศาสตร์รางวัลเหรียญฟิลด์ส (Fields Medal)ด้านคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลทูริ่งอะวอร์ด (Turing Award)ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลมิลลิเนียมเทคโนโลยี (Millennium Technology Prize)ด้านวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประธานาธิบดีสิงคโปร์ (President’s Science & Technology Awards) ได้รับเชิญมาบรรยายและทำกิจกรรมร่วมกับนักวิจัยเยาวชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยเยาวชนดังกล่าว

ในปี 2568 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 13 นั้นมูลนิธิวิจัยแห่งชาติฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก ค.ศ. 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6–10 มกราคม 2568 ณ หอประชุมของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยมีนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก 18 คน ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล นักวิทยาศาสตร์รางวัลเหรียญฟิลด์ส  นักวิทยาศาสตร์รางวัลทูริ่ง นักวิทยาศาสตร์รางวัลมิลลิเนียมเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลด้านวิทยาการคำนวณของสมาคมคอมพิวเตอร์เอซีเอ็ม นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลสต็อคโฮล์มวอเทอร์ และนักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รับเกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในงาน Christmas Lectures ที่จัดโดยราชสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร ในปีนี้นั้นมีนักวิทยาศาสตร์เยาวชนจากประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชวินิจฉัยคัดเลือกจำนวน 15 คน

ปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์เยาวชนจากประเทศไทยเข้าร่วมทั้ง 13 ครั้งรวมทั้งสิ้น 115 คน อยู่ระหว่างการศึกษาต่อ จำนวน 57 คน และมีศิษย์เก่าที่ทำงานแล้ว จำนวน 58 คน กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และภาคเอกชน หลายคนมีผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ เช่น รศ. ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ ศิษย์เก่า รุ่นที่ 1 เป็นผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2563 จากผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาปฏิกิริยาเคมีและการพัฒนาสื่อการสอนวิทยาศาสตร์” ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ และเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ไทยและเพื่อเป็นแบบอย่างให้เยาวชนเจริญรอยตามด้วย นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่า รุ่นที่ ๑ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับประเทศ “ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564” คือ รศ. ดร.นัทธี สุรีย์ ศิษย์เก่า รุ่นที่ 5 คือ ผศ. ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร ได้รับรางวัล Loreal-UNESCO for Women in Science International Awards ประจำปี 2562 ที่มุ่งผลักดันประเด็นโลกด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จากงานวิจัยด้านการค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้รางวัล จำนวน 100,000 ยูโร เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและส่งเสริมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าอีกหลายคนที่มีผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลดีเด่นด้านการวิจัยจากมหาวิทยาลัย เช่น รศ.ดร.พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย ศิษย์เก่ารุ่นที่ 3 และ ผศ. ดร.นายสัตวแพทย์เกริกเกียรติ จินดา ศิษย์เก่ารุ่นที่ 4

โอกาสนี้ ดร.พัชร์ลิตา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวให้กำลังใจนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างเครือข่ายเพื่อนนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ และนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนางานวิจัยและเผยแพร่ความรู้ให้กับเยาวชนและสังคมต่อไป

แชร์หน้านี้: