ถุงเพาะชำย่อยสลายได้ทางชีวภาพ : BIOpro (ผลงานของ สวทช.)

 
จุดเด่นของเทคโนโลยี (Innovation Statement)


ถุงเพาะชำย่อยสลายได้ทางชีวภาพนี้ ใช้แป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลิตผลที่ได้จากภาคการเกษตรของไทยมาใช้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการผลิต โดยทำการปรับปรุงคุณสมบัติของแป้ง สูตรผสม และกระบวนการในขั้นตอนการผสม การผลิตเม็ด และการเป่าถุงที่เหมาะสม โดยออกแบบให้สามารถเติมแป้ง และ/หรือวัสดุธรรมชาติลงในส่วนผสมได้ในปริมาณมาก และไม่เกิดการกระจายตัวของเม็ดแป้ง ทำให้ได้ถุงที่มีเนื้อเนียน เรียบ และแข็งแรง


คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์


- ใช้วัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งสามารถปลูกทดแทนได้ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรได้มากกว่าเดิม 6 เท่า และลดการนำเข้าวัตถุดิบจากปิโตรเคมี

- ลดปริมาณการใช้พลังงานและการเกิดของเสียในกระบวนการผลิต ได้มากกว่า 50 %

- สามารถนำไปใช้ทดแทนหรือแทนที่ถุงเพาะชำที่ผลิตจากพลาสติกปิโตรเคมี จึงลดปริมาณขยะจากการทิ้งถุงเพาะชำได้ 100 %

- ไม่จำเป็นต้องฉีกหรือถอดถุงเพาะชำออกขณะย้ายแปลงปลูก จึงประหยัดเวลา แรงงาน และมีอัตราการรอดตายของต้นกล้าภายหลังการย้าย 100 % เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องดินแตกและรากขาดขณะทำการแยกต้นกล้าออกจากถุง

- สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้เองภายในดินกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน และผ่านการทดสอบด้าน Ecotoxicity test แล้วว่าไม่เป็นพิษต่อพืชและสัตว์

- วัสดุที่นำมาใช้ทำถุงเพาะชำ สามารถปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิตเพื่อการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับการเกษตรอื่นๆ เช่น ฟิล์มคลุมดิน ฟิล์มคลุมโรงเรือน ถาดเพาะเมล็ด และกระถางปลูกต้นไม้ได้ง่าย



การประยุกต์ใช้งาน

การนำถุงเพาะชำย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาใช้ เป็นแนวทางหนึ่งของการจัดการเชิงรุกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ลดค่าใช้จ่ายของการกำจัดขยะและป้องกันปัญหาสิงแวดล้อมต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์นี้ ไม่ต้องฉีกถุงจึงไม่กระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช สามารถนำไปปลูกพร้อมกับต้นกล้าในแปลงปลูกได้ทันที และจะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายในระยะเวลาที่เหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ซึ่งใช้ได้กับทั้งพืชยืนต้นและพืชล้มลุก

กลุ่มลูกค้า/ ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย

เกษตรกร โครงการหลวง กรมป่าไม้

กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย

บริษัทคอมพาวด์ บริษัทผลิตถุง

สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา

ต้องการทำ Trade Secret แทนการจดสิทธิบัตร เนื่องจากไม่ต้องการเปิดเผยสูตรผสมและกระบวนการผลิตซึ่งอาจถูกนำไปลอกเลียนแบบได้ง่าย

สถานะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์

- ขยายระดับการผลิต เป็น pilot scale (200 – 500 kg)

- ผ่านการทดสอบการใช้งาน ระดับ field test ผ่านการทดสอบการย่อยสลายตามมาตรฐาน International Standard

ภาพรวมตลาด

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นทางเลือกใหม่ด้านพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มีความตื่นตัวทั้งด้านนโยบาย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นเพื่อเร่งรัดให้เกิดการนำไปใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปได้อย่างรวดเร็ว คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในโลกในปี พ.ศ. 2554 จะสูงถึง 1.5 ล้านตัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 5 – 10 ของการใช้พลาสติกทั่วไป เมื่อทำการจำแนกพบว่า ส่วนใหญ่เป็นความต้องการพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในกลุ่มที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน (Starch Base) คิดเป็นร้อยละ 66 รองลงมาคือ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในกลุ่ม Polyester Base เช่น PLA, PBS และ PBAT เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 27 โดยถูกนำไปใช้งานในด้านบรรจุภัณฑ์มากที่สุด ถึงร้อยละ 70 ผลิตเป็นเส้นใยและสิ่งทอร้อยละ 16 และใช้ในด้านการเกษตรเพื่อเป็นถุงเพาะชำและฟิล์มคลุมดินร้อยละ 7 ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการเพาะปลูกพืชจำนวนมาก ทำให้ประสบปัญหาปริมาณขยะพลาสติกจากภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใช้ถุงเพาะชำที่ผลิตจากพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหา และจากความพร้อมของประเทศไทยที่มีความสามารถในการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่สูง เป็นผู้นำในด้านราคาและปริมาณการผลิต โดยผลิตมันสำปะหลังได้ปีละ 27 ล้านตัน และสามารถส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประกอบกับมีอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ อุตสาหกรรมการขึ้นรูปพลาสติกที่แข็งแกร่ง และสามารถรองรับอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพระดับต้นน้ำได้อย่างครบวงจร โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมมากกว่า 200,000 ล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยจึงถูกจับตามองว่า น่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้แห่งใหม่ของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้แนวโน้มของราคาพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพลดลง จากภาพรวมที่กล่าวมา ทำให้เล็งเห็นโอกาสและช่องทางที่จะประสบความสำเร็จในตลาดนี้