วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับความสามารถของภาคการผลิตและบริการ ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสร้างฐานระยะยาวที่นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประชุมวิชาการประจำปี (NSTDA Annual Conference: NAC) ขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และผลงานวิจัยพัฒนาที่ สวทช. สนับสนุนและดำเนินการ
14th NSTDA Annual Conference หรือ NAC2018 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม พ.ศ. 2561 ในหัวข้อ ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น (Targeted R&D: Tackling Thailand Challenges) เพื่อเป็นการสื่อสารถึงแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ใน 5 ด้าน ได้แก่
1) อาหารเพื่ออนาคต (Food Innovation) มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการใช้นวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในการผลิต Functional Ingredient เพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพของประเทศ สร้างการเติบโต GDP ของประเทศจากอุตสาหกรรมใหม่
2) ระบบขนส่งสมัยใหม่ (Modern Transportation) มีเป้าหมาย ในการต่อยอดทางด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์เดิม ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนระบบราง และอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับและชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ และเกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งรองรับระบบขนส่งสมัยใหม่
3) การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย (Health and Quality of life) พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุและผู้พิการ เทคโนโลยีจากการใช้ข้อมูลพันธุกรรม เทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด เทคโนโลยีดิจิทัลและไอที ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูโรค อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทย สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการด้านสุขภาพ และสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ
4) เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biochemicals and Biofuels) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพโดยการมุ่งสร้างอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมทั้งชีวเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
5) นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน (Innovation for Sustainable Agriculture) เพื่อใช้นวัตกรรมในการพัฒนาพันธุ์พืชให้มีผลผลิตสูง มีคุณค่าทางโภชนาการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการการผลิตพืชให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ลดต้นทุนการผลิต ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นผู้บริโภคมีความปลอดภัย และมีสุขภาพดี
ภายในงานประกอบด้วย การสัมมนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ในการพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่ประชาชน การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของ สวทช. และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. เพื่อให้เกิดการรับรู้ เป็นที่รู้จักในทุกภาคส่วนที่การทำงานเกี่ยวข้องกับ สวทช. มหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน