เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติสำหรับชิ้นเนื้อ (MiniiScan) รุ่นที่สอง

Introduction:

โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยสำคัญทั้งในประชากรไทยและทั่วโลก จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติปีล่าสุด พบว่า อัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิง มีอุบัติการณ์การเกิด ประมาณ 34 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

 

 

หนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้า ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมด สามารถตัดเฉพาะส่วนที่มีความผิดปกติออก เช่น ชิ้นส่วนมะเร็ง หินปูน หรือชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ เป็นต้น โดยวิธีการนี้ ศัลยแพทย์มีความต้องการเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยยืนยันว่า สามารถผ่าตัดนำส่วนรอยโรคออกครบทั้งหมด เพื่อลดอัตราการผ่าตัดซ้ำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีหรือวิธีการใดที่สามารถยืนยันขอบเขตรอยโรคได้ในระหว่างผ่าตัด

ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สวทช. นำโดย ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี และทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าเครื่องมินีสแกน ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายและแสดงภาพวัตถุแบบสามมิติโดยใช้รังสีเอกซ์ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินขอบเขตว่าได้ผ่าตัดรอยโรคต่างๆ ได้หมดตามแผนการรักษาตั้งแต่อยู่ในห้องผ่าตัด

ในปี พ..2562 คณะผู้วิจัยได้มีการพัฒนาเครื่องมินีสแกนรุ่นที่สอง โดยใช้แหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ลักษณะ micro-focus เพื่อให้สามารถถ่ายภาพสามมิติให้มีความละเอียดสูงขึ้นในระดับไมโครเมตร มีการออกแบบและพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในห้องผ่าตัด และซอฟต์แวร์ที่สามารถถ่ายภาพด้วยความละเอียดสูง ประมวลผลในระยะเวลาสั้น และมีฟังก์ชันลดสัญญาณรบกวนจากโลหะและสัญญาณรบกวนอื่นๆ ทั้งนี้ในเดือน ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยได้ติดตั้งเครื่องมินีสแกนรุ่นที่สองที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริงทางคลินิก

 

 

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี 
นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัย ระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS)
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)

นิทรรศการอื่นๆ :