โครงการ
“การทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง”
National Space Exploration
โดย
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความเป็นมา
การสำรวจอวกาศและการดำเนินการที่เกี่ยวกับอวกาศนั้นนับเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก โดยนับจากอดีตถึงปัจจุบัน การดำเนินการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลายๆ ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาที่ท้าทายต่างๆ และก่อให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมากมายที่นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิตอล อุปกรณ์ไร้สาย เมมโมรีโฟม หรือแม้กระทั่งเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ทางหู นอกจากนี้ การสำรวจอวกาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและก่อให้เกิดความสนใจในการศึกษาด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน นานาชาติต่างให้ความสำคัญต่อการสำรวจอวกาศและการประยุกต์ใช้ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานทางเลือก การเฝ้าระวังภัยจากอวกาศ ทรัพยากรแร่ธาตุจากอวกาศ (Space mining) หรือแม้กระทั่งการเดินทางในอวกาศเพื่อสร้างอาณานิคมเพื่อเป็นหลักประกันการอยู่รอดในอนาคต
ในการสำรวจอวกาศนั้น การศึกษาและทำความเข้าใจถึงสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (microgravity) จัดเป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งต้องการการเรียนรู้และค้นคว้าวิจัยถึงสภาวะแวดล้อมอวกาศรวมทั้งผลที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในอดีต ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการศึกษาด้านนี้มากนัก และยังไม่มีนโยบายด้านการสำรวจอวกาศที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติจึงได้จัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติปี 2560 – 2579 ขึ้น โดยประกอบด้วยยุทธศาสตร์ใน 7 ด้าน คือ
1. การพัฒนากิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง
2. กิจการอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3. การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ
4. การบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ
5. การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ
6. การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
7. การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ
ในการดำเนินการส่วนยุทธศาสตร์ที่ 5 ให้เป็นรูปธรรมนั้น สทอภ. ได้ร่วมกับ สวทช. ดำเนิน “โครงการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือ National Space Exploration : NSE” โดยจะเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีความต้องการทำการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำและในอวกาศ และมีศักยภาพสามารถนำไปขยายผลต่อยอดงานวิจัยเพื่อผลิตเป็นชิ้นงาน เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้ สทอภ. และ สวทช. ยังได้มีการประสานความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มสมาคมนานาชาติ เช่น Asia-Pacific Regional Space Agency Forum (APRSAF) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้วย
เหตุผลและความสำคัญ
ปัจจุบันการสำรวจอวกาศและการทดลองต่างๆ ในอวกาศเป็นสิ่งสำคัญในศึกษาและเรียนรู้ปรากฏการณ์บางอย่างที่ไม่สามารถพบหรือสร้างได้บนพื้นโลก เช่น การปลูกผลึกที่สามารถเติบโตได้ในทุกทิศทางซึ่งนำไปสู่ การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณสมบัติของของไหลที่เปลี่ยนไปเมื่อแรงโน้มถ่วงลดลง ที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางฟิสิกส์และเคมี หรือกระทั่งในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงที่ทำให้ปัจจัยทางชีวภาพบางอย่างของพืชเกิดความแตกต่างไป ซึ่งความรู้ที่ได้จากการศึกษาทดลองนี้สามารถนำไปปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกพืชดังกล่าวบนโลก หรือแม้แต่การศึกษาลักษณะของมนุษย์บนสถานีอวกาศก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการดำรงชีวิตของมนุษย์บนอวกาศ ทั้งนี้ สวทช. ได้ดำเนินโครงการ
Try Zero-G ของ สวทช. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ลักษณะของโครงการคือ มีการเปิดรับแนวคิดของเยาวชนมาสร้างเป็นการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำอย่างง่าย เช่น การโค้งของผิวของเหลวชนิดต่างๆ โดยได้รับการนำไปทดสอบโดยมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่นบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS
เพื่อเป็นการต่อยอดแนวทางการทดลองในอวกาศของประเทศไทย โครงการ NSE ได้ก่อตั้งขึ้นและดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สทอภ. และ สวทช. โดยยกระดับแนวความคิดจากเยาวชนขึ้นมาเป็นระดับนักวิจัย เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีศักยภาพและมีความต้องการทำการทดลองในอวกาศ สามารถนำไปขยายผลต่อยอดงานวิจัยเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมอวกาศใหม่ๆ ในอนาคต และเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติด้านการวิจัยและสำรวจห้วงอวกาศ โครงการ NSE ในระยะยาวจะนำไปสู่ภารกิจ Manned Space Program หรือโปรแกรมนักบินอวกาศ และเป็นก้าวแรกของการสำรวจอวกาศต่อไปในอนาคต
ดังนั้น การจัดการสัมมนาภายใต้ชื่อ “อวกาศ : ขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ ” หรือ “Space : Infinite Assets for All Humankind” จึงเป็นกิจกรรมสำคัญในการประชาสัมพันธ์โครงการทดลองในอวกาศและสภาวะ
ไร้แรงโน้มถ่วง National Space Exploration : NSE ของ สทอภ. และเป็นการแสดงบทบาทสำคัญของ สทอภ. ในการให้การสนับสนุนกับภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศของประเทศ
วัตถุประสงค์
- เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ NSE (phase I) แก่นักวิจัยและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงสาขาวิชา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ปลุกกระแสและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาด้านอวกาศแก่คน
ในประเทศ - เพื่อประกาศและแสดงความจำนงการให้การสนับสนุนการวิจัยและสำรวจห้วงอวกาศลึกโดย สทอภ.
- เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของการวิจัยอวกาศ และให้ข้อมูลแก่นักวิจัย อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือประชาชนผู้สนใจในการสำรวจและการทดลองในอวกาศโดยประเทศชั้นนำด้านอวกาศของโลก
- เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรอวกาศต่างประเทศได้ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการสำรวจอวกาศและการทดลองในอวกาศแก่ประเทศไทย
- เพื่อประชุมหารือนักวิจัยและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของประเทศด้านการสำรวจอวกาศ และการทดลองในอวกาศ เพื่อนำประโยชน์สูงสุดสู่มวลมนุษยชาติ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- การตระหนักถึงความสำคัญ และความสนใจจากนักวิจัยและอาจารย์ต่างๆ ในการพัฒนาประเทศและการศึกษาหาผลประโยชน์จากอวกาศเพื่อประชาชนในประเทศและเพื่อมวลมนุษยชาติ
- การสนับสนุนและความร่วมมือต่างๆ จากองค์กรอวกาศต่างประเทศในการสำรวจและทดลองอวกาศ
- แนวความคิดหรือแนวทางการศึกษาและงานวิจัยในอวกาศจากนักวิจัยและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการสำรวจและการทดลองในอวกาศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- สทอภ. คือ หน่วยงานกลางด้านการวิจัยและสำรวจห้วงอวกาศของประเทศไทย ที่มีหน้าที่ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ (International Cooperation) ในการส่งชิ้นงานหรือนักวิจัยไทยไปอวกาศ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สทอภ. และ สวทช. ขอเชิญท่านที่สนใจร่วมเสนองานวิจัยไปทดลองในอวกาศกับโครงการ National Space Experiment
ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2560
สำหรับงานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกให้นำขึ้นไปทดลองในอวกาศนั้น จะได้เดินทางไปเยี่ยมชมและดูงาน ณ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ประเทศญี่ปุ่น