การเสวนาแนวทางการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพสารสกัดสมุนไพรสู่สากล


วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564 

สรุปโดยย่อ

            ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนแนวคิด BCG ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พืชสมุนไพรเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นแหล่งของสารสำคัญที่นำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับ กฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศและนานาชาติ
            สำหรับ พรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 นั้น ได้ถูกจัดทำขึ้น เพื่อให้เกิดการกำกับดูแล ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนให้ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เคยถูกจัดอยู่ภายใต้ พรบ.ยา และ พรบ.อาหาร แต่มีวัตถุประสงค์หรือคำกล่าวอ้าง ที่ในอดีตไม่สามารถเข้าข่ายใน พรบ. 2 ฉบับ นี้ได้ เช่น ยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมถึงวัตถุดิบที่มาจากสมุนไพร ทั้งนี้ จะมีการออกกฎหมายลำดับรองอื่นๆ ตามมา เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะทำให้เกิดกำกับดูแลตรงตามวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงเรื่องของมาตรฐานการผลิต
            ในขณะที่การจัดทำมาตรฐานสารสกัดสมุนไพร โดย สมอ. นั้นเกิดจากความพยายามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมุนไพรของประเทศ และแผนแม่บทแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้มีคุณภาพในระดับสากล ซึ่งมาตรฐานที่จัดทำขึ้นจะเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบตั้งต้น เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง อาหาร โดยแบ่งเป็น มาตรฐานสารสกัดสมุนไพร และมาตรฐานน้ำมันหอมระเหย นอกจากนี้ สมอ. ยังมีการจัดทำ มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) อนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดสมุนไพร ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สมอ. และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. อีกด้วย
            ในการเสวนานี้ ได้มีการกล่าวถึงอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่เกิดเป็นธุรกิจสารสกัดสมุนไพร ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการรับรองมาตรฐานการได้มาของสารสกัด (วัตถุดิบ) โดยทาง สมอ. มีการกำหนดมาตรฐานสมัครใจเพื่อเป็นแนวทางให้สามารถปฏิบัติตาม และสามารถใช้เป็นข้อมูลหนึ่งในรายละเอียดผลิตภัณฑ์ (Specification) ที่จะใช้ในการขอขึ้นทะเบียน Finished Product/Good กับ อย. ได้ ซึ่งทางด้านตัวแทนของผู้ประกอบการเห็นว่า มาตรฐานสารสกัดสมุนไพรนั้นมีความสำคัญที่จะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เกิดความยั่งยืน โดยมูลค่าของตลาดสมุนไพรและอัตราการเติบโตการของประเทศไทยนั้นค่อนข้างสูง และสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้วิจัยและพัฒนาคือ ควรส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่คำนึงถึงการส่งมอบข้อมูลที่มีรายละเอียดชัดเจนและเพียงพอให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้งานวิจัยสามารถทำได้จริง และมีคุณภาพ เช่น สภาวะการสกัด ส่วนของพืชที่นำมาใช้ในการสกัด เป็นต้น

สามารรับชมย้อนหลังที่

ดาวน์โหลดเอกสารการบรรยาย ที่ https://www.nstda.or.th/nac/2021/2021/02/26/ss36-international-standard-herb/