5 พ.ค. 64 แถลงข่าวออนไลน์: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร
แถลงข่าวออนไลน์เปิดตัว “โครงการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge” ซึ่งได้จัดแข่งขันขึ้นเป็นปีที่ 2 เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในทุกระดับชั้นการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีเข้าร่วมการแข่งขัน มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็ม เพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลรองรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยในอนาคต โดยทีมชนะเลิศจะได้เข้าแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศในเดือนกันยายน 2564
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัด โครงการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษา และเตรียมทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อม สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ ของกระทรวง อว. ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต ซึ่ง สวทช. ได้รับเกียรติจากแจ็กซา ประเทศญี่ปุ่นให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยเปิดรับใบสมัครจนถึงวันที่ 16 พ.ค. 64 จากนั้นจะคัดเลือกทีมชนะเลิศเป็นตัวแทนทีมเยาวชนจากประเทศไทย โดยดูผลคะแนนการรันโค้ดในระบบซิมูเลชันของแจ็กซา เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศ โดยถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านศูนย์ควบคุมอวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือน ก.ย. 64 ต่อไป”
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทีมที่จะสมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีสมาชิก จำนวน 3 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ไม่เกินระดับปริญญาตรี โดยสมาชิกในทีมสามารถอยู่ต่างสถานศึกษา และระดับชั้นเรียนได้ จากนั้นให้ส่งใบสมัครมายังโครงการฯ ภายในวันที่ 16 พ.ค. 64 ซึ่งในการแข่งขันผู้เข้าร่วมจะต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาจากเท็มเพลตที่ทางแจ็กซากำหนด เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบีในระบบ Simulation ซึ่งจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินมีอุกกาบาตพุ่งชนสถานีอวกาศนานาชาติจนได้รับความเสียหาย ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษา JAVA ให้สั่งการให้หุ่นยนต์แอสโตรบีเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ที่กำหนด โดยจะต้องเคลื่อนเข้าไปอ่าน QR Code ตามจุดที่กำหนด และยิงเลเซอร์เข้าเป้าหมายเพื่อซ่อมแซมสถานีอวกาศนานาชาติ โดยคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความแม่นในการยิงเลเซอร์สู่เป้าหมายของหุ่นยนต์แอสโตรบี และเวลาที่ใช้ในการปฎิบัติภารกิจ ขณะนี้ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถเข้าไปทดลองประมวลผลโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาในเซิฟเวอร์ของการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ https://jaxa.krpc.jp สำหรับการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย จะจัดขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย. 64”
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า “สำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) พัฒนาโดย NASA Ames Research Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูง และเทคโนโลยีที่ใช้กับยานอวกาศ ซึ่งหุ่นยนต์แอสโตรบี คือหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือการทำงานของนักบินอวกาศ”
นายโอะโนะ อะสึชิ (MR. ONO ATSUSHI) ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (JAXA Bangkok Office) กล่าวทิ้งท้ายว่า “องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น มีโครงการความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีกับ สวทช. มาอย่างยาวนาน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้โครงการแข่งขันได้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของทีมชนะเลิศตัวแทนประเทศไทย ที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกับเยาวชนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอีกกว่า 10 ประเทศ ได้เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบีของจริง โดยมีนักบินอวกาศนาซาที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และมีการถ่ายทอดสดลงมายังพื้นโลกอีกด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ภารกิจเสริมสร้างกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอวกาศไทย” โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. คุณปราณปริยา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (INSTED) และคุณเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานรัฐกิจ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กาดำเนินการเรื่องอวกาศนั้น จะต้องมีฐานและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน จากนั้นจะต้องมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะเรื่องอวกาศเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงและน้อยคนที่จะสนใจ อีกทั้งในประเทศไทยมีการเรียนการสอนน้อยมากจึงต้องดึงดูดเยาวชนที่เก่งๆด้านวิทยาศาสตร์ที่มากพอมาเป็นแกนนำริเริ่มเรื่องอวกาศ เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ปลูกฝังการเรียนการสอนด้านอวกาศให้มากขึ้น รวมทั้งต้องมีงบประมาณจากภาครัฐให้การสนับสนุนต่อเนื่องในระยะยาวและให้นักเรียนนักศึกษาเยาวชนไทยได้ไปสัมผัสเรียนรู้แลกเปลี่ยนเรื่องอวกาศของจริงในต่างประเทศที่รัฐบาลมีความร่วมมือ เช่น ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเรื่องอวกาศในเรื่องต่างๆตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่เยาวชนไทยมีโอกาสได้ไปเร่วมฝึกทักษะด้านอวกาศกับเยาวชนระดับนานาชาติและการทำงานวิจัยร่วมมือของนักวิจัยไทยในระดับนานาชาติด้านอวกาศ เป็นต้น
การที่จะสร้างกำลังคนให้พร้อมนั้น ประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี หรือมากกว่า เพราะขณะเรามีหน่วยงานเพียง 2 หน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องอวกาศจากทางภาครัฐ คือ สวทช.และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่พร้อมที่จะเปิดเวทีในเรื่องอวกาศให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนในอนาคตนั้นอยากเห็นหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่นๆเข้ามาร่วมมือกันมากขึ้น
ปราณปรียา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า การสร้างความรู้เรื่องอวกาศเป็นเรื่องที่GISTDA ได้ดำเนินการมาโดยตลอดตามแผนการดำเนินงานขององค์กร เพื่อที่จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนด้านอวกาศของไทยให้มีความก้าวหน้า ทั้งด้านกำลังคน สร้างงานอวกาศฝีมือคนไทยจากเยาวชนไทยมากขึ้น เพื่อที่จะสร้างอาชีพด้านอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้ไปยืนในเวทีสากลในอนาคต ซึ่งหลายๆกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนสร้างกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยให้เกิดขึ้น ลดการสั่งซื้อนำเข้าอุปกรณ์ทางอวกาศที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับ โครงการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมนำบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอวกาศจะช่วยบ่มเพาะเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการให้เกิดจินตนาการสร้างองค์ความรู้ ฝึกทักษะ จากการลงมือทำจริง ในห้อง Lab ของ GISTDA ผ่านโลกกว้างจากของจริง
นอกจากนี้ GISTDA ยังมีความร่วมมือในการนำเยาวชนไปท่องโลกอวกาศร่วมกับ NASA ในหลายๆโครงการมาแล้ว และยังเปิดโอกาสให้กับผู้ที่จะเข้าสู่ด้านอาชีพในการเรียนรู้สารสนเทศด้านอวกาศ ในทุกๆระดับปริญญาทั้ง ตรี โทและเอก เพื่อสร้างบุคลากรด้านอวกาศให้มีจำนวนมากขึ้นรองรับอุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต
ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า อวกาศเป็นเรื่องของความชอบ จะต้องมีการปูพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ใส่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้เยาวชนไทยที่สนใจได้เรียนรู้ ต่อยอดในอนาคตที่เราจะปลูกฝังบ่มเพาะตั้งแต่เล็กๆโดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีงบประมาณในการดำเนินการลงทุนอย่างจริงจัง เพราะในอนาคตอุตสาหกรรมอวกาศจะเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ประเทศไทยมีความพร้อมด้านอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าที่นานาชาติยอมรับมาอย่างยาวนาน แต่เรายังขาดกำลังคนที่จะเข้าไปผลักดันไปสานต่อให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นเติบโตขึ้นจนกลายเป็นการสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในรูปแบบของการผลิตชิ้นส่วนอวกาศในอนาคต ดังนั้นการสร้างกำลังคนควรเริ่มสร้างตั้งแต่ตอนนี้ อย่าทำให้เป็นเพียงการดำเนินการเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น
เอกชัย ภัคดุรงค์ หัวหน้าสายงานภาครัฐกิจ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะสร้างคนไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้นั้นเราควรต้องปรับเปลี่ยนใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยี 2.การใช้งานของคน และ 3.นโยบายภาครัฐ ซึ่งหากประเทศไทยมีครบ 3 เรื่องแล้ว การสร้างคนในการก้าวสู่อุตสาหกรรมอวกาศของไทยไม่ใช่เรื่องยากเกินฝัน เพราะในขณะนี้เทคโนโลยีอวกาศมีเพียงไม่กี่องค์กร ไม่กี่หน่วยงานและไม่กี่คนที่พอจะมีองค์ความรู้และมีศักยภาพในการนำมาถ่ายทอดสู่เยาวชนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญเทคโนโลยีอวกาศเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากหากเราไม่เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีของไทยเองตั้งแต่ตอนนี้คงยากที่จะเริ่มสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้ ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำเทคโนโลยีเชื่อมต่อจากต่างประเทศ เชื่อมโยงจากท้องฟ้า จากดาวเทียม สู่ภาคพื้นดิน สู่ห้องเรียนพร้อมถ่ายทอดสู่บุคลากรในประเทศเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ มีเวทีนานาชาติในการแลกเปลี่ยนเรื่องอวกาศ เพื่อต่อยอดเป็นองค์ความรู้ของคนไทยเอง แล้วถ่ายทอดสู่กลุ่มคนที่มีพื้นฐานเรื่องอวกาศอยู่แล้ว เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่กลุ่มคนที่มีความรู้มีความชอบในเรื่องอวกาศด้วยกัน จะช่วยให้การขับเคลื่อนการใช้งานเกิดประสิทธิผลที่ดีขึ้น ซึ่งต้องให้เวลาในการสร้างเทคโนโลยีและสร้างกำลังคนอย่างน้อย 5 ปี
ในส่วนของงบประมาณที่ภาครัฐยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่เชื่อว่าหากภาพอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยชัดเจนขึ้นจากการสนับสนุนภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ในอนาคตภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมสนับสนุนเรื่องงบประมาณอย่างแน่นอน
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลและสมัครเข้าร่วมโครงการแข่งขัน The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand หรือแฟนเพจ NSTDA SPACE Education