กล้องฮับเบิลได้ส่งภาพถ่ายที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นกาแล็กซีรูปทรงกังหันแบบมีแกน คือ NGC 1672 เป็นภาพที่มีความชัดเจนสูง จึงเห็นรายละเอียดของกาแล็กซีแบบมีแกนขนาดใหญ่ มีสมาชิกที่ประกอบด้วย ดาวฤกษ์ กลุ่มเมฆ และแถบมืดของฝุ่นระหว่างดวงดาว
เมื่อเราสังเกตเอกภพด้วยกล้องโทรทรรศน์ประสิทธิภาพสูง แสงเกือบทั้งหมดที่เดินทางมาให้เราเห็นนั้น มาจากดาวฤกษ์หลายล้านดวง ซึ่งอยู่ร่วมกันในกาแล็กซี ดังนั้นกาแล็กซีก็คือ อาณาจักรใหญ่โตมโหฬารที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ ก๊าซและฝุ่นที่มาอยู่ร่วมกัน โดยแต่ละกาแล็กซีจะมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน
ตอนนี้เราจะมารู้จักกับกาแล็กซีที่น่าสนใจกาแล็กซีหนึ่งคือ NGC 1672 ซึ่งปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวโดราโด หรือปลากระโทงแทง (Swordfish) นี่เป็นภาพที่น่าสนใจล่าสุดจากโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของ NASA และ ESA
กาแล็กซีกังหันแบบมีแกนจะแตกต่างจากรูปทรงกังหันทั่วไป คือดาวฤกษ์ในส่วนแขนกาแล็กซีที่ยื่นออกไป ไม่บิดโค้งเข้าหาศูนย์กลางทั้งหมด แต่มีดาวฤกษ์เรียงเป็นแกนเหยียดตรงไปจรดขอบทั้ง 2 ข้าง แขนหลัก 4 แขนที่ยื่นออกไปจากศูนย์กลางกาแล็กซี ทำให้ NGC 1672 ดูมีลักษณะเกือบสมมาตร สังเกตฝุ่นที่เป็นแถบยื่นออกไปจากศูนย์กลาง มันจะอยู่ด้านในของส่วนแขนกังหัน
เห็นดาวฤกษ์ร้อนแรงอายุน้อยสีฟ้า อยู่รวมกันเป็นกระจุกดาวขนาดใหญ่ที่แขนของกังหัน มีฝุ่นบางๆ ส่วนหนึ่งไปบดบังดาวฤกษ์เบื้องหลัง ทำให้เห็นเป็นสีส้มแดง มัวๆ
NGC 1672 อาจถือเป็นน้องสาวกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา กาแล็กซีของเราก็มีดาวฤกษ์มาประกอบเป็นแกนขนาดใหญ่ ข้อมูลนี้ ได้จากภาพในช่วงรังสีอินฟราเรด ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิทเซอร์ของนาซา กาแล็กซีทั้งสองนี้ยังมีแขนกังหันเป็นแถบบางๆ เหมือนกันด้วย
นักดาราศาสตร์เชื่อว่ากาแล็กซีกังหันแบบมีแกนนี้จะมีกระบวนการเฉพาะตัวในการถ่ายเทก๊าซจากขอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง ก๊าซเหล่านี้ น่าจะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงอย่างดีให้แก่หลุมดำมวลมหาศาลที่อยู่ศูนย์กลางกาแล็กซี ยิ่งกว่านั้น แกนที่ปรากฏนี้จะมีช่วงอายุสั้นๆ
ดังนั้น จึงมีคำถามว่า กาแล็กซีที่ไม่มีแกนจะต้องพัฒนากลายเป็นแบบมีแกนในอนาคต หรือว่ามันจะเป็นเช่นเดิมจนสิ้นอายุขัย
เบื้องหลังกาแล็กซีนี้ จะเห็นมีกาแล็กซีที่อยู่ไกลๆ อีกมากมาย แต่ฝุ่นใน NGC 1672 ได้บดบังไว้ จึงเห็นเป็นสีน้ำตาลจางๆ ดาวสว่าง 3 – 4 ดวง ที่อยู่ด้านหน้าในภาพ คือดาวฤกษ์ในกาแล็กซีของเราเอง
นักดาราศาสตร์ยังสงสัยว่า ลักษณะแกนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร บางทีอาจเกิดจากความไม่เสถียรของกาแล็กซี ดาวฤกษ์จึงมารวมกันเป็นแขนกังหันแบบนี้ หรือพัฒนาขึ้นมาหลังจากกาแล็กซีชนกัน การเกิดขึ้นและวิวัฒนาการของแกนในกาแล็กซีนี้ จึงยังคงเป็นปริศนาที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
แปลและเรียบเรียง
อ.สิทธิชัย จันทรศิลปิน
อ.สิทธิชัย จันทรศิลปิน