แต่ละคนอาจประทับใจกับภาพทางดาราศาสตร์ที่สวยงามโดดเด่นของกล้องฮับเบิลด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น เสาหลักแห่งการก่อกำเนิดในเนบิวลานกอินทรี หรือภาพอวกาศห้วงลึก และห้วงลึกมากๆ ได้เห็นกาแล็กซีที่อยู่ไกลแสนไกลอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย
กล้องฮับเบิลช่วยเปลี่ยนความเข้าใจเอกภพให้ถูกต้องหลายเรื่อง และยังมีภาพที่ชัดเจนของดาวเคราะห์และดวงจันทร์ในระบบสุริยะ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนบ้านของเรามากขึ้น
กล้องฮับเบิลสังเกตดวงอาทิตย์และดาวพุธไม่ได้ เพราะอุปกรณ์ที่ไวแสงมากๆ จะเสียหายได้ ส่วนดาวเคราะห์ดวงอื่นสังเกตได้ทั้งหมด รวมถึงดาวเคราะห์แคระ พลูโต (Pluto) ซีเรส (Ceres) และ อีริส (Eris )
ผลงานของกล้องฮับเบิลไม่ได้เป็นเพียงภาพที่สวยงามเท่านั้น แต่มีข้อมูลรายละเอียดของดาวเคราะห์ที่ชัดเจนมาก นำมาสู่ความรู้เกี่ยวกับโลกของเรามากขึ้น
ดาวเคราะห์ชั้นในที่กล้องฮับเบิลศึกษาคือ ดาวศุกร์ โดยกล้องฮับเบิลเป็นเหมือนดาวเทียมสำรวจภูมิอากาศระหว่างดาวเคราะห์ เพื่อศึกษาสภาพอากาศบนดาวศุกร์ จากการสังเกตพบว่า บรรยากาศของดาวศุกร์เต็มไปด้วยกรดกำมะถันเข้มข้น ทำให้เกิดฝนกรด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากภูเขาไฟระเบิดในช่วงปลายทศวรรษ 1970
ดาวอังคาร ดาวเคราะห์ สีแดง กล้องฮับเบิลได้ถ่ายภาพพายุฝุ่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ บนพื้นผิวดาวอังคาร
มียานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารมากมาย ทั้งยานโคจร และยานเคลื่อนที่ไปบนพื้นผิว การสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้จึงมีอยู่ตลอดเวลา
หากเลยดาวเคราะห์พื้นแข็งออกไป คือดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ เริ่มจากดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีภาพแสงเหนือแสงใต้บริเวณขั้วดวง และภาพดาวหางพุ่งชน โดยกล้องฮับเบิลจับภาพได้ตลอดปรากฏการณ์
ดาวเคราะห์ทุกดวงต่างก็ได้รับลมสุริยะ คืออนุภาคประจุไฟฟ้าที่มาจากชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ เมื่ออนุภาคเหล่านี้ปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ จะทำให้เกิดแสงเรืองๆ ขึ้นมา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นที่ขั้วทั้งสองของดาวเคราะห์
กล้องฮับเบิล ช่วยให้นักดาราศาสตร์เห็นปรากฏการณ์ที่ตื่นตานี้บนดาวพฤหัสบดี
กล้องฮับเบิลถ่ายภาพดาวหาง Shoemaker-Levy ชนดาวพฤหัสบดี ในปี ค.ศ. 1994 ได้เห็นการชนกันอย่างละเอียดและชัดเจน ทำให้เรารับรู้ปรากฏการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อโลกเลย
ตามไปดูเพื่อนบ้านดวงต่อไป
กล้องฮับเบิลได้ถ่ายภาพพิเศษสุดของดาวเสาร์ อีกครั้งหนึ่ง จากสายตาอันคมกริบ ทำให้เห็นรายละเอียดชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารบางดวง
ดาวเสาร์มีระบบวงแหวนใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งสงสัยกันว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
กล้องฮับเบิลช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาวงแหวนช่วงที่ดาวเสาร์เอียงหันวงแหวนด้านแบนมายังโลก ดาวเสาร์ก็มีฤดูกาล เพราะมีแกนเอียงไปจากแนวดิ่ง ซึ่งเหมือนกับโลกของเรา
เรารู้ว่าดาวเสาร์มีดวงจันทร์ถึง 60 ดวงแล้ว ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ไททัน เพราะมันมีบรรยากาศคล้ายบนโลกในยุคแรกเริ่มก่อเกิดชีวิตและที่แปลกอีกอย่างคือมันมีภูเขาไฟน้ำแข็ง
ในปี ค.ศ.1995 นักวิทยาศาสตร์ที่แอริโซนา ถ่ายภาพพื้นผิวในบรรยากาศที่หม่นมัวของไททันได้เป็นครั้งแรก
สถานีภาคพื้นดินของกล้องฮับเบิล ได้มอบภาพเหล่านั้นให้ NASA / ESA ในโครงการแคสสินี ที่จะนำยานลูกลำเล็กคือ ฮอยเกนส์ ลงสู่พื้นผิว เพื่อถ่ายภาพระยะใกล้ของดวงจันทร์น้ำแข็งดวงนี้
ดาวเสาร์ไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีวงแหวน ที่จริงดาวเคราะห์ยักษ์ทุกดวงต่างก็มีวงแหวน
กล้องฮับเบิลถ่ายภาพดาวยูเรนัส ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นวงแหวนของดาวยูเรนัสมีมุมเอียงไปมาก
กล้องฮับเบิลถ่ายภาพในช่วงแสงที่ตาเห็นเป็นครั้งแรก เป็นภาพกลุ่มเมฆ และกระแสลมในบรรยากาศซีกเหนือของดาวยูเรนัส และยังมีภาพของดาวเนปจูน เห็นลำกระแสพายุที่ใจกลางดวง มีพายุรุนแรงและจุดสีดำในบรรยากาศซีกเหนือ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกของระบบสุริยะในปี ค.ศ. 2006
ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งคือ พลูโต ถูกลดชั้นจากดาวเคราะห์ไปเป็นดาวเคราะห์แคระ ช่วงที่พลูโตอยู่ใกล้โลกที่สุด มันยังไกลถึง 4,280 ล้านกิโลเมตร
เพื่อให้รู้ว่าไกลแค่ไหน ยาน New Horizon ของ NASA ที่เดินทางไปสำรวจดาวพลูโต กว่าจะไปถึง ต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี
กล้องสำรวจชั้นสูงของฮับเบิล ถ่ายภาพดาวเคราะห์แคระ พลูโต และบริวารชื่อ “คารอน” (Charon) ได้ชัดเจนมาก และในปี ค.ศ. 2006 จากกล้องชุดเดิมของฮับเบิล ได้ช่วยยืนยันการเป็นดาวเคราะห์แคระอีก 2 ดวง คือ ซีเรส และ อีริส
เราได้รู้จักเพื่อนบ้านมากขึ้น แต่ไม่รู้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในระบบสุริยะและโลกของเรา
แปลและเรียบเรียงโดย
อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน