กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของ NASA / ESA ได้ถ่ายภาพกาแล็กซีที่สว่างมากและมีรูปทรงประหลาด
อันที่จริงมันเป็นกาแล็กซีแบบกังหันคู่หนึ่ง เหมือนกาแล็กซีของเรา มันกำลังเข้ามารวมกันด้วยความเร็วสูง
วัตถุนี้เป็นเป้าหมายที่กล้องฮับเบิลเฝ้าสังเกตร่วมกับกล้องอวกาศอื่นๆ เป็นโครงการใหญ่ที่ทำงานร่วมกัน ชื่อ GOALS
ภาพใหม่ของ NGC 2623 ที่ปรากฏในกลุ่มดาวปู (Cancer) ถ่ายโดยกล้องสำรวจชั้นสูงของฮับเบิลหรือ ACS ก่อนจะมีการซ่อมบำรุงครั้งล่าสุด
NGC 2623 คือ สองกาแล็กซีรวมเป็นหนึ่ง ที่เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว วัตถุธาตุดั้งเดิมของกาแล็กซีทั้งสองทำให้เกิดรูปทรงที่แปลกประหลาดนี้
กาแล็กซีชนกันจะมีพลังเปลี่ยนแปลงวัตถุธาตุต่างๆ เพราะสสารและก๊าซที่สาดกระจายออกมาจากแต่ละกาแล็กซี จะเข้ามารวมกัน
มีส่วนยื่นขยายออกมาจากศูนย์กลางของ NGC 2623 คือหางไทดัล 2 ด้านของดาวฤกษ์ที่กำลังเกิดใหม่ แสดงว่ามีการเข้ารวมกันแล้ว มีการถ่ายเทมวลสารและก๊าซระหว่างกัน เพื่อก่อเกิดดาวฤกษ์ เห็นได้จากหางที่ยื่นออกมาทั้ง 2 ด้าน
ที่ด้านล่างของหางเห็นเด่นสะดุดตา เพราะมีกระจุกดาวฤกษ์สว่างอยู่มากมาย
กระจุกดาวเหล่านี้ อาจเกิดจากสสารส่วนที่ยืดขยายเข้าไปรวมกับส่วนของหาง หรืออาจเกิดจากเศษซากของสสารที่ตกกลับเข้าไปสู่ศูนย์กลาง
พื้นที่ก่อเกิดดาวฤกษ์ร้อนแรงดวงใหม่ๆ อยู่ที่แขนของกาแล็กซีทั้งสอง และทั้งหมดจะมีวิวัฒนาการต่อไปอีกยาวนาน
ในส่วนแกนกลางของกาแล็กซีทั้งสองที่มารวมกันนี้ ส่องแสงสว่างมาก เพราะการเข้ารวมกันแบบนี้ จะทำให้นิวเคลียสหรือแกนกลางเกิดปฏิกิริยารุนแรง นั่นคือเกิดหลุมดำมวลมหาศาลตรงศูนย์กลางของกาแล็กซีทั้งสองที่มารวมกัน
สสารต่างๆ จะถูกดึงดูดเคลื่อนเข้าสู่หลุมดำ อัดตัวกันเป็นแผ่นจานแบนๆ
พลังงานจากสสารที่เบียดอัดกันอย่างรุนแรง ทำให้แผ่นจานนี้ร้อนขึ้น จนปล่อยสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงกว้างออกมา
ในบริเวณที่ไม่ไกลจากเรามากนัก จะพบกาแล็กซีสว่างมากๆ เช่น NGC 2623 ได้ยาก พวกนี้มีอัตราการเลื่อนทางแดงสูงมาก หรืออธิบายง่ายๆ ว่า ในตอนเริ่มต้นวิวัฒนาการของเอกภพ กาแล็กซีสว่างแบบนี้มีอยู่มาก เพราะแสงสว่างเกิดจากปฏิกิริยาที่รุนแรง คือ มีดาวฤกษ์เกิดใหม่มากมายที่แกนกลาง
เป้าหมายของโครงการ GOALS คือการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศมาร่วมกันทำงาน เพื่อศึกษาการเข้ารวมกันของกาแล็กซี แม้ว่าจะเป็นกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลมาก และยังได้ศึกษากำเนิดของกาแล็กซีอีกด้วย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศแต่ละกล้องในโครงการ GOALS จะให้ข้อมูลในรูปแบบที่แตกต่างกัน
กล้องฮับเบิลจะให้ภาพที่ตามองเห็น เพื่อการศึกษารูปร่างและโครงสร้างของกาแล็กซี ภาพที่ได้ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ขั้นตอนการรวมกัน เช่น มันเข้ารวมกันจนเกิดหางไทดัลเมื่อไร แกนกลางของแต่ละกาแล็กซีมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวหรือไม่
กล้องจันทรา ตรวจจับรังสีเอกซ์ ช่วยให้นักดาราศาสตร์ตรวจจับปฏิกิริยาการดูดกลืนรอบๆ หลุมดำ และคอยค้นหาดาวฤกษ์เกิดใหม่
กล้องสปิทเซอร์ ให้ข้อมูลช่วงรังสีอินฟราเรด เจาะลึกเข้าไปในเมฆฝุ่น ทำให้นักดาราศาสตร์เห็นสิ่งที่หลบซ่อนอยู่ภายในได้
กล้อง GALEX ไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลต ตรวจจับแสงในแต่ละช่วงชีวิตของดาวฤกษ์ และข้อมูลจากกล้องรังสีเอกซ์หลายกระจกของ ESA หรือ XMM-Newton ช่วยนักดาราศาสตร์ให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NGC 2623
การทำงานร่วมกันของกล้องประสิทธิภาพสูงเหล่านี้ จะช่วยเปิดเผยข้อมูลของกาแล็กซีนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น
วิวัฒนาการของกาแล็กซีเป็นความรู้ที่สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจเอกภพ
เมื่อศึกษาการรวมกันของกาแล็กซี NGC 2623 นักดาราศาสตร์ได้เห็นการเปลี่ยนรูปทรงของกาแล็กซี เห็นลักษณะการรวมกัน และการเกิดดาวฤกษ์ใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญของกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่กำลังกลืนกินกาแล็กซีเล็กๆ อยู่ และในอนาคตจะชนกับเพื่อนบ้าน คือกาแล็กซีแอนโดรเมดา
แปลและเรียบเรียงโดย
อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน