ในขณะที่ NASA มีเป้าหมายที่ชัดเจนกับภารกิจสำรวจดาวอังคาร และการตั้งฐานวิจัยบนดวงจันทร์ ทางด้านกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็กำลังทำงานเกี่ยวกับอวกาศด้วยเช่นกัน แม้จะมีขนาดโครงการที่เล็กกว่ามาก
โครงการด้านอวกาศมีอะไรที่น่าสนใจ และกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังทำอะไรกันอยู่
ช่วงเวลาที่ NASA ค้นหาสัญญาณแห่งชีวิตบนดาวอังคาร ทางประเทศเมียนมาร์กำลังให้ความสำคัญกับการส่งดาวเทียม MMSATS-1 ไปในอวกาศ ซึ่งจะเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของเมียนมาร์ โดยมหาวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศของเมียนมาร์เป็นผู้ผลิตขึ้น ภายใต้ความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด และมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายที่จะดูแลชีวิตประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ดาวเทียม MMSATS-1 ถูกส่งขึ้นไปกับจรวดของ NASA เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และถูกเก็บอยู่ที่ Kibo Module ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น บนสถานีอวกาศนานาชาติ และพร้อมที่จะปล่อยเข้าสู่วงโคจรของโลก แต่เกิดเหตุรัฐประหารขึ้นในเมียนมาร์ ส่งผลให้ทางญี่ปุ่นต้องระงับการปล่อยดาวเทียมไปก่อน เพราะเกรงว่าดาวเทียมจะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการทหาร
ประเทศเมียนมาร์ได้เริ่มดำเนินการแผนงานกิจการอวกาศเป็นครั้งแรกในปี 2560 เมื่อจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบดาวเทียมของตนเอง โดยในเดือนสิงหาคม 2562 ได้ปล่อยดาวเทียม Myanmar-sat2 เพื่อปรับปรุงการบริการกระจายเสียงวิทยุและกิจการโทรทัศน์ในเมียนมาร์
เมียนมาร์ตั้งเป้าที่จะให้ประชากร 95% เข้าถึงบริการออนไลน์ได้ภายในปี 2565 ซึ่งการมีดาวเทียมใหม่นี้หมายความว่าทางรัฐบาลเมียนมาร์จะไม่ต้องจ่ายเงินมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากจีน ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนามอีกต่อไป
ดาวเทียมสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?
แม้ดาวเทียมขนาดเล็ก (microsatellites) จะมีขนาดและน้ำหนักที่ไม่มากนัก แต่ดาวเทียมเหล่านี้ก็มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพขั้นสูง สามารถส่งภาพถ่ายที่มีรายละเอียดของพื้นที่อันกว้างใหญ่กลับมาได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผู้ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้
ยกตัวอย่างเช่น ดาวเทียมของฟิลิปปินส์ที่ทางญี่ปุ่นช่วยปล่อยสู่อวกาศเมื่อปี 2559 มีอุปกรณ์การตรวจหาโรคในกล้วย สามารถแสดงภาพผลผลิตให้เกษตรกรเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ทางการเกษตรที่อาจเข้าถึงได้ยาก ช่วยให้เสียเวลาเดินทางไปตรวจสอบพืชผลน้อยลง
ข้อมูลจากดาวเทียมสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่คนทั่วไปไม่เห็น ช่วยป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบตัดไม้ หรือการขุดหน้าดิน ก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น
การตรวจจับสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ทางภาครัฐสามารถตัดสินใจเคลื่อนย้ายประชาชนและปศุสัตว์ให้พ้นจากพื้นที่อันตราย ช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้
อาเซียนมีขีดจำกัดด้านอวกาศ หากปราศจากความร่วมมือ
การริเริ่มจัดตั้งโครงการอวกาศของเมียนมาร์นั้น ขาดแคลนทั้งทรัพยากร เทคโนโลยีในการออกแบบและการปล่อยดาวเทียมเอง ซึ่งนั่นหมายความว่าเมียนมาร์ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้ เมียนมาร์จึงได้เข้าร่วมกับกลุ่มเครือข่ายของประเทศในเอเชีย ที่รวมถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กและเฝ้าติดตาม ซึ่งมาเลเซียและไทยจะเข้าร่วมกลุ่มด้วยในที่สุด
นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมดาวเทียมขนาดเล็กแห่งเอเชีย (Asian micro-satellite consortium) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีและข้อมูลการเฝ้าสังเกตของดาวเทียม
ด้วยวิธีนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยโครงการอวกาศที่ไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน เพราะยิ่งมีดาวเทียมส่งภาพถ่ายในพื้นที่ภูมิภาคอาเซียนกลับมามากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสมาชิกทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลดาวเทียมได้
อาเซียนจะมีส่วนร่วมในการแข่งขันด้านอวกาศของเอเชียหรือไม่?
อินโดนีเซียมีโครงการอวกาศที่ก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ส่งดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (geosynchronous) ขึ้นสู่อวกาศ ในปี 2519
ขณะที่เวียดนาม พลโทฝั่ม ตวน (Pham Tuan) ชาวเวียดนาม กลายเป็นนักบินอวกาศชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรกที่ได้ขึ้นไปสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2523 ซึ่งใช้เวลาปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลา 7 วัน 20 ชั่วโมง 42 นาที
โดย พลโทฝั่ม ตวน ได้เดินทางไปพร้อมกับ พลตรีวิคเตอร์ วาซิลีเยวิช การ์บัตโค (Vikto Vaxilievich Gorbatko) ในภารกิจ “Soyuz 37” โครงการอินเตอร์คอสโมส์ (Intercosmos program) ของรัสเซีย ซึ่งทั้งสองคนได้ทำการทดลองทางการแพทย์และทางชีววิทยาหลายอย่าง และทดลองปลูกผลึกเซมิคอนดักเตอร์บริสุทธิ์ในสภาวะไร้น้ำหนักอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ได้ประเทศผู้สร้างประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศในเอเชีย เช่นเดียวกับ NASA โดยทั้งสามประเทศได้เปิดตัวภารกิจเดินทางไปยังดาวอังคารและดวงจันทร์ โดยมีการวางแผนระยะยาวซึ่งอาจจะนำไปสู่การที่ทวีปเอเชียจะเป็นผู้ชนะในยุคการแข่งขันด้านอวกาศครั้งต่อไป
บทบาทของอาเซียนในการสำรวจอวกาศขั้นสูงอาจจะยังมีข้อจำกัดอยู่ ถึงแม้ว่าวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะมีนักบินอวกาศจากภูมิภาคอาเซียนกลับสู่อวกาศ หรือแม้แต่เดินทางเหยียบดาวเคราะห์ดวงอื่น แต่ก็คงจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศของประเทศผู้นำอื่นๆ
สำหรับตอนนี้ “การแข่งขันด้านอวกาศ” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเป้าหมายที่เล็กกว่า แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อย นั่นก็คือ การสร้างความมั่นใจในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงผลกระทบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นบนโลกนี้
เรียบเรียงจาก