สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS (International Space Station) หลายคนคงรู้จักกันดีว่าเป็นการสร้างสิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์ ซึ่งโคจรอยู่รอบโลกที่ระดับความสูง 400 กิโลเมตร แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยความร่วมมือกันจากหลายๆ ชาติบนโลกของเรา
นาซาได้เคยวางแผนการณ์ไว้ว่า ปี ค.ศ. 2024 จะยุติการใช้งานสถานีอวกาศแห่งนี้ ในด้านการทดลองและการทำวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ออกมาประกาศว่าจะขยายเวลาการใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติ ออกไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 และจะเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นสถานที่สำหรับการท่องเที่ยวอวกาศแทน
ก้าวสำคัญของการสำรวจอวกาศก้าวต่อไปของนาซาก็คือ การสร้างสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ (Lunar Gateway) เพื่อใช้เป็นฐานและจุดแวะของนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปดาวดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต โดยการก่อสร้างสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์จะเป็นความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สภาพยุโรป และรัสเซีย ซึ่งการก่อสร้างทำโดยการนำโมดูลต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกันคล้ายสถานีอวกาศนานาชาติ แต่มีขนาดเล็กกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในปี ค.ศ. 2022 จรวด Space Launch System (SLS) ของนาซาจะปล่อยออกจากแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) รัฐฟลอริดา สำหรับเที่ยวบินแรก จรวด SLS ขนาดยักษ์ซึ่งมีความสูง 111.25 เมตร กำหนดเปิดตัวหลังเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะส่งแคปซูลไร้คนขับไปปฏิบัติภารกิจทดสอบโคจรรอบด้านไกลของดวงจันทร์และกลับมาสู่โลก ที่รู้จักกันในชื่อภารกิจ Artemis 1 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาสู่ดวงจันทร์ของมนุษยชาติอย่างแท้จริง
ส่วนภารกิจ Artemis 2 ซึ่งขณะนี้กำหนดไว้ที่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 โดยจะทำซ้ำกับภารกิจ Artemis 1 แต่คราวนี้จะมีนักบินอวกาศเดินทางไปด้วย ซึ่งการเดินทางรอบดวงจันทร์ของนักบินอวกาศชุดนี้ จะไปได้ไกลกว่านักบินอวกาศที่เดินทางไปดวงจันทร์เมื่อกว่า 50 ปีก่อน
จากนั้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็จะมาถึงกับภารกิจ Artemis 3 ซึ่งจะพานักบินอวกาศรุ่นต่อไปลงจอดบนดวงจันทร์
ในระหว่างนี้จะมีภารกิจสนับสนุนต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อทำให้แน่ใจว่านักบินอวกาศมีทุกสิ่งที่จำเป็นในการทำภารกิจให้สำเร็จเมื่อไปถึงวงโคจรของดวงจันทร์
โดยสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในระยะยาวของโครงการ Artemis นั่นก็คือ “สถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ (Lunar Gateway)”
สำหรับ Lunar Gateway เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกากับ 10 ประเทศในยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น จะเป็นสถานีอวกาศแบบหลายโมดูลในวงโคจรรอบดวงจันทร์ โดยจะทำหน้าที่เป็นจุดพัก สำหรับการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ใช้สังเกตการณ์ดวงจันทร์จากระยะไกล และจัดเตรียมห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หินของดวงจันทร์และดำเนินการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆ
Lunar Gateway ประกอบด้วยโมดูลต่าง ๆ ต่อไปนี้
– โมดูลพลังงานและแรงขับดัน (Power and Propulsion Element) ทำหน้าที่สร้างแรงขับดันให้กับสถานีอวกาศ นาซาจะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้
– โมดูล (ESPRIT) ทำหน้าที่จัดเก็บเชื้อเพลิง ผลิตพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับสถานอวกาศรวมไปถึงระบบการติดต่อสื่อสาร องค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA จะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้
– โมดูลใช้อยู่อาศัยขนาดเล็ก (Utilization Module) ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศแต่มีขนาดเล็กกว่าโมดูลที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลัก
– โมดูลที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลัก (Habitation Module) แยกออกเป็น 2 โมดูล คือ โมดูลนานาชาติ (International Habitation Module) องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA และ ESA จะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้ ส่วนอีกโมดูลนั้น คือ (U.S. Habitation Module) นาซาจะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้
– โมดูลเชื่อมต่อ (Multi-Purpose Module) ทำหน้าที่เป็นจุดเทียบท่ายานอวกาศ องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซียหรือ ROSCOSMOS จะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้
– โมดูลขนส่งทรัพยากร (Logistics Resupply) ทำหน้าที่ขนส่งทรัพยากรสำหรับยังชีพให้นักบินอวกาศและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่ถูกส่งไปจากโลกและเข้าเชื่อมต่อกับโมดูลนานาชาติ (International Habitation Module) นาซ่าและ JAXA จะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้
– แขนหุ่นยนต์ (Robotics) ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายยานอวกาศที่เข้าเทียบท่าสถานีอวกาศหรือก่อสร้างตัวสถานีอวกาศ องค์การอวกาศแคนาดาหรือ CSA ASC จะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้
– ยานขนส่งอวกาศ (Orion Crew Module) ยานที่จะมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์และส่งมนุษย์เดินทางลงไปสำรวจดวงจันทร์
– ยานบริการ (Orion Service Module) ทำหน้าที่เป็นส่วนขับเคลื่อนและให้พลังงานกับยาน Orion ขณะเดินทางไปกลับระหว่างสถานีอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์และโลก ESA จะเป็นผู้รับผิดชอบโมดูลนี้
สถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ อาจจะดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้มันกำลังจะกลายเป็นจริงขึ้นมาแล้ว!
และล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 26 ม.ค. 65 องค์การอวกาศอิสราเอล (ISA) เปิดเผยว่าอิสราเอลได้ลงนามข้อตกลงอาร์ทิมิส (Artemis Accords) และเข้าร่วมโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ เพื่อส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 2025 และมุ่งสู่ดาวอังคารในอนาคตอันใกล้ต่อไป
สำหรับประเทศไทยของเรา ต้องคอยจับตาดูว่าจะมีการเข้าร่วมโครงการอาร์ทิมิสได้อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่จะเสนองานวิจัยด้านอวกาศในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นไปได้
เรียบเรียงโดย
ปริทัศน์ เทียนทอง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
อ้างอิงข้อมูล