หนึ่งในภารกิจที่น่าจับตาของประเทศอินโดนีเซีย ก่อนครบรอบ 100 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพ (วันที่ประกาศเอกราช 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488) นั่นก็คือ “การสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport เป็นของตนเอง
หากพูดในเรื่องของการแข่งขันด้านอวกาศที่มีทั่วโลก อินโดนีเซียเองก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ก่อตั้งสถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซีย (National Institute of Aeronautics and Space) หรือมีชื่อเรียกว่า LAPAN ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียม รวมไปถึงเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศ
ศ. ดร. Thomas Djamaluddin นักวิทยาศาสตร์ด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ LAPAN ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 65 ว่า “โครงการอวกาศเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณมาก ความเสี่ยงสูงและมีต้นทุนสูง เพราะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งอินโดนีเซียในฐานะประเทศกำลังพัฒนาย่อมมีข้อจำกัดอย่างแน่นอน”
ด้วยปัญหาสำคัญคือข้อจำกัดด้านงบประมาณและเทคโนโลยี ดังนั้นอินโดนีเซียจึงเริ่มโครงการอวกาศเป็นระยะๆ
อินโดนีเซียจึงเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ด้วยหอดูดาว Boscha จากนั้นการใช้เทคโนโลยีอวกาศก็ยังคงจำกัดอยู่เพียงแค่การสังเกตการณ์โลก โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากนานาชาติระหว่างช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980
ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 อินโดนีเซียเริ่มสร้างดาวเทียมของตนเองโดยส่งวิศวกรหลายสิบคนจาก LAPAN ไปศึกษาสร้างดาวเทียมที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งดาวเทียมที่ผลิตขึ้นเองครั้งแรกยังคงมีขนาดเล็ก โดยมีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม จากนั้นอินโดนีเซียก็สามารถสร้างดาวเทียมดวงใหม่ได้อีกดวงในปี พ.ศ. 2555 และปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ. 2558 โดยดวงที่สองมีน้ำหนักที่ประมาณ 70 กิโลกรัม
มาถึงในปี พ.ศ. 2559 ดาวเทียมดวงที่สามมีน้ำหนักประมาณ 115 กิโลกรัม และตอนนี้อินโดนีเซียกำลังเตรียมสร้างดาวเทียมดวงที่ 4 อีกดวง ซึ่งอาจจะมีน้ำหนักระหว่าง 120 หรือ 150 กิโลกรัม และแน่นอนว่าเป็นการสร้างดาวเทียมด้วยความสามารถของวิศวกรอินโดนีเซียอีกครั้ง
“เราหวังว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีการปล่อยจรวดด้วยการสร้าง Spaceport ในพื้นที่ประเทศอินโดนีเซีย และสามารถปล่อยยานสำรวจอวกาศได้จากอินโดนีเซีย” ศ. ดร. Thomas กล่าวอย่างมีความหวัง
“เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับภารกิจของอินโดนีเซียในแผนแม่บทสำหรับอวกาศ โดยแผนนี้มีภารกิจสำคัญ ก่อนครบรอบ 100 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพ ซึ่งก็คือก่อนปี พ.ศ. 2588 เราจะสามารถสร้างดาวเทียมของเราเองได้ และสิ่งนี้ก็สำเร็จไปแล้ว”
“ถัดมาคือการผลิตจรวด ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแล้ว โดยเป้าหมายอยู่ที่ระดับความสูง 200-300 กิโลเมตร และสุดท้ายคือการที่เราจะมีท่าอวกาศยานหรือ Spaceport เป็นของตัวเอง ด้วยตำแหน่งของอินโดนีเซียที่เส้นศูนย์สูตร จึงเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะปล่อยดาวเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ศ. ดร. Thomas กล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงโดย
ปริทัศน์ เทียนทอง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ข้อมูลข่าว
http://www.thecekodok.com/2022/01/indonesias-mission-before-100-years-of.html